พระพุทธเจ้าสอนปริพาชก (1)

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดชุมพลนิกายาราม อำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เขาคิชฌกูฏ มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะประจำอยู่เบื้องหลังพระวิหาร

พระพุทธเจ้าสอนปริพาชก (1)

ในสมัยพุทธกาล บุคคลจำนวนมากมายได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์โดยตรง หลายท่านมีโอกาสถามข้อสงสัย หลายท่านได้บวชเป็นเอหิภิกขุ หลายท่านได้บวชผ่านทูตและหลายท่านได้ศึกษาต่อจากพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพุทธสาวกท่านอื่นๆ

ผู้ที่ติดอยู่ในความคิดและความประพฤติที่ยิ่งสุดโต่งก็ยิ่งเข้าถึงคำสอนได้ยาก ถ้าสนใจพุทธธรรมก็ต้องปรับความเชื่อและการปฏิบัติตนเป็นอย่างมาก

ปริพาชก นิครนถ์ อาชีวกและอเจลกเป็นนักบวชที่สนใจการหลุดพ้นตามความเข้าใจของหมู่พวกของตนและอยู่นอกพระพุทธศาสนา มักเรียกรวมๆ ว่าอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกนุ่งห่มสุภาพ ไว้มวยผมและปกติห่มขาวจึงเรียกว่าฉันนปริพาชก ส่วนนิครนถ์ อาชีวกและอเจลกเป็นปริพาชกที่หันเหไปในทางที่ไม่นุ่งห่มจนถึงขั้นเปลือยกาย

Advertisement

อัญญเดียรถีย์ไม่นับถือพระเวทและแสวงหาแนวทางนอกพระเวท แต่กลับสุดโต่งในด้านการปฏิบัติและการใช้ชีวิตแบบนักบวช ก่อนเข้าศึกษาในสำนักของพระพุทธเจ้าจึงต้องอยู่ปริวาส 4 เดือนจนเป็นที่พอใจของพระภิกษุเสียก่อน ส่วนฤาษีและชฎิล ซึ่งไม่ใช่อัญญเดียรถีย์ไม่ต้องอยู่ปริวาส

ปริพาชกเป็นนักบวชผู้ท่องเที่ยวไปเพื่อวาทะและความรู้ ศึกษาไตรเพทมาก่อนแต่สนใจวาทศาสตร์และกลายเป็นนักโต้ลัทธิ มีอารามอยู่กันเป็นหมู่ใหญ่ซึ่งมักมีครูอาจารย์อยู่ร่วมด้วย อารามจึงมักมีเสียงดัง อึกทึกหรือไม่สงบเงียบ

การถกเถียงมักว่ากันไปตั้งแต่เรื่องทางโลกที่ใกล้ตัวไกลตัวจนถึงเรื่องทางธรรม ได้แก่ พระราชา โจร กองทัพ อำมาตย์ ภัยพิบัติ การรบ ข้าว น้ำ ผ้าผ่อน ที่นอน ดอกไม้ เครื่องหอม ยานพาหนะ ญาติ บ้านเรือน นิคม นคร ชนบท สตรี บุรุษ ตรอก ท่าน้ำ โลก ทะเล ความเกิด ความตาย ความเจริญ ความเสื่อม วิญญาณ สัญญา นิโรธ ฯลฯ

Advertisement

ครูของปริพาชก (ทั้งที่ยังคงนุ่งผ้าอย่างปริพาชกและที่หันไปทางนิครนถ์ อาชีวกและอเจลกแล้ว) มีเจ้าลัทธิทั้งสามซึ่งได้แก่ นันทะ วัจฉะ และสังกิจจะ

จุดอ่อนของปริพาชกในสมัยพุทธกาลคือการแสวงหาความรู้ที่ครอบงำด้วยความกลัวเกรงว่าจักต้องแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยที่ตนเชื่อจริงๆ วาทะโวหารทั้งหลายแสดงความเป็นผู้รู้และความเป็นผู้เข้าใจในวงสนทนา ความจริงจึงห่างออกไปทั้งๆ ที่ต้องการแสวงหาสิ่งนั้น

