ระบบชื่อโดเมนของอินเตอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของมัลแวร์อันตราย ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายที่แฝงมาในรูปแบบของแอปพลิเคชัน ดีอีเอสและสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้มีการตรวจสอบมาโดยตลอด พบว่าปัญหาสำคัญคือ ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว จึงเปิดโอกาสให้ผู้ร้ายใช้มัลแวร์ที่แฝงอยู่เข้ามาขโมยข้อมูลหรือควบคุมเครื่องโทรศัพท์ได้

ในปี 2565 มีแอปพลิเคชันอันตรายมากกว่า 200 รายการ ทั้งในระบบ iOS และ Android ซึ่งดูชื่อเหล่านี้ได้ที่เฟซบุ๊กของ ดีอีเอส จึงขอให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทำการตรวจสอบ หากพบแอปพลิเคชันดังกล่าวให้ถอนการติดตั้งโดยทันที และควรอัพเดทระบบของเครื่องโทรศัพท์ของตนให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการส่ง SMS โดยใช้ชื่อเดียวกับผู้ส่งที่เป็นหน่วยงาน เช่น เป็นธนาคาร, หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่น ทำให้ผู้รับ SMS เข้าใจผิดและหลงเชื่อว่ามาจากหน่วยงานที่ถูกใช้ชื่อ อันที่จริง หน่วยงานส่วนใหญ่ได้ออกประกาศว่าจะไม่มีการส่งลิงก์ผ่าน SMS ให้แก่ผู้ใช้บริการ ประชาชนจึงอย่าหลงเชื่อและคลิกลิงก์ที่มากับ SMS โดยให้สังเกตรูปแบบ เนื้อหาที่อาจเป็นสิ่งที่ดีเกินจริงหรือทำให้หวาดกลัว เช่น “คุณได้รับอนุมัติวงเงินกู้ …. บาท คลิกลิงก์…” หรือ “โปรดยืนยันรหัสผ่าน มิฉะนั้นบัญชีของท่านจะถูกระงับการใช้งาน ติดต่อไลน์ไอดี…” ดังนั้น ไม่ควรคลิกลิงก์ที่มากับ SMS เป็นอันขาด ยกเว้นว่าได้ตรวจสอบข้อมูลโดยตรงกับหน่วยงานที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ส่ง SMS ดังกล่าว

เรื่องการแอดไลน์ก็เช่นเดียวกัน บางทีมีคนส่งไลน์ที่เป็นไลน์ปลอมมาให้เราแอด เห็นชื่อ เห็นรูปอาจจะเป็นคนที่เรารู้จัก หรือเป็นบริษัท/หน่วยงานที่เรารู้จัก ขอให้ระวังเช่นเดียวกัน โดยตรวจสอบก่อนว่าคน/บริษัทที่ขอให้เราแอดไลน์นั้น เป็นคน/หน่วยงานที่เรารู้จักจริงหรือเปล่า “อย่าไปแอดไลน์ อย่าไปคุยกับคนที่เราไม่รู้จัก คิดไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพที่ใช้ไลน์ปลอม หรือ SMS ปลอม อย่าไปยุ่ง อย่าไปกดลิงก์ อย่าไปให้ข้อมูลเป็นอันขาด” ชัยวุฒิ กล่าว

Advertisement

ดีอีเอสมีข้อแนะนำว่า หากจะติดต่อกับหน่วยงานใด ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ควรติดต่อผ่านแอปพลิเคชันที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นแอปพลิเคชันจริง หรือไปที่เว็บไซต์ของเขา ซึ่งเว็บไซต์ก็ต้องเป็นเว็บจริง วิธีการสังเกต คือ เป็นเว็บที่ลงท้ายด้วย .TH หรือ .ไทย (TH ก็คือไทย) เว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย .TH หรือ .ไทย เป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งได้มีการตรวจสอบยืนยันอย่างถูกต้องและเชื่อถือได้ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและไม่ถูกหลอกให้สูญเงินด้วย

