บทนำ : พักหนี้เกษตรกร

พักหนี้เกษตรกร

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท โดยปีที่ 1 อนุมัติวงเงิน 12,000 ล้านบาท ในการจ่ายดอกเบี้ยทดแทนเกษตรกร มาตรการนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เงื่อนไขมาตรการพักชำระหนี้ กำหนดให้ลูกค้าที่ได้รับเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ ต้องมีเงินต้นคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 3 แสนบาท ซึ่งได้รับสิทธิทั้งเกษตรกรที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยมีลูกหนี้เกษตรกรทั้งหมด 2.7 ล้านราย มูลหนี้รวม 3 แสนล้านบาท

การพักหนี้จะต้องต่อสัญญาปีต่อปี ในปีแรกเริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 ซึ่งเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ ในกรณีลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ หากต้องการชำระหนี้ก็สามารถทำได้ โดยรัฐบาลสร้างแรงจูงใจในการลดหนี้ โดยเงินที่ชำระหนี้ครึ่งหนึ่ง จะได้รับการตัดชำระเงินต้น เพื่อให้มูลหนี้ลดลง ขณะที่ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอล จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว และหากต้องการชำระหนี้ ก็จะสามารถชำระเงินต้นได้ทั้งหมด 100% โดยไม่มีการนำไปตัดส่วนดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีกลไกให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อสามารถนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้ ด้วยการจัดสินเชื่อให้เพิ่มเติม รายละไม่เกิน 1 แสนบาท และดอกเบี้ยต่ำ

มาตรการพักหนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือช่วยลดภาระ การจ่ายหนี้เกษตรกรชั่วคราว เมื่อมีสภาพคล่องดีขึ้น อาจนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภค เก็บออม ลงทุนทำการเกษตรได้เป็นปกติ ซึ่งอาจจะช่วยให้เกษตรกรยกระดับความสามารถของการสร้างรายได้ แต่โดยที่มีการดำเนินมาตรการนี้มาแล้วถึง 13 ครั้ง ในรอบ 9 ปี จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนภาพชัดเจนยิ่งว่า มาตรการนี้ประสบผลสำเร็จ แก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด การนำบทเรียนในอดีตมาทบทวน และปรับมาตรการ เป็นพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อาจช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องเกษตรกรได้อีกระดับหนึ่ง มีเงินหมุนเวียน แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะกลับมาชำระหนี้ได้เมื่อสิ้นสุดโครงการ รัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทให้ความรู้วิธีการ การปรับตัว ทำการเกษตรสมัยใหม่ ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต เสริมสร้างศักยภาพการสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการพักหนี้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และยั่งยืนกว่า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image