ปริพาชกยังไม่รู้จักศีลและปัญญา อยู่ในฝ่ายที่ต้องการรู้ถึงความหลุดพ้นแต่ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่แน่ชัด ปริพาชกสนใจลักษณะและความหมายต่างๆ ของผู้ที่มีความรู้และความสำเร็จทางการปฏิบัติแต่มักติดอยู่กับวิวาทะและคงมิได้ตั้งใจปฏิบัติทางกายและจิตอย่างจริงจังในแนวทางหนึ่งใด ความลังเลสงสัยจึงมีมาก

แคว้นมคธเป็นแหล่งสำคัญของพวกปริพาชกเพราะเป็นแหล่งศูนย์กลางความรู้ในสมัยนั้น มีครูผู้ได้รับความนิยมอย่างยิ่งที่กรุงราชคฤห์ เจ้าสำนักทั้งหก ได้แก่ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล ปกุทธกัจจายนะ อชิตเกสกัมพล สัญชัยปริพาชก และนิครนถ์นาฏบุตร ส่วนแคว้นโกศลก็มีกลุ่มปริพาชกที่สำคัญ

ในบรรดาเจ้าลัทธิทั้งหกมีสัญชัยปริพาชกเป็นเจ้าสำนักสายปริพาชก ที่เหลือปฏิบัติแบบอาชีวกและนิครนถ์ซึ่งไปทางอเจลก ยกเว้นอชิตเกสกัมพล ซึ่งไปทางกามสุขและนุ่งห่มด้วยเส้นผม

สัญชัยปริพาชกเคยมีศิษย์สำคัญคืออุปติสสะและโกลิตะซึ่งอยู่ในวรรณะพราหมณ์และศึกษาไตรเพทมาก่อน ทั้งอุปติสสะและโกลิตะครั้งนั้นเป็นนักบวชปริพาชกที่แสวงหาอมตธรรมและได้ไปศึกษากับสัญชัยปริพาชกแต่มิได้เลื่อมใส ต่อมาไม่นานอุปติสสะได้พบพระอัสสชิและได้ฟังหัวใจของพระพุทธศาสนา ท่านเห็นความลึกซึ้งเกี่ยวกับการเกิดขึ้นและดับไปของสรรพสิ่งและเหตุปัจจัยซึ่งไม่มีใครสอนมาก่อนจึงชวนโกลิตะเข้าบวชและถวายงานในสำนักพระพุทธเจ้า

อุปติสสะคือพระสารีบุตร โกลิตะคือพระโมคคัลลานะ ทั้งสองท่านบรรลุอรหัตตผลและเป็นอัครสาวกแห่งพุทธกาล

ใกล้ภูเขาคิชฌกูฏนอกกรุงราชคฤห์มีปริพาชกที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ได้แก่ อันนภารปริพาชก วธรปริพาชก และสุกุลทายิปริพาชก เป็นต้น ปริพาชกเหล่านี้ประจำอยู่ที่ปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสิปปินี พระพุทธองค์ครั้งประทับที่ภูเขาคิชฌกูฏทรงเคยเสด็จไปโปรดปริพาชกผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเหล่านี้

ปริพาชกท่านอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สภิยปริพาชก ทีฆนขปริพาชก โปฏฐปาทปริพาชก ปิลินทวัจฉปริพาชก วังคีสปริพาชก ติมพรุกขปริพาชก และสุภัททปริพาชก

