คุณภาพคือความอยู่รอด : ความรู้ด้านการเงิน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ความรู้ด้านการเงิน

ว่ากันว่า “คนไทยรู้เรื่องการเงินน้อย” เพราะปรากฏข้อมูลว่า “ไทยอ่อนหัดการเงิน ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย คิดดอกเบี้ยทบต้นไม่เป็น ขาดการวางแผนการเงิน รายได้ยังไม่พอใช้” (ข่าวโพสต์ทูเดย์ 16 กรกฎาคม 2560)

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า ADB ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดทำ “โครงการสำรวจความรู้ทางด้านการเงิน” ของคนไทย โดยสอบถาม 3 ด้าน คือ ความรู้ด้านการเงิน พฤติกรรมทางการเงิน และทัศนคติทางการเงิน เพื่อที่จะนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD และประเทศที่สมัครใจเข้าโครงการร่วม 29 ประเทศ

ปรากฏว่าไทยได้คะแนนรวม 12.8 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งอยู่ที่ 13.7 และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนของประเทศที่อยู่ 13.2 หรือไทยอยู่อันดับที่ 17 จาก 29 ประเทศ ส่วน 3 ประเทศ ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ฝรั่งเศส ได้คะแนน 14.9 ฟินแลนด์ 14.8 และนอร์เวย์ 14.6

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ด้านความรู้ทางการเงินนั้น คนไทยก็มีความรู้ด้านการเงินไม่น้อย หน้าประเทศอื่น เช่น มีความรู้และเข้าใจเรื่องเงินเฟ้อ ความเสี่ยง แต่เรื่องที่เข้าใจน้อยมาก คือ เรื่องการคิดดอกเบี้ยทบต้น

ด้านพฤติกรรมทางการเงินไทย ก็ดีกว่ามาตรฐานของประเทศอื่น เช่น มีการคิดไตร่ตรองก่อนที่จะซื้อ แต่ก็ยังมีข้อที่ได้คะแนนน้อย คือ เรื่องการติดตามหรือจดบันทึกทางการเงิน ส่วนด้านทัศนคติรู้ว่าจะต้องมีการเก็บออมไว้ใช้ในวันข้างหน้า แต่มีปัญหาเรื่องยังอยากได้มากขึ้น เพื่อมาใช้จ่ายแสดงว่า “ยังไม่พอ” เท่าไร

เรื่องความรู้ความสามารถในการบริหารการเงินนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะประสบการณ์จากการประชุมคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือธุรกิจเอกชน ส่วนใหญ่มักจะหมดเวลาไปกับการพิจารณาเรื่องการเงิน (งบประมาณ งบดุล งบกำไรขาดทุน การบริหารความเสี่ยง การวางแผนทางการเงิน เป็นต้น) ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ Audit Committee แล้ว และมีข่าวแว่วๆ ว่า คุณสมบัติประการสำคัญของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จะต้องมีความรู้ด้านการเงินการบัญชี
เป็นเบื้องต้น

Advertisement

ที่เป็นเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ “การเงิน” คือพื้นฐานของการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยมี “กำไรขาดทุน” เป็นตัวตัดสินความสำเร็จของธุรกิจอุตสาหกรรมใดๆ ซึ่งต่างจากการอาศัยความรู้ทางการเงินเพื่อ “การตกแต่งตัวเลข” ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image