แห่ฟัง ‘สุจิตต์’ ขยี้ปม ‘จารึกพ่อขุนรามฯ’ รับเจอทัวร์ลงนับสิบปี ยันเป็นวรรณกรรมรัตนโกสินทร์

แห่ฟัง ‘สุจิตต์’ ขยี้ปม ‘จารึกพ่อขุนรามฯ’ รับเจอทัวร์ลงนับสิบปี ยันเป็นวรรณกรรมรัตนโกสินทร์

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเทศกาล

Knowledge Book Fair  ‘อ่านเต็มอิ่ม’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักพิมพ์มติชน, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD, มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ พร้อมด้วยพันธมิตรจำนวนมาก โดยเมื่อเวลาราว 13.00 น. มีกิจกรรม Sujit’s Talk ‘จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณกรรมการเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ อักษรไทยมาจากอักษรเขมร’ โดย นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมากโดยลงทะเบียนล่วงหน้าและจับจองพื้นที่จนเต็มห้อง ผู้จัดต้องจัดห้องเพิ่มเติมด้านข้างเพื่อให้ร่วมรับฟังถ่ายทอดสดผ่านหน้าจอโทรทัศน์

นายสุจิตต์ กล่าวว่า ความรู้ที่อยู่ในตำราประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกสอนให้จดจำต่อกันมาคือ คนไทยถูกจีนรุกรานจนต้องอพยพลงมาก่อนตกอยู่ใต้อำนาจขอมแล้วปลดแอกประกาศอิสรภาพ

Advertisement

ตั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก โดยมีจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นวรรณคดีชิ้นแรก ซึ่งเชื่อกันว่าทรงประดิษฐ์อักษรไทยเมื่อ พ.ศ.1826 ประวัติศาสตร์ชุดดังกล่าวเป็นมติชนชั้นนำตั้งแต่สมัยตนและนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ยังเป็นนักเรียน จนเข้าศึกษาที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

“ทั้งหมดเป็นปัญหาตั้งแต่ก่อนปี 2500 คือ มากกว่า 66 ปี กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรมก็อยู่เฉยๆ ไม่พูดความจริง ไม่ประกาศว่าใช้ไม่ได้” นายสุจิตต์กล่าว

จากนั้น นายสุจิตต์ กล่าวถึง ประเด็นชนชาติไทย ซึ่งในอดีตหมายถึงเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์ ไทยแท้ ไทยเดิม แต่ปัจจุบันหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า เชื้อชาติบริสุทธิ์ทั้งโลกไม่มีจริง ดังนั้น สมัยกรุงธนบุรี อยุธยา ก็ไม่มีไทยแท้ ชนชาติไทยในความหมายที่เป็นสายเลือดไทยแท้ย่อมไม่มี

Advertisement

“จารึกพ่อขุนรามคำแหง ไม่ใช่วรรณคดีไทยชิ้นแรก เพราะสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก ตอนผมนำประเด็นนี้มาเผยแพร่ โดนทัวร์ลงเยอะ แต่สมัยนั้นยังไม่มีคำว่าทัวร์ลง แต่ชิน เพราะมีอาชีพทำหนังสือพิมพ์ การถูกวิจารณ์เป็นเรื่องปกติ ไม่มีปัญหา” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีผู้ตั้งข้อสงสัยมานานแล้ว แต่ผู้ที่ศึกษาอย่างเป็นระบบและนำเสนอเชิงวิชาการคนแรก คือ ศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ โดยก่อนหน้านั้น คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศฯ นำเอกสารประชุมพระราชนิพนธ์พระบาทสมเเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านโบราณคดี มาเรียบเรียงตีพิมพ์ใน พ.ศ.2516 มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ อาจารย์แสง มนวิทูร นักปราชญ์ด้านปรัชฐาและภาษาสันสกฤตก็เคยกล่าวในลักษณะเดียวกัน

“มหาแสง มนวิทูร พูดประจำ แต่ตอนนั้นไม่มีคนสนใจ และไม่มีใครกล้าทำงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ผมเคยเรียนกับศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งเป็นฮีโร่ของนักศึกษาโบราณคดีสมัยนั้น ท่านเคยเขียนบทความว่าพ่อขุนรามคำแหงทำจารึกแค่ 17 บรรทัดแรก กับ  1 คำบนบรรทัดที่ 18 นอกนั้นไม่ได้ทำ

ต่อมาใน พ.ศ.2520 ผมเป็น บก.สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง จึงขอให้มีการตีพิมพ์พ็อกเก็คบุ๊ค ชื่อ รามคำแหง มีการสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ซึ่งท่านสั่งเลขาฯ ปิดห้องไม่รับแขก ท่านยืนยันเหมือนในบทความ” นายสุจิตต์กล่าว

จากนั้น นายสุจิตต์ กล่าวถึงความเห็นของ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี  และนายไมเคิล ไรท์ ว่า จารึกดังกล่าวไม่ได้ทำในยุคพ่อขุนรามคำแหง โดยนายไมเคิลเขียนบทความเผยแพร่ในพ.ศ.2530 กระทั่งใน พ.ศ.2532 ศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ เผยแพร่งานวิจัยที่มีหลักวิชาการรองรับว่า จารึกดังกล่าวถูกทำขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารย์อย่างหนัก

นายสุจิตต์กล่าวว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นจอมปราชญ์ ทรงหลักแหลม เห็นได้จากพระราชนิพนธ์ต่างๆ ทั้งยังโปรดการประดิษฐ์อักษร อย่าง ‘อักษรอริยกะ’ ปรากฏในจารึกวัดราชประดิษฐ์ฯ ทรงมีแนวคิดก้าวหน้า อยากให้ประเทศทันโลกตะวันตก ไม่ใช่ถอยหลังเข้าคลอง สำหรับจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศสอธิบายไว้ในประชุมจารึกภาค 1 ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงพบที่ ‘เนินปราสาท’ ซึ่งเป็นวังเก่า อย่างไรก็ตาม หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีในภายหลังพบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่วัง เพราะที่ตั้งผิดโบราณราชประเพณี สันนิษฐานว่าเป็นศาลาทำบุญ โดยนายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรระบุว่า วังควรอยู่ทางทิศเหนือติดกับศาลตาผาแดง

นายสุจิตต์อธิบายต่อไปว่า อักขรวิธีในจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียงสระและพยัญชนะไว้นบรรทัดเดียวกัน คล้ายแบบฝรั่ง นอกจากนี้ สำนวนภาษาในจารึกดังกล่าวเป็น ‘ภาษากรุงเทพฯ’ ไม่ใช่สุโขทัยหากเทียบกับจารึกหลักอื่นๆ อีกทั้งช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 4 ทรงพบจารึก ยังอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘นางนพมาศ’ อีกด้วย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image