สองทางเลือก สกัดงูเห่ากินกล้วย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ 10 รัฐมนตรี ผ่านไปตามคาด ส.ส.ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดี นำเสนอข้อมูล หลักฐาน ลำดับประเด็นได้ชัดเจน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ สมควรได้คะแนนมากกว่าฝ่ายรัฐบาลที่หักล้างได้ไม่หมดจด ความเคลือบแคลงสงสัยหลายๆ เรื่องยังคุกรุ่นอยู่ในใจของผู้คนจำนวนมาก

แต่การเมืองก็คือการเมือง เรื่องผลประโยชน์ ใครมีมือมากกว่า มีอำนาจเหนือกว่าชนะ ผลการลงมติรัฐบาลจึงผ่านฉลุย ไม่มีรัฐมนตรีรายใดได้เสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งคือ 240 เสียง

มารยาททางการเมืองยังคงชนะความจริง ความถูกต้อง อีกตามเคย เช่นเดียวกับเมื่อคราวผ่านด่านการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566

มาครั้งนี้ รายการแตกแถว งูเห่ากินกล้วย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ปรากฏอีกเช่นเดิม มีทั้งงดออกเสียงไว้วางใจรัฐมนตรีที่ตอบคลุมเครือ โหวตสวนมติพรรคโดยที่พรรคต้นสังกัดทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้งูเห่าเลื้อยเพ่นพ่านต่อไปจนกว่าจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่

Advertisement

ที่ ส.ส.กล้าลงคะแนนสวนมติพรรคภายใต้ข้ออ้างสำนึกแห่งความถูกต้อง ด้วยวิญญาณอิสระของตัว ก็เนื่องมาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนเปิดช่องให้ความคุ้มครองไว้

มาตรา 101(9) กำหนดให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติพรรค ด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ที่สังกัดพรรค และ ส.ส.ผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ

วรรคท้ายที่ว่า “และ ส.ส.ผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ” นี่แหละครับ ทำให้ ส.ส.กล้าตัดสินใจ
ตรงข้ามกับพรรค หากถูกขับพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค สมาชิกภาพ ส.ส.ก็ยังไม่ขาด ถ้าหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เช่นกันทำให้พรรคการเมืองไม่ลงมติขับ ส.ส.งูเห่าทันทีทันใด ต้องยอมปล่อยให้เป็นหนามยอกอกอยู่ในพรรคต่อไป เวลาประชุมก็ย้ายไปนั่งในที่ของพรรคใหม่ล่วงหน้า พรรคเก่าก็เจ็บกระดองใจเพราะลงโทษหนักไม่ได้ นอกจากตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมงาน ไม่อนุญาตให้เอาชื่อพรรคไปทำกิจกรรมใดๆ

กลุ่มกบฏงูเห่าก็ไม่แคร์ เพราะมีข้อตกลงล่วงหน้าเป็นหลักประกัน เลือกตั้งครั้งหน้าเปลี่ยนเสื้อใส่ชื่อพรรคใหม่แน่นอน

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ มติพรรคก็ไม่มีความหมาย ไร้น้ำยา

ฉะนั้น เมื่อการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคไม่สามารถขจัดหรือลดปัญหางูเห่ากินกล้วยได้จริง ถึงเวลาที่สังคมควรกลับมาทบทวนหลักการ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคอีกครั้งดีหรือไม่ แต่ก็ยังมีความน่ากังวลอีกด้านหนึ่งดำรงอยู่คือ การไม่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ยิ่งเปิดโอกาสให้มีงูเห่า เพ่นพ่านทั่วไปหมด จะทำอย่างไร

ทางออกก็คือ ต้องแยกแนวทางการควบคุม กำกับ ส.ส.ระหว่างสังกัดพรรค กับไม่สังกัดพรรค แตกต่างกัน สังกัดพรรคให้พรรคควบคุม มีวิธีการลงโทษที่ได้ผลจริง ส่วนสมัครอิสระ สภาควบคุมกันเอง กับให้สังคม ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควบคุมลงโทษ

เมื่อเลือกสังกัดพรรคต้องทำตามมติพรรคภายใต้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง หากฝ่าฝืนโทษรุนแรงถึงขับออกจากสมาชิกและขาดสมาชิกภาพ ส.ส. จะได้ไม่ทำตัวเป็นงูเห่าทำลายระบบพรรค

หากเห็นว่าอยู่ภายใต้พรรคไร้เสรีภาพ ไม่ต่างไปจากทาส ถูกชี้เป็นชี้ตายอย่างไรต้องยอม ก็เลือกสมัครอิสระ มีเสรีภาพในการตัดสินใจของตัวเอง ใครทรยศต่อประชาชน เรียกรับประโยชน์ ผู้คนรู้ สื่อรุมประณาม จะถูกลงโทษในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป

จริงอยู่การมีบทบัญญัติมาตรา 101(9) คุ้มครองการตัดสินใจของ ส.ส. ด้านหนึ่งเป็นผลดี ถ้าถูกพรรคขับออกแต่สมาชิกภาพ ส.ส.ไม่ขาดลงทันที

แต่ด้านตรงกันข้ามกลับเปิดโอกาสให้ ส.ส.ใช้เป็นช่องทางต่อรอง เรียกรับผลประโยชน์จากรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ไม่ว่าจะชี้แจงได้ชัดเจน หรือไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ก็ตาม

เมื่อบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แต่กลับเขียนข้อความคุ้มครองจนเป็นช่องว่างทำให้มติพรรคหมดความหมาย ปัญหา ส.ส.ขายตัว งูเห่ากินกล้วย จึงไม่มีทางหมดไป

ถ้าเช่นนั้นควรยกเลิกมาตรานี้และเลิกหลักการบังคับ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เปลี่ยนเป็นสังกัดก็ได้ ไม่สังกัดก็ได้ สมัครเป็นกลุ่มก็ได้ ดีกว่าหรือไม่

การไม่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคไม่ได้หมายว่าทุกคนจะเลือกที่จะไม่สังกัดกันหมด และไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง หากสังกัดแล้วมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากกว่า เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากพรรค ผู้สมัคร ส.ส.ย่อมเลือกทางนั้น

ขณะเดียวกัน การเปิดโอกาสให้สมัครอิสระได้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ส่งเสริมพรรคให้เข้มแข็ง เพราะระบบพรรคมีบทลงโทษกบฏงูเห่าได้ผลยังมีอยู่

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้สมัคร ส.ส.จะเลือกแนวทางใด ที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและตัวเองมากที่สุด

ส่วนข้อกังวลที่ว่า สมัครอิสระยิ่งเปิดช่องให้กินกล้วย เรียกรับผลประโยชน์เป็นรายครั้ง รายฉบับของกฎหมายที่ต้องลงมติ ประเด็นนี้ต้องกล่าวโทษทั้งสองด้าน ทั้งฝ่ายคนจ่ายและคนรับ ประชาชนคนกลางจะเป็นคนตัดสิน

ครับ เรื่องนี้เคยมีการอภิปรายกันมาแล้วในที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นพ้องกันว่าผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองเพื่อความเป็นอิสระในการทำงานในสภา แต่สามารถสมัครเป็นกลุ่มได้

แนวทางใดทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ สะอาด บริสุทธิ์ มากขึ้น ควรนำหลักการสังกัดพรรคก็ได้ สมัครอิสระก็ได้ มาทบทวนอย่างจริงจังอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image