บทความนี้ประสงค์จะให้ผู้อ่านที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ ได้รับรู้ในเบื้องต้นว่า คอมพิวเตอร์เขาคุยกันอย่างไร กรณีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ เราต้องรู้หมายเลขโทรศัพท์ปลายทาง และผู้อยู่ปลายทางก็มักรู้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ที่ติดต่อเข้ามา เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับสาย คราวนี้ลองนึกถึงการติดต่อทางไปรษณีย์ธรรมดา เราต้องรู้ที่อยู่ปลายทางเพื่อที่จะเขียนที่อยู่ลงบนซอง และควรเขียนที่อยู่ของผู้ส่งไว้ที่มุมซองด้วย

กรณีการติดต่อทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (ต่อไปจะเรียกว่า อีเมล ซึ่งเป็นทับศัพท์ที่ใช้ติดแล้ว) เราเป็นผู้กำหนด (เลือก) ชื่อพร้อมทั้งตำบลที่อยู่ โดยชื่อต้องไม่ซ้ำกับใครในตำบลที่อยู่แห่งหนึ่ง ๆ เช่น ชื่อ gothom จะต้องไม่ซ้ำกับใครในตำบลที่อยู่ ku.ac.th หรือ mahidol.edu เป็นต้น (สังเกตว่าเราใช้ตัวอักษรในการเขียนตำบลที่อยู่) เวลาเราใช้โทรศัพท์ หมายเลขโทรศัพท์อยู่ประจำกับเครื่อง เรามักจำหมายเลขโทรศัพท์ของเราและจำ (แต่ส่วนใหญ่จะจด) หมายเลขโทรศัพท์ของเพื่อนไว้ ชื่อและตำบลที่อยู่อีเมลของเราและของเพื่อนก็ต้องจำ/จดไว้เช่นกัน แต่ชื่อและตำบลที่อยู่อีเมลไม่ประจำกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดโดยเฉพาะ ขอเพียงแต่เครื่องนั้นเชื่อมต่อกับระบบสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตได้ก็พอ จึงมีคำถามต่อไปว่า แล้วเครื่องติดต่อกันได้อย่างไร

Advertisement

แม้ว่าเราจะกำหนดตำบลที่อยู่เป็นตัวอักษรที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายกว่าตัวเลข แต่เครื่องนั้นใช้ตัวเลขเป็นสำคัญ จึงขอเสนอให้เรียนรู้ศัพท์บางคำเพื่อประโยชน์ในการอธิบายการสื่อสารระหว่างเครื่อง คำศัพท์แรกคือ protocol ซึ่งมีการบัญญัติศัพท์ว่า “เกณฑ์วิธี” เมื่อนำคำนี้มาใช้กับอินเตอร์เน็ต จะได้คำรวมว่า Internet Protocol หรือ IP เราใช้ IP สำหรับแปลงตัวอักษรเป็นตัวเลข เพื่อความสะดวกของเครื่องคอมพิวเตอร์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ตำบลอยู่ที่เป็นตัวอักษรจะถูกแปลงมาเป็น “ที่อยู่ IP” เช่น [email protected] (ชื่อสมมุติ) มีที่อยู่ IP คือ [email protected] และที่อยู่ของเว็บเพจ http:// www.isoc.ac.th (ชื่อสมมุติ) มีที่อยู่ IP คือ http://192.0.34.65 เป็นต้น

อินเตอร์เน็ตถือกำเนิดในปี พ.ศ. 2512 ที่สหรัฐอเมริกา และเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว มีการตั้ง “ศูนย์สารสนเทศเครือข่าย …” (Network Information Center …) ในระยะแรกก็มี ศูนย์สารสนเทศเครือข่ายสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute’s Network Information Center หรือ SRI-NIC) ที่ทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลกลาง เครือข่ายใดต้องการใช้ฐานข้อมูลจะต้องถ่ายโอนแฟ้มเพื่อนำรายชื่อและตำบลที่อยู่จากฐานข้อมูลกลางไปใช้งาน เมื่อ กาญจนา กาญจนสุต เริ่มบุกเบิกนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ในประเทศไทย ได้มีการก่อตั้ง “ศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย” (THNIC) ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ (THNICF)

ฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ไม่สามารถตอบสนองต่ออัตราการเพิ่มของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารได้อย่างทันท่วงที ไฟล์ข้อมูลระหว่างศูนย์ก็มีขนาดใหญ่มากขึ้น ๆ ในที่สุด องค์กรความร่วมมือด้านการจัดสรรชื่อและหมายเลขทางอินเตอร์เน็ต (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers หรือ ICANN) ที่รับผิดชอบและประสานงานการบำรุงรักษาฐานข้อมูล ได้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ฐานข้อมูลไม่รวมศูนย์ มีเกณฑ์วิธีสำหรับเชื่อมต่อฐานข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลโดยอัตโนมัติ รูปแบบการตั้งชื่อมีการจัดโครงสร้างแบบลำดับชั้น (hierarchical) และมีการป้องกันการตั้งชื่อซ้ำซ้อน ระบบดังกล่าวนี้มีชื่อว่า ระบบชื่อโดเมน (Domain Name System หรือ DNS) ซึ่งแบ่งชื่อตำบลที่อยู่ตั้งแต่ระดับราก (หรือจุดเริ่มต้น) ลงมาตามลำดับชั้น

องค์ประกอบของชื่อโดเมน

ในการพิมพ์ชื่อโดเมนโดยทั่วไปจะเป็นดังตัวอย่างต่อไปนี้

ชื่อโดเมนแต่ละชื่อจะประกอบด้วยชุดตัวอักษร ตั้งแต่สองตัวขึ้นไปที่คั่นด้วยจุด (dot)

• ส่วนขวาสุด เรียกว่า โดเมนระดับบนสุด (Top-Level Domain) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะปรากฏในทุก ๆ ชื่อโดเมน โดเมนในระดับนี้ยังแบ่งย่อยออกไปเป็นอีกสามประเภทตามลักษณะการบริหารจัดการ และดูแลทรัพยากรโดเมนของ ICANN ได้แก่ โดเมนระดับบนสุดหมวดทั่วไป (Generic Top-Level Domain: gTLD), โดเมนระดับบนสุดหมวดรหัสประเทศ (Country-Code Top-Level Domain: ccTLD), และโดเมนหมวดอาร์พา

• ส่วนถัดจากขวาสุดเข้ามา เรียกว่า โดเมนลำดับที่ 2 (Second-Level Domain) โดยทั่วไปมีการเลือกใช้ทั้งในแบบเป็นชื่อเฉพาะเจาะจงของเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลที่อ้างถึงนั้น ๆ เลย และในแบบที่ใช้ระบุลักษณะของชื่อโดเมนนั้นไว้ชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะระบุชื่อที่เจาะจงมากขึ้นในโดเมนลำดับถัด ๆ ไป

• ส่วนถัดจากขวาสุดเข้ามาอีกลำดับหนึ่ง เรียกว่า โดเมนลำดับที่ 3 (Third-Level Domain) ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเป็นส่วนสุดท้ายและใช้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงถึงเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลนั้น ๆ

• ส่วนถัดจากขวาสุดลำดับถัด ๆ ไป (ถ้ามี) เรียกว่าโดเมนลำดับที่ 4, ลำดับที่ 5 ฯลฯ ซึ่งเป็นการแบ่งส่วนของชื่อโดเมนที่แยกย่อยลงไป

• จำนวนโดเมนย่อยหรือระดับชั้นในโดเมนหนึ่ง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้ดูแลระบบจะกำหนด แต่ละเครือข่ายอาจไม่เหมือนกัน ชื่อโดเมนไปทางซ้ายจะบ่งบอกชื่อที่เจาะจงมากขึ้น  ส่วนชื่อโดเมนไปทางขวาจะบ่งบอกชื่อโดเมนที่ใหญ่กว่า ตัวอย่าง (สมมุติ) ของชื่อโดเมนมี อาทิ  www.ee.eng.chula.ac.th หมายถึง www ของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, www.tu-muenchen.de หมายถึง www ของมหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมัน, hp.com หมายถึง hp ของบริษัทฮิวเล็ต-แพคการ์ต เป็นต้น

ต่อไปจะกล่าวถึงโดเมนระดับบนสุด ที่ตกลงกันในระหว่างสมาชิกของ ICANN

ชั้นหรือโดเมนระดับบนสุด (Top-Level Domains หรือ TLD)

