สถานีคิดเลขที่ 12 : ท่าน ปธ.คนใหม่

สถานีคิดเลขที่ 12 : ท่าน ปธ.คนใหม่

ขั้นตอนแรกผ่านไปแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เห็นชอบให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนฯ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขตจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธาน และ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย เป็นรองประธานคนที่สอง

เป็นความลงตัวในเบื้องต้นของสภา แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ด้วยการเจรจาฉันมิตร ไม่ต้องยกพวกเข้ารบพุ่งกัน อาจจะมีวิวาทะร้อนแรง มีทัวร์มาเยือนมากหน่อย ก็ต้องเปิดใจกว้าง รับฟังแบบเอาเนื้อหาสาระ

ที่น่าสนใจคือ ประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาด้วยท่านนี้ เป็นบุคคลที่แวดวงการเมืองให้ความเชื่อถือมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ “สภาหินอ่อน” ด้านหลังพระที่นั่งอนันตสมาคมฯ

Advertisement

วงการเมืองและคนทำงานข่าว เรียกท่านประธานคนใหม่ว่า “อาจารย์วันนอร์” ที่เรียกกันว่าอาจารย์ เพราะเรียนจบปริญญาตรีและโท จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอาจารย์โรงเรียน และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภาคใต้

เป็น ส.ส.ยะลา สมัยแรกปี 2522 สังกัดพรรคกิจสังคม ที่มีระดับ “ซือแป๋” อย่าง พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค และถือเป็นตักสิลาอีกสำนักหนึ่งของการเมืองไทย

ในทางการเมือง อาจารย์วันนอร์ผ่านตำแหน่งว่าการกระทรวงหลักมาหลายแห่ง และเป็นประธานสภาผู้แทนฯ ประธานรัฐสภา ในยุคพรรคความหวังใหม่ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลในปี 2539

Advertisement

แกนนำพรรคเพื่อไทยเล่าว่า เสนอชื่ออาจารย์วันนอร์ ในฐานะคนกลาง ให้สองพรรคใหญ่ถอยกันคนละก้าว การเมืองจะได้ขยับต่อไปได้

ส่วนรองประธานทั้งสองคน จากพรรคก้าวไกลถือว่าเป็นรุ่นกลางๆ ไฟแรง ส่วนรองจากพรรคเพื่อไทย ถือว่ามีประสบการณ์ในสภาพอสมควร เป็นนักการเมืองที่กล้าพูดกล้าเสนอ มีความโดดเด่นไปคนละอย่าง น่าจะเป็นทีมงานที่ช่วยกันพัฒนางานของสภาได้

สเต็ปต่อไปของการเมืองที่้เกิดมีสภาชุดใหม่ มีทีมประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้นมาแล้ว จากนี้ไปจะต้องมีนายกรัฐมนตรีมาจัด ครม.เพื่อเข้าบริหารประเทศต่อไป

เป็นภาระของอาจารย์วันนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา จะต้องนั่งเป็นประธานการประชุมร่วมกันของ ส.ส.และ ส.ว. เพื่อลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ผู้เกี่ยวข้องในการหาตัวนายกฯ ยังประกอบไปด้วย ส.ส.จากพรรคการเมืองที่แยกเป็นฝั่งจัดตั้งรัฐบาลและฝั่งที่เสียงไม่พอจัดรัฐบาล และ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง

นายกฯต้องมาจากบัญชีแคนดิเดตของพรรคที่ได้ ส.ส. 25 เสียงขึ้นไป และได้เสียงรับรองจากรัฐสภาซึ่งมี ส.ว.อยู่ด้วย ด้วยจำนวนเกินครึ่ง คือ 376 เสียง จึงจะผ่านไปสู่ทำเนียบได้

เป็นด่านที่หนักหน่วง เพราะ 750 ชีวิตในสองสภา มีที่มาไม่เหมือนกัน มีวิธีคิด ความเชื่อ แตกต่างกัน

รัฐสภาจะเป็นทางออกหรือทางตันของการเมือง น่าจะได้เห็นกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image