สถานีคิดเลขที่ 12 : เขาอยากอยู่ยาวภาค2

สถานีคิดเลขที่ 12 : เขาอยากอยู่ยาวภาค 2

คงจำกันได้ว่า การเขียนรัฐธรรมนูญในยุค คสช.นั้น มีด้วยกัน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เขียนอย่างดิบดี แล้วจู่ๆ ก็โดนคว่ำกลางที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เมื่อปี 2558 โดยการลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ก่อนที่นายบวรศักดิ์ประกาศวางมือ ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับอธิบายด้วยถ้อยคำอันเป็นอมตะในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า “เพราะเขาอยากอยู่ยาว”

จากนั้น คสช.ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกชุดขึ้นมาทำหน้าที่แทน มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่ประธาน และสำเร็จเสร็จสิ้นออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้กันมา 5 ปีแล้ว ตอนนี้กลายมาเป็นประเด็นร้อน เสมือนเป็นกับดักทางการเมือง ที่ขุดหลุมกันเองและทำท่าจะตกหลุมกันเอง

Advertisement

เมื่อมีบทบัญญัติว่าด้วยการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาเกินกว่า 8 ปีไม่ได้ ชัดเจนว่าเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ

มีการถกเถียงตีความถึงประเด็นนี้ออกมา 3 แนวทาง เป็นคุณต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึง 2 แนวคือ อยู่ได้ถึงปี 2568 แนวหนึ่ง และอยู่ถึงปี 2570 อีกแนวหนึ่ง

ส่วนแนวทางที่อยู่ได้แค่ 23 สิงหาคม 2565 นี้ โดนฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธมาตลอดว่า เป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง

Advertisement

แต่แล้วแนวทางที่ให้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกหลังรัฐประหาร โดยมีโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เท่ากับต้องหมดอายุในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ตอนเที่ยงคืน

อันเป็นแนวทางที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับนั้น บัดนี้เกิดกระแสสนับสนุนแนวทางนี้อย่างหนักแน่น

ด้วยผลจากบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนายมีชัย ซึ่งตั้งประเด็นในวงประชุมชัดเจนว่า ผู้เป็นนายกฯก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศบังคับใช้ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯดังกล่าว เข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้หรือไม่

ประธาน กรธ.เป็นผู้หยิบประเด็นนี้มากล่าวเอง และรองประธานคนที่ 1 คือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ กล่าวเห็นด้วยว่า ต้องนับรวม

แถมนายมีชัยยังยกมาตรา 264 เสริมอีก ซึ่งบัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ แล้วสรุปอย่างชัดเจนอีกว่า แสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องไม่เกิน 8 ปี

คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ออกมาโต้ทันทีว่า บันทึกดังกล่าว เป็นแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่มติ

ก็เป็นท่าทีที่ไม่ยอมรับ บอกปัดอย่างไม่สนใจว่า เป็นคำกล่าวของประธานผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

ถ้านึกย้อนถึงประธานร่างรัฐธรรมนูญให้ คสช.คนแรก คือนายบวรศักดิ์ ที่โดนหักกลางสภา จนกลายเป็นถ้อยคำที่ว่า “เพราะเขาอยากอยู่ยาว”

มาถึงบันทึกในที่ประชุมของนายมีชัย ประธานร่างรัฐธรรมนูญคนที่สอง ในประเด็นการนับเวลา 8 ปี เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลคงจะไม่ยอมรับคำอธิบายนี้เป็นแน่

ถ้าบทสรุปของนายมีชัย ที่ให้นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะต้องโดนรัฐบาลนี้บอกปัด เหมือนการโดนหักอีก

นี่ก็ต้องบอกว่า เพราะเขาอยากอยู่ยาวภาค 2 นั่นเอง

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image