สถานีคิดเลขที่ 12 : ความชอบธรรม? โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : ความชอบธรรม? สภาอยู่ในห้วงปิดสมัยประชุม

สถานีคิดเลขที่ 12 : ความชอบธรรม? โดย จำลอง ดอกปิก

สภาอยู่ในห้วงปิดสมัยประชุม ช่วงเบรกพักยาว ร่วม 4 เดือนนี้ รัฐบาลไม่ต้องรับศึก ถูกตรวจสอบการทำงานรูปแบบต่างๆ จากฝ่ายนิติบัญญัติ

สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ใช้เป็นเวทีต่อรอง

แต่มีการบ้าน ต้องเก็บงาน

โดยเฉพาะเรื่องเสียงปริ่มน้ำ พลังประชารัฐแตกออก 2 เสี่ยง

Advertisement

ส.ส. 21 เสียง แยกตัวออกไป

18 คน หันไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจใหม่ ตาม ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ประกาศปลดแอกเป็นรัฐอิสระไม่สังกัดฝั่งไหน ส่งผลให้เสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดวูบลงทันที

เสถียรภาพเปราะบาง

Advertisement

หากต้องเผชิญญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสมัยประชุมหน้า เริ่ม 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยที่ไม่สามารถหาจำนวนเสียงมาทดแทนได้

ไม่แน่นักว่า ‘บิ๊กตู่’ จะรอด

แนวทางแก้ไขปัญหาเสียงปริ่มน้ำ มีหลักๆ 2 ประการ 1.ดึงพรรคต้นสังกัดใหม่ ส.ส.ที่แยกตัวออกไป กลับเข้าร่วมรัฐบาล จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้

พิมพ์ทรงนี้ เข้าทางมุ้งผู้กอง แผนยกระดับต่อรองได้ผล

พล.อ.ประยุทธ์ยอม-ทำใจได้หรือไม่

2.บริหารจัดการ ด้อยค่าเสียงโหวตฝ่ายค้าน เพื่อมิให้การลงคะแนน ญัตติสำคัญ ส่งผลกระทบรัฐบาล
ไม่สนใจวิธีการ ถูกต้องหรือไม่ หรือใช้รูปแบบผสมผสาน

เรื่องเสียงปริ่มน้ำนี้ เชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ปล่อยยืดเยื้อ เรื้อรัง เนื่องจากหาก ล่วงเลยเข้าสู่โหมดเปิดสมัยประชุม อำนาจต่อรองจะน้อยลง

คงตั้งเป้าแก้ไขให้จบก่อน 22 พฤษภาฯ

และมาดแม้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามแนวทางที่ 1 สำเร็จ แต่ในทางยาว ก็ใช่ว่าปัญหาหมดไป

ปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ภายในพลังประชารัฐ ยากที่จะประสาน

ดูทรงแล้วไม่แคล้วจบที่ ทางใคร-ทางมัน

ครั้งนี้เป็นแค่กลับมารวมตัวสนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ เฉพาะกิจ โดยมีเก้าอี้จูงใจเท่านั้น

แต่หากมองผ่านความระหองระแหงระหว่างพี่น้องตระกูล ป.

ความเป็นไปได้ที่พลังประชารัฐจะกลับมารวมตัวกันในอนาคตแทบไม่มี เปอร์เซ็นต์แตกออกเป็น 3 เสี่ยง มีอยู่สูงกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งแตกแบงก์ ก็ยิ่งลดทอน จำนวน ส.ส.ของพลังประชารัฐลง

อย่างปัจจุบันแค่แตกเป็น 2 พรรค ก็ทำให้เหลือ ส.ส.เพียง 97 คน

แต่ 97 คน ในขณะเป็นรัฐบาลอยู่เวลานี้ กับ 97 คน หากเป็นตัวเลขชนะเลือกตั้ง

มันต่างกัน

เนื่องจาก ในการเลือกตั้งทั่วไปนั้น เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกรัฐบาล

ฉะนั้นเสียง จำนวนเสียง ส.ส.ที่แต่ละพรรคทำได้ มีความหมายอย่างมาก

เพราะมันหมายถึงความชอบธรรม

หากได้ ส.ส.เพียงเท่านี้ เข้าลำดับที่ 3-4 ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ความชอบธรรมที่จะเป็นพรรคแกนนำ รวบรวมเสียง ส.ส.-ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ย่อมไม่มี

ยิ่งหากพรรคเข้าที่ 1 ได้ 200 หรือใกล้เคียง

ความชอบธรรมทางการเมืองก็ยิ่งไม่เหลือหรอ ลำพังแต้มต่อ ส.ว.อย่างเดียว ไม่น่าจะช่วยได้

ด้วยเหตุนี้นี่เอง ถึงมีกระแสข่าวสะพัด ถึงความพยายาม ฟื้นบัตร 1 ใบ

เพราะหากต้องใช้ 2 ใบ สุ่มเสี่ยงที่จะแพ้ขาด ถูกพรรคอันดับ 1 ทิ้งห่าง

พรรคแตกไม่พอ กติกายังเอื้อคู่แข่ง

จากเดิมเพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว แต่ถ้าบัตรสองใบ ดูจากฐานเสียงกว้างขวางกว่าพรรคใด ไม่มีทางเลย ที่เพื่อไทย จะได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์เป็นศูนย์

การดิ้น กลับไปใช้บัตรใบเดียว

จึงเป็นความพยายามที่จะแก้เกม เพื่อกลับมาอยู่ใกล้เส้นความชอบธรรม ให้มากที่สุด

อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าลำดับที่สอง และไม่ถูกทิ้งห่างมากเกินไป

แต่การจะกลับไป ที่จุดเดิมของการใช้บัตรใบเดียว มีค่าที่ต้องจ่ายสูงยิ่ง ให้กับคำถาม มีความชอบธรรมทางการเมืองมากน้อยเพียงใด ที่จะแก้ กลับไปใช้บัตรใบเดียว

กลายเป็นว่า ไม่ว่าขยับซ้ายหรือขวาก็ตาม รัฐติดกับดักความชอบธรรม

ยังหาทางออกที่ดี ไม่ได้

มิพักต้องพูดถึงการชนะด้วยกติกา ที่ออกแบบมาเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจทั้งหลายนั้น แท้จริงการเข้าสู่ตำแหน่งแบบนี้ ชอบธรรมหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image