เดินหน้าชน : เร่งล้อมคอก โดย สุพัด ทีปะลา

ผ่านมากว่าสัปดาห์แล้วเหตุพลุ ดอกไม้ไฟ ระเบิด ที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบาดเจ็บ 100 กว่าราย บ้านเรือนประชาชนเสียหายเกือบ 300 หลังคาเรือน

เป็นเหตุโกดังพลุดอกไม้ไฟระเบิดครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังเกิดโกดังพลุและดอกไม้ไฟระเบิด ที่บ้านสันทุ่งใหม่ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม

ที่สำคัญโกดังพลุ ดอกไม้ไฟแห่งนี้ที่ตำบลมูโนะเคยเกิดระเบิดมาแล้วช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

จึงเป็นเหตุซ้ำซากที่สร้างความสูญเสียแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ต่างก็ตั้งคำถามว่า ทำไมโกดังเก็บพลุ ดอกไมัไฟที่เป็นวัตถุอันตราย ถึงตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน

Advertisement

เพราะตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กำหนดให้ พลุ ดอกไม้ไฟ หรือดอกไม้เพลิง เป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากมีดินปืนเป็นส่วนประกอบหลัก สถานประกอบการหรือโรงงานผลิตจึงต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน และได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกขั้นตอน

และยังมีประกาศร่วมของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547

โดยได้กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ในการควบคุมดูแลไว้แล้ว อย่างการเก็บสินค้า โกดังต้องไม่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนที่มีคนอยู่อาศัย หรือใกล้สาธารณสถาน ทั้งโรงเรียน วัด โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ เป็นต้น ตั้งห่างจากชุมชนตามกำหนด มีตั้งแต่ 30-360 เมตร ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ถือครองโพแทสเซียมคลอเรต

Advertisement

ห้ามมีการพักอาศัยในสถานที่เก็บรักษาดอกไม้เพลิงโดยเด็ดขาด

ห้ามเก็บสะสมดอกไม้เพลิงที่มีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดเกินกว่า 50 กิโลกรัม เป็นต้น

ปัญหาอยู่ที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนมีความเข้มงวด กวดขันกันแค่ไหน

หลายพื้นที่มีเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของ “ส่วย” หรือไม่?

อย่างที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมากล่าวหาว่า การเก็บส่วยเป็นต้นตอหนึ่งของโกดังระเบิด

โดยตั้งคำถามว่า ทำไมปล่อยให้ตั้งโกดังพลุขนาด 5 ตัน กลางชุมชนขนาดใหญ่ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ไม่รู้เรื่องเลยหรือไม่

ขณะที่เจ้าของโกดังเคยถูกจับมาแล้ว เมื่อปี 2559 โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เนื่องจากมีการลักลอบเก็บพลุเอาไว้กว่า 20 ตัน

ปัญหาส่วยจะมีจริงหรือไม่ยังไม่อาจยืนยันได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ตำรวจ ทหาร หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาสะสาง ตรวจสอบ

ไม่เฉพาะพื้นที่นราธิวาส แต่รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีโรงงาน โกดัง พลุ ดอกไม้ไฟด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดเหตุซ้ำซาก

หากย้อนดูเหตุโรงงาน โกดังพลุ ดอกไม้ไฟระเบิดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ครั้ง สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

เช่นปี 2547 โรงงานผลิตพลุระเบิดพื้นที่ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้เสียชีวิตถึง 14 ราย

ปี 2565 โกดังพลุระเบิดที่บ้านข่อยงาม หมู่ 3 ศาลาขาว จ.สุพรรณบุรี คนงานเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 คน

ความสูญเสียเหล่านี้ไม่ควรเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวน ย้อนดูปัญหา อย่างจริงจังเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image