สถานีคิดเลขที่ 12 : แพ้เป็นมาร! โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : แพ้เป็นมาร! พรรคพลังประชารัฐ เปิดศึกสายเลือดประชาธิปัตย์

สถานีคิดเลขที่ 12 : แพ้เป็นมาร! โดย จำลอง ดอกปิก

พรรคพลังประชารัฐ เปิดศึกสายเลือดประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล

ส่งผู้สมัครท้าดวล ชิงเก้าอี้ ส.ส.เขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา

อาทิตย์ที่ 16 มกราคมนี้ เป็นวันชี้ชะตา

ประชาชนจะลงคะแนน เลือกผู้สมัครพรรคใดเป็นผู้แทน

Advertisement

ข่าวอินไซด์ล่าสุด เขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา ว่าที่ ส.ส.หน้าใหม่ มาจากพรรคเดียวกัน ซิวที่นั่ง 2 เก้าอี้

แต่การเลือกตั้งซ่อม 2 เขต ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้นี้ ดูเหมือนเป็นหนังที่ไม่ชวนให้ตื่นเต้น ติดตามตอนจบมากนัก

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการขับเคี่ยว แย่งที่นั่งกัน ระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น

Advertisement

ไม่มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น ที่สมน้ำ สมเนื้อลงแข่งขัน โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้าน

ปีกตรงกันข้าม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล

ปักษ์ใต้เป็นฐานที่มั่นสำคัญ พรรคประชาธิปัตย์ผูกขาดชนะเลือกตั้ง ยึดครองพื้นที่ยาวนาน น้อยครั้งที่พรรคอื่นจะเบียดแทรก แบ่งที่นั่งได้

หากมีบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นเขตเลือกตั้งพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลเลือกตั้งก่อนรัฐประหาร ในปี 2554 ประชาธิปัตย์กวาด 50 เก้าอี้ จากทั้งหมด 53 ที่นั่ง

แต่เลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 กลับชนะไม่ถึงครึ่ง เข้าป้ายแค่ 22 คน จากจำนวนเต็ม 50 เก้าอี้

นอกนั้นเป็นของพลังประชารัฐ 13 คน ภูมิใจไทย 8 ประชาชาติ 6 และรวมพลังประชาชาติไทย 1 คน

ผลการเลือกตั้งที่พลิกผัน จากความคาดหมาย ถูกตีความว่า คนใต้ ปันใจ เทคะแนนให้กับ ‘บิ๊กตู่’ ซึ่งพลังประชารัฐชูเป็นนายกฯ

ฐานเสียงประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ คือฐานเดียวกัน

ฉะนั้น เลือกตั้ง 16 มกราฯ อาทิตย์ที่จะถึงนี้ จึงเป็นการต่อสู้ แย่งชิงเก้าอี้กันเองทั้ง 2 พื้นที่ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

ที่มีโหวตเตอร์เป็นกลุ่มคอการเมืองเดียวกัน

ผลการตัดสินใจของประชาชน ที่กำลังจะออกมาในไม่กี่วันนี้ จึงหยั่งวัด ความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองได้ เฉพาะพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์เท่านั้น ใครทำงานเข้าตาชาวบ้าน ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารมากกว่ากัน

ต่างกันอย่างสิ้นเชิง กับการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใจกลางเมืองหลวง ที่จะเปิดคูหาให้หย่อนบัตร 30 มกราคมนี้

ที่เมื่อมองผ่านผลการเลือกตั้งทั่วไป ไม่มีพรรคใดได้ชัยชนะเด็ดขาด

พลังประชารัฐ 12 ที่นั่ง ก้าวไกล (อนาคตใหม่) และเพื่อไทย พรรคละ 9 ที่นั่ง

เป็นกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ว่ากันว่า ประชาชนเข้าถึงและติดตามข้อมูลข่าวสาร การทำหน้าที่ของรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ความเป็นไปของเหตุบ้านการเมือง อย่างใกล้ชิด

มีข้อมูลมากพอที่จะใช้ประกอบการพิจารณา ตัดเกรด ตัดสินใจ ว่าสมควรเทคะแนนให้แก่ใคร

ถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อกระแสการเมือง

เขต 9 กทม.มากกว่า น่าสนใจติดตามเป็นที่ยิ่งว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาประการใด

เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผู้สมัครลงแข่งขันหลายค่าย ทั้งแชมป์เก่าเจ้าของเก้าอี้ พลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล พรรคกล้า ฯลฯ

ครบทั้งฝ่ายรัฐบาล และปีกฝ่ายค้าน

พื้นที่นี้ จึงเปรียบเป็นเครื่องวัดกระแส ความนิยมชมชอบ บทบาทการทำงาน ที่มีต่อพรรคการเมือง และระหว่าง 2 ขั้ว ชั้นดี

แม้ไม่ใช่ กทม.ทั้งหมด

แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า นี่ไม่ใช่เสียงของคนเมืองหลวง

และหากทว่า พลังประชารัฐสามารถเลือกได้เอง อยากแพ้-ชนะ เลือกตั้งในเขตใด ระหว่าง 3 เขตเลือกตั้งนี้ เชื่อได้ว่าเขต 9 กทม. จะเป็นเขตที่พลังประชารัฐเล็งเห็นความสำคัญสูงสุดอย่างแน่นอน

ไม่ขอเลือกพ่ายเขตนี้

เพราะต่อให้ชนะ 2 เขตเลือกตั้งชุมพร-สงขลา ก็หาได้มีความหมายแต่อย่างใดไม่

หากแพ้คาถิ่นเมืองกรุง ฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง

1 ที่นั่งนี้ จะส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลรุนแรง มหาศาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image