ในการโปรดเหล่าปริพาชกที่ปริพาชการามพระพุทธองค์ทรงชี้แนะถึงข้อธรรม 4 ประการที่ทำให้ไม่ประมาท ได้แก่ การไม่มีราคะแรงกล้าในกาม (อนภิชญา) การไม่พยาบาท (อพยาบาท) การมีสติไม่หลงลืมและมีสัมปชัญญะ (สัมมาสติ) และการมีจิตตั้งมั่น (สัมมาสมาธิ) สมณพราหมณ์ไม่ควรคัดค้านติเตียนธรรมทั้งสี่ข้อนี้ซึ่งปริพาชกที่อุกกลชนบทชื่อวัสสะและภัญญะก็ไม่ติเตียนคัดค้าน อย่างไรก็ตาม การที่วัสสะปริพาชกและภัญญะปริพาชกไม่เห็นว่าควรติเตียนธรรมทั้งสี่เป็นเพียงเพราะไม่ต้องการถูกตำหนิ ความกลัวเกรงคำตำหนิของผู้อื่นทำให้ไม่เข้าถึงความเห็นที่ถูกต้อง

พระพุทธองค์ตรัสแก่เหล่าพราหมณ์ที่ปริพาชการามว่า ผู้มีธรรมทั้งสี่ประการนี้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท

สภิยปริพาชกมีความรู้มากและเป็นที่เคารพนับถือของเกณิยชฎิล ท่านได้เคยเข้าศึกษาในสำนักของเจ้าลัทธิทั้งหกแห่งกรุงราชคฤห์แต่ไม่ยกย่องในความรู้ของเจ้าลัทธิเหล่านั้นแม้แต่นิครนถ์นาฏบุตรซึ่งเชื่อกันว่าสำเร็จโมกขธรรม ดังนั้นเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จไปประทับที่พระเวฬุวันวิหารนอกกรุงราชคฤห์จึงได้เดินทางเข้าเฝ้าเพื่อถามถึงความรู้ต่างๆ ที่ตนยังสงสัยอยู่และก็ได้ความกระจ่างที่ไม่มีผู้ใดสามารถให้ได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงต้นปฐมโพธิกาล

พระพุทธองค์ทรงมีพระกรุณาอย่างยิ่งในการตอบคำถามทุกข้อของสภิยปริพาชก คำถามเหล่านั้นกล่าวถึงคำเรียกบุคคลที่สังคมสรรเสริญกันแต่ไม่ชัดเจนในคุณลักษณะหรือกิริยาอาการ

ประเภทของบุคคลที่สภิยปริพาชกสนใจใคร่รู้ ได้แก่ ภิกษุ ผู้รู้ พราหมณ์ สมณะ ผู้ชนะเขต ผู้ฉลาด บัณฑิต มุนี ผู้ถึงเวท ผู้รู้ตาม ผู้ชื่อว่าอาชาไนย ผู้ทรงพระสูตร อริยะ และปริพาชก เป็นต้น พระพุทธองค์ตรัสตอบสภิยปริพาชกโดยสังเขปดังนี้

ภิกษุเป็นผู้ที่ถึงความดับกิเลสด้วยมรรคที่ตนอบรมแล้ว ข้ามความสงสัย อยู่จบพรหมจรรย์และอยู่ในภพใหม่

ผู้รู้เป็นผู้ที่พิจารณาทั้งจุติและอุบัติ ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ถึงความสิ้นไปแห่งชาติ

พราหมณ์เป็นผู้ลอยบาปทั้งหมดแล้ว ปราศจากมลทินและบริบูรณ์ในทางที่เป็นคุณ เช่น มีศีล

สมณะเป็นผู้ที่มีกิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาปได้แล้ว ปราศจากกิเลสธุลีหรือผงกิเลส รู้โลกนี้และโลกหน้า ล่วงชาติและมรณะได้

ผู้ชนะเขตเป็นผู้ที่พิจารณาอายตนะทั้งระดับมนุษย์ เทวดาและพรหม และหลุดจากเครื่องผูกของอายตนะทั้งหมด

ผู้ฉลาดเป็นผู้ที่พิจารณากรรมหรือกระเปาะฟองของอายตนะทั้งระดับมนุษย์ เทวดาและพรหม และหลุดจากเครื่องผูกของกระเปาะฟองทั้งหมด