คุณเลือกชื่อโดเมนที่เหมาะกับคุณ เพื่อภาพลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมและชัดเจน ที่ผ่านมา เราใช้และยังนิยมใช้ข้อความเป็นภาษาอังกฤษและใช้ชื่อโดเมนที่จัดแบ่งออกเป็นสามประเภทใหญ่ คือ

• โดเมนทั่วไป (generic domain) เป็นชื่อโดเมนที่จัดตามกลุ่มองค์กร

• โดเมนรหัสประเทศ (country code domain)  ชื่อโดเมนจากรหัสประเทศ

• โดเมนอาร์พา ชื่อโดเมนสำหรับใช้แปลง “ที่อยู่ IP” ไปหาชื่อเครื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคที่จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

โดเมนทั่วไปเป็นโดเมนขององค์กร ซึ่งในระยะแรกเริ่มมี 7 หมวดได้แก่ .com (องค์กรธุรกิจการค้า), .edu (สถาบันการศึกษา), .int (องค์กรระหว่างประเทศ), .gov (หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐ), .int (องค์กรระหว่างประเทศ), .mil (หน่วยงานทางทหารของสหรัฐ), .net (หน่วยงานเครือข่าย) และ .org (องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และอื่น ๆ) ต่อมาได้ขยายเพิ่มอีก 7 หมวดได้แก่ .aero, .biz, .coop, .info, .museum, .name และ .pro

โดเมนรหัสประเทศ ชื่อโดเมนในกลุ่มนี้จะใช้รหัสประเทศที่ประกอบด้วยอักขระสองตัวตามมาตรฐาน ISO 3166-1 เช่น .jp, .br, .au, หรือ .ca เป็นต้น ชื่อโดเมนประเภทนี้จึงเรียกว่า ชื่อโดเมนระดับบนสุดตามรหัสประเทศ (Country Code Top Level Domains หรือ ccTLDs)  ในปัจจุบันมี ccTLDs รวมทั้งสิ้น 244 ชื่อ ในจำนวนนี้มีเพียงสหราชอาณาจักรที่มิได้ใช้ชื่อย่อตามมาตรฐาน ISO 3166-1 กล่าวคือในมาตรฐาน ISO 3166-1 ใช้ gb แต่ชื่อโดเมนที่ใช้คือ .uk

ต่อไปจะขอกล่าวถึงชื่อโดเมนภาษาถิ่น ซึ่งหมายถึงภาษาไทยในกรณีของเรานั่นเอง

มูลนิธิ THNIC หรือ THNICF มีบริการให้จดทะเบียนชื่อโดเมนเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี 2554 ในระดับบนสุดใช้รหัส .ไทย หรือ .th ได้ เว็บไซต์หรืออีเมลที่ใช้ชื่อโดเมนเป็นภาษาไทยมีข้อดีดังนี้ 1) สามารถสื่อความหมายได้ชัดเจน ไม่ต้องแปลชื่อไทยเป็นชื่อภาษาอังกฤษ 2) ใช้บ่งบอกความเป็นตัวตน ขององค์กร ชุมชน บุคคล ได้ 3) ช่วยลดข้อจำกัดด้านภาษา ช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ต 4) ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งเสริมสินค้าไทย สามารถตั้งชื่อโดเมนที่บอกได้ว่าทำธุรกิจอะไร ทำให้ลูกค้าจดจำชื่อโดเมน และค้นหาชื่อโดเมนนั้นได้ง่ายขึ้น

นโยบายการจดทะเบียนชื่อโดเมนของ THNICF กำหนดให้นายทะเบียน (ได้แก่ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย) ต้องตรวจสอบสิทธิและระบุตัวตนของผู้จดได้ หากใครทำธุรกรรมกับผู้ที่ใช้ชื่อโดเมนที่ลงท้ายด้วย .ไทย หรือ .th จะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า ผู้ที่ทำธุรกรรมด้วยมีตัวตนในประเทศไทย สามารถติดต่อได้ ต่างกับการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อลงท้ายเป็นโดเมนทั่วไป (gTLD) เช่น .com, .net, .org เป็นต้น ซึ่งนายทะเบียนอยู่ที่ต่างประเทศ และตรวจสอบยากว่าคนที่จดทะเบียนชื่อโดเมนนั้นใช้ชื่อจริงหรือมีสิทธิใช้ชื่อนั้นหรือไม่ หรือใช้หมายเลขโทรศัพท์จริงหรือไม่ ทำให้มีกรณีการจดชื่อโดเมนเพื่อหลอกลวงได้ง่ายกว่าจดทะเบียนที่ .ไทย และ .th

