ศ.ดร.ชาญวิทย์ รอเวลาคนรุ่นหลังศึกษาปวศ. ‘จอมพล ป.’ มุมใหม่ ชี้ถูกมองข้าม ย้ำเจาะลึก

ศ.ดร.ชาญวิทย์ รอเวลาคนรุ่นหลังศึกษาปวศ. ‘จอมพล ป.’ มุมใหม่ ชี้ถูกมองข้าม ย้ำเจาะลึก

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเทศกาล Knowledge Book Fair ‘อ่านเต็มอิ่ม’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักพิมพ์มติชน, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD, มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ พร้อมด้วยพันธมิตรจำนวนมาก

โดยเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียดกับการเมืองไทยสมัยใหม่ โดย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง

ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า บทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด สำคัญมากต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การเข้าใจการเมืองไทย ตนคิดว่า จำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับท่านผู้หญิงละเอียด และควรมีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับ 2 ท่านนี้ เพราะเป็นบุคคลสำคัญ

Advertisement

“ในตอนหลังมีความสนใจเกี่ยวกับคณะราษฎรเยอะทีเดียว แต่บทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงครามซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ ถูกมองข้ามไป ผมคิดว่าบางครั้งถูกมองเป็นสีดำ เป็นเผด็จการฟาสซิสต์ ซึ่งมีส่วนถูก แต่ถ้าเราจะเข้าใจการเมืองสมัยนั้น เราต้องพิจารณาให้ลึกไปกว่านั้น เหมือนครั้งหนึ่งบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ถูกบดบังไปหมด แต่ตอนหลังถูกนำมาตีความใหม่ ทำให้เราเข้าใจอะไรเยอะเลย แต่กรณีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนนี้คงรอเวลาและคนรุ่นใหม่ๆ มาศึกษา ในแง่ที่เราทำกันมาหลายปีแล้ว ในหนังสือจอมพล ป.พิบูลสงครามกับท่านผู้หญิงละเอียด เราพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่ยังมีบทความใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อวออกมาอีกเยอะ

ใครชอบผลงานของ ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคณะราษฎร หนังสือเล่มนี้ อาจารย์ชาตรีจะพิจารณาเรื่องโครงการที่จะย้ายเมืองหลวง จากกรุงเทพฯ ไปสระบุรี รวมถึงเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นบทความที่ยอดเยี่ยมมาก

นอกจากนี้ ยังมีบทความของ ผศ.ดร.ศรัณยู เทพสงเคราะห์ ในประเด็นเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงครามในยุคก่อนปี 2500 โดยเป็นการจำกัดจำนวนที่ดิน ว่าเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำการเกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งหากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือส่งผลกระทบต่อนายทุน ขุนศึก ศักดินา” ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ถ้าเทียบประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎรเป็นอาหาร จะเปรียบได้กับเมนูใด ?

ศ.ดร.ชาญวิทย์ตอบว่า ‘ผัดไทย’ ทั้งนี้ ตนเคยรณรงค์เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสยาม การเปลี่ยนสยามเป็นไทยแลนด์ มันลึกล้ำมากๆ ในวิธีคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

“เราจะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้ว คำว่าไทยแลนด์ ประเทศไทย และคนไทย ที่มี ย.ยักษ์ เป็นที่ยอมรับทั้งหมด

ดูพรรคการเมืองปัจจุบัน มีแต่คำว่า ‘ไทย’ เยอะมากจนไม่น่าเชื่อ ผมคิดว่า ความล้ำลึกของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่เปลี่ยนชื่อ ทำให้ใครก็ตามที่มีสัญชาติไทย กลายเป็นคนไทย แม้ว่าคุณจะเป็นแต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน ม้ง ลาว ฯลฯ

อีกอันหนึ่งที่จอมพล ป .พิบูลสงคราม ทำไว้คือการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน นี่คือสิ่งที่คนลืมไปแล้ว” ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว

อ่านข่าว :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image