บัณฑิตเป็นผู้ที่พิจารณาอายตนะทั้งภายในและภายนอกแล้วมีปัญญาบริสุทธิ์ ผ่านทั้งธรรมดำและธรรมขาว

มุนีเป็นผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ

ผู้ถึงเวทเป็นผู้พิจารณาเวทซึ่งสมณะและพราหมณ์มีโดยไม่มีความกำหนัดในเวทนาทั้งปวง

ผู้รู้ตามเป็นผู้ใคร่ครวญธรรมที่ทำให้เนิ่นช้าและนามรูปซึ่งทำให้ผูกติด

ผู้ชื่อว่าอาชาไนยเป็นผู้ที่ตัดและหลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าของความขัดข้องทั้งภายในและภายนอก

ผู้ทรงพระสูตรเป็นผู้ที่ฟังแล้วยิ่งรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีความสงสัย ไม่มีทุกข์ในขันธ์และอายตนะทั้งปวง

อริยะเป็นผู้ที่ตัดอาลัยและอาสวะได้แล้วซึ่งย่อมไม่มาสู่กัป

ปริพาชกเป็นผู้ที่ขับไล่กรรมอันมีทุกข์เป็นผลได้แล้วใช้ปัญญาท่องเที่ยวไป ขจัดมายา (สิ่งที่เคลือบบังความจริง) และมานะ (สิ่งที่ยกตน) ขจัดความโกรธและความโลภ

สภิยปริพาชกได้ขอบวชในสำนักพระพุทธเจ้าทว่าเนื่องจากเป็นอัญญเดียรถีย์จึงต้องอยู่ปริวาสก่อนอย่างน้อย 4 เดือนจนกว่าพระภิกษุจะยินดีรับบรรพาและอุปสมบทให้ เมื่อบรรพชาและอุปสมบทแล้วได้หลีกเร้นออกจากหมู่คณะไปอยู่แต่ผู้เดียว จากนั้นก็บรรลุอรหัตตผล

ทีฆนขปริพาชกเป็นหลานของพระสารีบุตร ท่านเป็นผู้บูชาไฟจึงน่าจะผ่านการปฏิบัติแบบกสิณไฟมาบ้างแล้วเป็นอย่างน้อย เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ที่ถ้ำสุกรขาตาบนเขาคิชฌกูฏก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล ส่วนพระสารีบุตรซึ่งยามนั้นอยู่เบื้องหลังพระปฤษฎางค์สำเร็จอรหัตตผล

ทีฆนขปริพาชกเคยมีความคิดแบบปริพาชกผู้ท่องไปกับวาทะและการแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น สิ่งที่ผู้อื่นเห็นว่าควรก็สามารถเห็นว่าไม่สมควรกับตน เมื่อพบกับความขัดแย้งในวาทะก็ว่าไปตามอคติของแต่ละบุคคล จึงไม่สามารถรับรู้ธรรมอันปราณีต

ทีฆนขปริพาชกเป็นปริพาชกที่บูชาไฟ เราอาจอนุมานได้ว่าท่านมีความเชี่ยวชาญในกสิณไฟซึ่งเป็นที่นิยมของพวกเจริญฌานและอาจสำเร็จปฐมฌานแล้ว ครั้งเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่ถ้ำสุกรขาตาบนเขาคิชฌกูฏพระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องเวทนาซึ่งเป็นหนึ่งในขันธ์ทั้งห้าส่วนที่เชื่อมระหว่างกายและจิต

ทีฆนขปริพาชกเห็นความเป็นอนิจจังของเวทนาแล้วบรรลุโสดาปัตติผล

ส่วนพระสารีบุตรซึ่งได้พิจารณาตามคำสอนของพระพุทธองค์ในขณะนั้นก็เห็นความเป็นจริงของเวทนาที่ละเอียดยิ่งในชั้นสัญญาเวทยิตนิโรธ

อันเป็นการบรรลุอรหัตตผลจากฌานเก้าด้วยปัญญาที่ไม่มีพุทธสาวกท่านใดกระทำได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image