ตัวอย่างการจดทะเบียนชื่อโดเมนทำเว็บไซต์ภาษาไทยตัวอย่างหนึ่งคือ กาแฟเมืองปาน.ไทย  ที่ผ่านมา เจ้าของกิจการเคยมีประสบการณ์ทำเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ พอมาเจอที่เป็นภาษาไทย รู้สึกว่าง่ายขึ้นที่จะเพิ่มเติมหรือทำอะไรในเว็บไซต์ นอกจากนั้น ยังถือโอกาสใช้เว็บไซต์ในการประชาสัมพันธ์ เรื่องการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และเรื่องผลผลิตทางการเกษตรของผู้ประกอบการรายเล็กในอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ได้ด้วย

จากการสำรวจข้อมูลว่า ทำไมคนไทยนิยมใช้แอปพลิเคชันไลน์ พบว่าไลน์ไม่จำเป็นต้องใช้อีเมลในการสมัคร เราสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือได้ คนที่นิยมใช้ไลน์โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด จึงไม่ค่อยใช้เฟซบุ๊ก เพราะพอสมัครแล้วต้องใช้อีเมล จึงมองว่า เฟซบุ๊กน่าจะยอมรับการใช้อีเมลที่ชื่อโดเมนเป็นภาษาถิ่น รวมทั้งภาษาไทย ปัจจุบันในขั้นทดลอง เราสามารถทดลองเข้าไปใช้อีเมลภาษาไทยได้ที่เว็บ คน.ไทย โดยใส่ชื่อผู้ขอเปิดบัญชีอีเมลไว้ข้างหน้า

คุณสามารถเลือกชื่อโดเมนที่เหมาะกับคุณ เพื่อภาพลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมและชัดเจน รูปแบบชื่อโดเมนมีอาทิ

1. < english >.th (ใช้ชื่อโดเมนรองเป็นภาษาอังกฤษ โดเมนระดับบนสุดเป็น .th)

2. < ภาษาไทย >.ไทย (ใช้ชื่อโดเมนรองเป็นภาษาไทย โดเมนระดับบนสุดเป็น .ไทย)

3. ภาษาไทย >.th (ใช้ชื่อโดเมนรองเป็นภาษาไทย โดเมนระดับบนสุดเป็น .th)

4. < ภาษาไทย >.ธุรกิจ.ไทย (ใช้ชื่อโดเมนรองที่ 2 และที่ 3 เป็นภาษาไทย ส่วนโดเมนระดับบนสุดเป็น .ไทย) โดยมีทางเลือกสำหรัยชื่อโดเมนรองที่ 2 เป็นชื่ออื่น ๆ อีกได้ เช่น < ภาษาไทย >.ศึกษา.ไทย หรือ < ภาษาไทย >.องค์กร.ไทย หรือ < ภาษาไทย >.เน็ต.ไทย

การส่งเสริมการใช้ชื่อโดเมน .th และ .ไทย จะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ความสนใจที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐไม่ช่วยส่งเสริมการใช้ ชื่อโดเมน .th และ .ไทย คนในชุมชนหรือผู้นำชุมชน ก็อาจไม่เห็นความสำคัญ

“ชื่อโดเมนภาษาไทย” เป็นสิ่งที่ควรธำรงไว้เพราะเป็นภาษาของเรา เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงเว็บไซต์และบริการแก่กลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ และยังลดปัญหาที่อาจเกิดจากการแอบอ้างและลดความสับสนของผู้บริโภคได้อีกด้วย

สรุปได้ว่า เราควรใช้ชื่อโดเมนระดับบนสุดเป็น .th”หรือ .ไทย เพราะปลอดภัยกว่า สามารถติดต่อนายทะเบียนในประเทศไทยได้สะดวกกว่า สามารถระบุตัวตนของเจ้าของเว็บและอีเมลได้ดีกว่า

เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงเว็บไซต์และบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ และยังลดปัญหาที่หมายเหตุ: ขอขอบคุณมูลนิธิ THNIC ที่ให้ข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image