สถานีคิดเลขที่ 12 : 8 ปี-เมื่อไหร่-ยังไง

สถานีคิดเลขที่ 12 : 8 ปี-เมื่อไหร่-ยังไง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธข่าวผ่านโฆษกรัฐบาลมาว่า จะไม่ยุบสภา จะเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่

ข่าวยุบสภา เกิดจากกระแสที่ว่า นายกฯ อาจจะพ้นวาระในวันที่ 23 สิงหาคม จึงจะชิงยุบสภา เพื่อรักษาการนายกฯ จะได้ทำหน้าที่ในการประชุมเอเปคให้ลุล่วงไป

ต้นเรื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ที่กำหนดมิให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์เริ่มเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดังนั้น นับง่ายๆ จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 อีกไม่กี่วันข้างหน้านี่เอง

โดยมีเอกสารสนับสนุน คือ บันทึกการประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เมื่อเดือนกันยายน 2561 ระบุว่า ให้นับตามที่ดำรงตำแหน่งจริง ถ้าเป็นนายกฯมาแล้ว 8 ปี ก็ต้องเก็บของกลับบ้าน

ถ้านายกฯ 8 ปีพ้นหน้าที่ รองนายกฯเบอร์ 1 คือบิ๊กป้อม จะต้องทำหน้าที่รักษาการนายกฯ แทน

Advertisement

จากนั้นเป็นภาระของประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย จะต้องดำเนินการสรรหานายกฯ กันใหม่

แต่การเมืองประเทศไทย เป็นที่รู้กันว่า ไม่ค่อยมีอะไรง่ายๆ แบบ 1 บวก 1 เป็น 2

มีนักกฎหมายผู้เกี่ยวข้องออกมาเสนออีกแนวทาง โดยชี้ว่าบันทึกการประชุมที่ให้นับจากปี 2557 จะเรียกว่า เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้

ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัว และในวันที่หารือกันตามเอกสารดังกล่าวนั้น มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย และแสดงความเห็น แต่ไม่มีการบันทึกไว้

พร้อมกับย้ำว่า การนับ 8 ปีของนายกฯ ต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่มาตรา 158 แค่วรรคเดียว

และระบุว่า นายกฯ ที่ห้ามนั่งเกิน 8 ปี ต้องเป็นนายกฯ ที่มาตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ มาจากบัญชีของพรรคการเมืองตามมาตรา 88 และ 89 และได้รับการรับรอง ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตามมาตรา 158 และ 159

ดังนั้น ถ้านับแบบนี้ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเพิ่งเป็นนายกฯมา 3 ปีเศษๆ นับจากมิถุนายน 2562 ยังไปต่อได้อีกหลายปีกว่าจะครบ 8 ปี

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอีกคน บอกว่า ยังมีวิธีนับอีกแบบ กล่าวคือ เริ่มต้นนับในเดือนเมษายน 2560

อันเป็นเวลาที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาตรา 264 กำหนดให้ ครม.และนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม.และนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ด้วย

นักกฎหมายผู้เสนอแนวคิดนี้ ย้ำว่า ครม.และนายกฯ ก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในทางกฎหมาย ไม่ใช่ ครม.และไม่ใช่นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560

แต่เพราะมีบทเฉพาะกาลมากำหนดให้ถือว่าเป็น จึงเริ่มนับวาระนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ จากเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา

เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมาแล้ว 5 ปีเศษ อยู่ต่อไปได้อีก 2 ปีเศษ

สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมาแล้วกี่ปีกันแน่ 8 ปี, 5 ปี หรือ 3 ปี เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย หลังจากรับคำร้องจากผู้สงสัยไปแล้ว

นี่ไม่ใช่ชั่วโมงคณิตศาสตร์ แต่เป็นช่วงเวลาสำคัญอีกครั้งของการเมืองประเทศไทย

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image