สถานีคิดเลขที่ 12 : ลุงแก้แห!? โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : ลุงแก้แห!? โดย จำลอง ดอกปิก

รัฐบาลระส่ำระสาย มีปัญหาเสถียรภาพ นับจากปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นเก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เมื่อ 9 กันยายน 2564 เป็นต้นมา

เนื่องจาก ซ่องสุมกำลัง ส.ส. เคลื่อนไหวโหวต ล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ‘บิ๊กตู่’ สอบผ่าน ด้วยคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับหนึ่ง 208 เสียง

ครั้งนั้นฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 6 คน รวมนายกฯ

ระบุพฤติการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม และไร้ความสามารถเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายร้ายแรง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤต

Advertisement

การคิดฉวยจังหวะ โหวตไม่ไว้วางใจ ผสมโรงฝ่ายค้าน คว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลางสภา ของกลุ่มผู้กองธรรมนัส

แม้มองได้ว่า ต้องการต่อรองเก้าอี้ รัฐมนตรี ให้สมกับฐานะ เลขาธิการพรรค

แต่ข้อเท็จจริง ที่ยากปฏิเสธ ก็คือหากนายกฯ มีฝีมือ บริหารประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนนิยม ชมชอบ

Advertisement

ไม่มีทางหรอก ที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะกล้าแม้แต่คิด

เนื่องจากต้นทุนการเมืองต่ำกว่า

แต่เป็นเพราะ นายกฯ ถูกตั้งคำถาม เรื่องความสามารถในการบริหารอย่างมากต่างหาก
ที่ทำให้ ร.อ.กล้าคิดดังๆ ซ่องสุมกำลัง ส.ส. เตรียมหักโค่น

กระแสสังคม-ความชอบธรรม เป็นสิ่งที่นักการเมืองให้ความสำคัญ

ยิ่งถ้าเป็นคนในด้วยกัน อย่างสมาชิกระดับ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

หากจะโหวตล้ม ก็ยิ่งต้องมี กระแสสังคม และความชอบธรรมรองรับมากพอ

นับจากวันเกิดปัญหาขัดแย้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาล

อันนำมาสู่การปลด ร.อ.ธรรมนัส และแยกทางกันในที่สุด

สถานการณ์ของรัฐบาล ไม่เพียงแต่ ไม่กระเตื้องเท่านั้น หากแต่ยังดูแย่ลงอีกด้วย

การกอบกู้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังเสียหายจากพิษโควิดระบาด รัฐบาลยังไม่สามารถยกระดับบริหาร จัดการแก้ปัญหาให้ดีขึ้นมาได้ ซ้ำร้าย น้ำมันแพง สินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันขึ้นราคา ซ้ำเติมประชาชน ที่บอบช้ำ จากเศรษฐกิจย่ำแย่ ไม่มีเงินจับจ่าย

งานการเมือง ในฝ่ายนิติบัญญัติ สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น

ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมากของสภา ไม่สามารถกุมสภาพการนำได้ สภาไม่ครบองค์ประชุมล่มซ้ำซาก สาเหตุใหญ่ เกิดจากปัญหาขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรัง ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ขาดหายไป จากการที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส แตกไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ มีพรรคเล็ก และ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้แยกตัวออกไป เป็นแนวร่วม เคลื่อนไหวเขย่ารัฐบาล ให้ได้รับผลกระทบจากสภาล่ม

ไปๆ มาๆ ปัญหาสภา (ล่ม) กลายมาเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาล ที่ไม่แก้ไม่ได้

เนื่องจากสมัยประชุมหน้า เริ่ม 22 พฤษภาฯเป็นต้นไป มีกฎหมายสำคัญ ที่หากไม่ผ่านความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ไม่ลาออก ก็ต้องยุบสภา มีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านจองกฐินยื่นซักฟอก ซึ่งล้วนแต่ มีผลต่อการอยู่ การไปของรัฐบาล

นักวิชาการ ฝ่ายค้านมองว่าขณะนี้รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลงเต็มตัว

นักการเมืองเตรียมการเลือกตั้งคึกคัก

รัฐบาลก็ดูเหมือน ไม่มีสมาธิในการบริหาร เพราะต้องโฟกัส ไปที่การแก้ปัญหาการเมือง เรื่องเสียงในสภา ตัวชี้ชะตา จะไปต่อได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน งานหลัก ‘บริหาร’ ก็ไม่มีพัฒนาการดีขึ้น กระทั่งกลายเป็นเกราะคุ้มครอง ให้รอดจากการตรวจสอบในสภา

มีเหตุผล ที่ ส.ส.จะยกมือให้

แต่กลับเข้าทาง ฝ่ายเคลื่อนไหวคว่ำรัฐบาล กระแสเหนื่อยหน่ายให้-มีความชอบธรรมทางการเมือง

ที่จะตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image