ครูดอย คอยเก้อ

ครูดอย คอยเก้อ

ครูดอย คอยเก้อ

หลังการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 10,11 และ 24 มกราคมที่ผ่านมา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติวาระ 2 ได้แค่มาตรา 14 จากทั้งหมด 110 มาตรา คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังไม่มีคำสั่งประชุมนัดต่อไปเมื่อไหร่

ขณะที่รัฐสภาจะปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นับจากวันนี้ไปเหลือเวลาอีกแค่ 20 วัน อีกทั้งวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมพิจารณาญัตติของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ

จากนั้นอีกไม่กี่วัน ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 สภาผู้แทนฯจะครบวาระ 4 ปี

Advertisement

ลำดับปฏิทินการเมืองดังที่ว่ามานี้เลยฟันธงว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปิดฉากลงแล้ว เชื่อว่าถึงจะเปิดประชุมต่อไปก็ไม่มีทางเข็นออกมาใช้บังคับได้อย่างแน่นอน

ครับ สภาจบ แต่ผมยังไม่จบ เพราะเสียดายสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องมีอันเป็นไป

นอกจากส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวมแล้ว กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและขวัญกำลังใจของครูจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้เสียสละใช้ชีวิตเพื่ออนาคตศิษย์ยากจน ขาดโอกาสในพื้นที่ขาดแคลนทุรกันดาร บนยอดเขาภูดอยและเกาะแก่งห่างไกล

Advertisement

ครูและเด็กจำนวนไม่น้อยต้องมารับกรรมจากกระบวนการบัญญัตติกฎหมายที่อืดอาด ล่าช้า ใช้เวลายาวนานเกินควร แถมถูกซ้ำเติมด้วยความขัดแย้ง แก่งแย่งแข่งขันทางการเมืองระหว่างนักการเมืองและพรรคการเมืองซึ่งต้องการช่วงชิงคะแนนเสียงจากครู

บทบัญญัตติที่ดีไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาการปฏิบัติงาน สร้างความก้าวหน้าและมั่นคงในชีวิตแก่ครูเหล่านี้ ต้องค้างเติ่งอยู่ต่อไป

ตัวอย่าง มาตรา 14 การจัดการศึกษาของสถานศึกษาของรัฐ ต้องอยู่บนพื้นฐานดังต่อไปนี้

(6) สถานศึกษาต้องมีทรัพยากรการเรียนรู้อันได้แก่ อุปกรณ์ที่จำเป็น ครูและกำลังคนที่เพียงพอ ในกรณีจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถใช้ทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกันได้

(7) ต้องจัดให้มีระบบการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมสำหรับครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่เสียงภัย หรือการปฏิบัติงานที่ยากลำบาก สำหรับครูหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุน บรรดาที่มีภาระเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้กำลังคนร่วมกันและการจัดการศึกษาตาม (8) หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้เรียนเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากการจัดกระบวนการเรียนรู้

เมื่อร่างกฎหมายถูกแช่แข็งยุติการพิจารณาลง จึงปิดโอกาส ช่องทางที่ครูจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมจากระบบที่เป็นอยู่มายาวนาน ภายใต้แนวคิดตัดเสื้อโหล (One Size Fits All) มาตรฐานเดียวใช้เหมือนกันหมดทุกคน ทุกแห่ง ทั่วประเทศ

ครูเหล่านี้ เสียสละ ทุ่มเท เสี่ยงชีวิต อดทนทำงานด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู นอกจากให้การศึกษาวิชาความรู้ อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นแล้ว ครูให้วิชาชีพ วิชาชีวิต เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กต้นทุนต่ำกว่าคนพื้นราบในเมืองมากมายหลายพันเท่า

พวกเขาและเธอต้องยอมรับกฎระเบียบ รับผลตอบแทนเช่นเดียวกับครูในโรงเรียนทุกแห่ง

การที่จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมก็ต่อเมื่อ พวกเธอและผู้บริหารโรงเรียนช่วยกันดิ้นรนแสวงหาความช่วยเหลือจากแหล่งสนับสนุนภายนอกทั้งองค์กรและบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่างๆ ซึ่งไม่มีความแน่นอนสม่ำเสมอ

เมื่อช่องทางที่จะพอเห็นแสงสว่างอยู่บ้างถูกปิดลง ครูก็ต้องอดทนรอคอยต่อไป เมื่อไหร่ ไม่รู้ วันไหนความหวังจะกลายเป็นจริง

คนไหนที่ทนสภาพแร้นแค้นไหว อยู่ได้ก็ทนต่อไป เพราะหัวใจของครูอยู่ที่ใบหน้าและแววตาของเด็ก

คนไหนที่รับสภาพไม่ไหวก็โบกมือลา ขอย้ายกลับภูมิลำเนา หาโรงเรียนใหม่ที่สะดวกสบาย มีความปลอดภัยและเสี่ยงน้อยกว่า หรือถึงที่สุดอำลาชีวิตราชการ ยอมดับความฝันที่มีลงด้วยน้ำตา คนแล้วคนเล่า

ครับ ท่านผู้ทรงเกียรติในรัฐสภาต่างรับรู้ความเป็นจริง ชีวิตอันสุดแสนรันทดเช่นนี้ของครูดอยเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ยอมให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาเป็นอันขาด อ้างว่าขาดความสมบูรณ์ กระทบต่อสิทธิประโยชน์ สิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างความเหลื่อมล้ำแบ่งแยกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ครูเมือง เสียงดัง เสียงดี มีคะแนนเสียงมากกว่าครูป่า ครูบนเขา บนดอย ว่างั้นเถอะ

ข้อดีอื่นๆ ในร่างกฎหมายก็พลอยมีอันเป็นไป ทำให้ “การศึกษาแบบมีส่วนร่วม” ไม่เป็นจริงอยู่เช่นเดิม

จากบทบัญญัติมาตรา 18 ประชาชน ซึ่งมีภูมิลำเนาหรือประกอบอาชีพหรือธุรกิจในจังหวัดใดอาจรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลเพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ เสนอแนะ อุดหนุน หรือให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดนั้นหรือจังหวัดใกล้เคียงได้

คณะบุคคลอาจจัดตั้งเป็นสมัชชา สภา กลุ่ม หรือ
หมุู่คณะที่เรียกอย่างอื่นได้

บทบัญญัติข้อนี้เท่ากับมีกฎหมายรองรับ สนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาสังคมเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างเข้มแข็ง จริงจัง เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น

ดีกว่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ตามมีตามเกิด ตามกำลังศรัทธา อย่างที่ผ่านมา เลยทำให้การศึกษาเป็นเรื่องของครู ของโรงเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียวตลอดมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image