ธุรกิจเอสเอ็มอีกับปัญหาใหญ่การเข้าถึง‘แหล่งเงินทุน’

ธุรกิจเอสเอ็มอีกับปัญหาใหญ่การเข้าถึง‘แหล่งเงินทุน’

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจ นั่นก็คือ “การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน” โดยเฉพาะเงินทุนจากธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่ยังคงระดับความเข้มข้นในการอนุมัติสินเชื่อหรือเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการแบบ “ยากขั้นสุด”

วันนี้ผมขอพูดถึงเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า “ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” เพียงเท่านั้น เพราะกลุ่มนี้ดูเหมือนจะประสบปัญหาเยอะที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลากหลายช่องทาง และมีเครดิตที่ดีกว่าเมื่อเทียบกันแบบหมัดต่อหมัด

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากและใช้ระยะเวลานาน มักทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องเริ่มต้นหรือทำธุรกิจของตนเองโดยใช้เงินออม หยิบยืมขอความช่วยเหลือจากครอบครัว รวมทั้งเพื่อนฝูง หนักไปกว่านั้นคือ “การกู้เงินนอกระบบ” เข้ามาใช้หมุนเวียนภายในบริษัท กลายเป็นปัญหา “งูกินหาง” แก้ปัญหาหนี้สิน หนี้เสีย ไม่จบสิ้น

Advertisement

หากรัฐบาลยังมองหาแนวทางใหม่ๆ ในการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ถือว่าเป็นโครงสร้างหลักของเศรษฐกิจไทย เพราะมีจำนวนผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 3 ล้านรายในขณะนี้ ผมในฐานะที่เคยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตัวเล็กๆ มาก่อน จึงอยากจะแบ่งปันแนวทางที่น่าจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มเอสเอ็มอีไม่มากก็น้อย

ผมอยากเห็นสิ่งนี้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีที่จริงจังในอนาคต

“กองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี” คือ มาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี “รอด” ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยและโลกกำลัง “ล่า” ธุรกิจเหล่านี้ให้ล้มหายตายจากปิดกิจการกันไป ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกเปราะบางยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ทั้งผลพวงจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี

Advertisement

แม้ว่าที่ผ่านมากลุ่มธนาคารพาณิชย์มีจะการจัดกลุ่มลูกหนี้ใหม่ อย่างกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีแต่ประสบปัญหาช่วงเชื้อไวรัสแพร่ระบาด โดยใช้ชื่อเรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่ม code21” คือกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าชั้นดี ไม่มีปัญหาการเงิน ชำระหนี้ตรงเวลาก่อนช่วงโควิด-19 แต่ทุกวันนี้กลุ่มดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเท่าที่ควร ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอี Code21 นี้ถือเป็นกลุ่มฐานรากเอสเอ็มอีที่ควรจะมีการช่วยอย่างเร่งด่วน

ผมเข้าใจที่สุดว่า เมื่อเศรษฐกิจมีภาวะ “รุมเร้า” ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทำให้กลุ่มสถาบันการเงินทั้งหลายโดยเฉพาะ “ธนาคารพาณิชย์” ไม่กล้าบุ่มบ่ามปล่อยเงินกู้แบบสะเปะสะปะ ทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีออกอาการ “ห่อเหี่ยว” ไม่รู้จะหันไปหาเงินจากทางไหนมาหมุนให้กิจการเดินหน้าเพื่อความอยู่รอด

ในส่วนของที่มาของเม็ดเงินที่จะใส่ลงไปในกองทุนนี้คือ ควรจะมาจาก หนึ่ง ระดมทุนมาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์เอง หรือสอง มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาล ไม่เช่นนั้นรัฐบาลควรจะ “โยก” เงินกู้จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล ไม่มากขอแค่ 100,000 ล้านบาท จากกว่า 560,000 ล้านบาท ก็พอ

ผมมองว่านี่จะเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ด้วย เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จากโครงการ Easy E-Receipt หรือเดิมคือโครงการ e-Refund

กองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขั้นต่ำควรจะมีวงเงิน 100,000 ล้านบาท นี้อาจจะมีเงื่อนไขชำระคืนใน 5 ปีก็ได้ และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) ซึ่งเป็นสถาบันแห่งชาติเพื่อการค้ำประกันสินเชื่อเข้ามามีบทบาท ส่วนการบริหารกองทุนนั้นต้องเอาคนที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารในกลุ่มธนาคารมาดูแล

“ฟังดูมันเหมือนมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่า 3 ปีแรกเขาก็จะตั้งตัวได้ พอครบกำหนดเชื่อว่าหลายคนจะกลับมาแข็งแรงขึ้น ธนาคารก็จะกลับมาปล่อยกู้ได้อีกครั้งหนึ่ง

หากให้คนกลุ่มนี้กู้เงิน หรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการหมุนเวียนของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานไม่น้อยกว่าร้อยคนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้เต็มๆ

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีที่จะขอกู้เงินผ่านกองทุนนี้ จะต้องเป็นกลุ่ม Code21 ซึ่งมีเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย โดยกลุ่มนี้มียอดหนี้รวมกัน คิดเป็นเงินกว่า 400,000 ล้านบาท รวมทั้งส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงระบบ e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมสรรพากรได้

เพื่อให้พวกเขาสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าและรับบริการ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ในประเทศได้ เท่ากับว่าเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีกทางหนึ่ง ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน เอสเอ็มอีจ้างงานมากขึ้น การจัดซื้อจัดจ้างของมากขึ้น ส่งผลให้ไมโครเอสเอ็มอี หาบแร่แผงลอย ร้านเล็กๆ ได้อานิสงส์จากกำลังซื้อที่เกิดขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ก็ผ่านมาเกือบจะครึ่งทางแล้ว ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็อยากเห็นมาตรการใหม่ๆ จากภาครัฐออกมาขับเคลื่อนเศรฐกิจให้เติบโต ท่ามกลางความท้าทายมากมายของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

กองทุนนี้คือ “ความหวังใหม่” ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานกิตติมศักดิ์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image