‘กำพล’ จับแมวใส่ไทม์ไลน์ ปวศ. กล้าเคลม! ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ใน ‘Siamese Cat’

‘กำพล’ จับแมวใส่ไทม์ไลน์ ปวศ. กล้าเคลม! ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ใน ‘Siamese Cat’

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณบูธ “สำนักพิมพ์มติชน J47” เมื่อแวลาประมาณ 15.30 น. มีผู้อ่านจำนวนมาก รอพบกับ นายกำพล จำปาพันธ์ เจ้าของผลงาน Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว โดยต่อแถวรอขอลายเซ็นและถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง

นายกำพลกล่าวว่า ในหนังสือ Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว “เป็นความพยายามในการทำแบบบุกเบิก” หมายความว่า ทุกอย่างต้องใหม่ และไม่เคยปรากฏอยู่ในงานชิ้นไหนเลย

Advertisement

“ความใหม่ของหนังสื่อเล่มนี้คือความใหม่ที่ไม่เคยใช้ในประวัติศาสตร์ และในเรื่องของคอนเซ็ปต์ แนวคิด การวิเคราะห์ตีความ และหลักฐานต่างๆ เป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายในฐานะนักประวัติศาสตร์

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา งานเขียนส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นแค่ส่วนประกอบ ในหนังสือ Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว เป็นความพยายามของผมเองที่จะไปอีกมุมมองหนึ่ง ใช้สิ่งมีชีวิตที่นอกเหนือจากมนุษย์เข้ามาเป็นส่วนหลักในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ ใช้หลักฐานที่เกี่ยวข้องในเล่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘แมว'” นายกำพลกล่าว

Advertisement

นายกำพลกล่าวต่อไปว่า ได้นำเรื่องของ “แมว” ไปใส่ในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์อย่างที่เราคุ้นเคย อย่างประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์ธนบุรี ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์

“ผมเชื่อว่านักประวัติศาสตร์แต่ละท่านมีเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้มีมุมมองจากเดิมที่เราเคยได้อ่าน ผมมีจุดมุ่งหมายแบบนั้นเช่นกัน จึงใช้แมวเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นทั้งข้อจำกัดและข้อโดดเด่นในหนังสือเล่มนี้” นายกำพลกล่าว

นายกำพลกล่าวด้วยว่า สิ่งที่มีคนสนใจเรื่องของแมว เพราะเรื่องที่จะใช้เรียกว่า “จงใจ” ก่อนหน้านี้เคยเขียนทั้ง “ช้าง” และ “ลิง” ก็มองเห็นเงื่อนไข เห็นความสำคัญที่อยากจะเปลี่ยนจะพาร์ทจากมนุษย์มาเป็นสัตว์เลี้ยง

“เรื่องของแมวต้องเล่าตรงๆ ว่าผมเห็นข้อมูลเรื่องของแมวมากกว่านี้ แต่ในการเขียนเล่มนี้มีความรู้สึกค่อนข้างพอใจแล้ว หากผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่เต็มอิ่ม ก็สามารถที่จะติดต่อมาแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้

เวลาเราเขียนเรื่องแมว เราก็จะเห็นมุมมองของทั้งคนเลี้ยง แต่ละยุคสมัย ที่สำคัญในเรื่องเรายังเห็น หนู สุนัข วัว ต่างๆ ในเรื่องนี้

ความโดดเด่นของหนังสือ Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว คือการใช้แมวเป็นศูนย์กลาง ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย และกล้าเคลมว่า ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หลังจากนี้เชื่อว่าน่าจะมีคนอื่นๆ มาศึกษาร่วมด้วย เพื่อให้ประวัติศาสตร์มีแง่มุมอื่นเพิ่มมากขึ้น” นายกำพลกล่าว

นายกำพลกล่าวต่อว่า การเขียน Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว เป็นเรื่องที่ยากมากนั่นคือ หลักฐาน กว่าจะรวบรวมหลักฐานได้ก็ใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน เป็นทั้งคนที่เลี้ยงแมวด้วย ชื่อว่า “โมโม ทาโร่” การที่เขาจากไปก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดเรื่องราวบางอย่าง การที่เสียเขาไป จริงๆ ตั้งใจจะเผาหนังสือเล่มเล็กๆ ไปให้เขา ผมทำทุกอย่างเหมือนเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีทั้งพิธี สวดศพ การเผา ทำบุญครบ 7 วัน ตักบาตรด้วยปลาทู ทำทุกอย่างเหมือนมนุษย์จริงๆ

“พอได้ทำแล้วมีความรู้สึกสบายใจ ผมก็คิดว่าคนที่ทำแบบนี้ แล้วมีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับผม ไม่ใช่เฉพาะผม คนอื่นก็มีมุมมองแบบนี้เช่นเดียวกัน และโมเมนต์แบบนี้ควรมีอยู่ในประวัติศาสตร์ ก็เลยเป็นการจุดประกาย” นายกำพลกล่าว

นายกำพลเผยว่า โมโม ทาโร่ เปรียบเหมือนเป็นการนำพาให้ไปรู้จักบรรพชนของเขาอีกด้วย การใช้คำว่า Siamese Cat ที่ไม่ใช้แมวไทยเพราะว่า Siamese Cat มีอายุมากกว่าประเทศไทย เพราะประเทศไทยสมัยที่ จอมพล ป. แต่ Siamese Cat เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงรัตนโกสินทร์

“มีความรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่หนังสือ Siamese Cat ติดอันดับขายดีในบูธสำนักพิมพ์มติชน ผมขอฝากเรื่อง คนมีสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแล ให้มีความผูกพัน และอยากให้รักษาสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นไว้ให้ดี

แมวที่ถูกทอดทิ้งมีจำนวนเยอะมากในปัจจุบัน ทั้งแมวจรในสถานที่วัดต่างๆ จำนวนมาก อย่างให้เร่งเห็นหน่วยงานที่เข้ามาทำตรงนี้

และแมวจรในประเทศไทยมีอยู่เยอะมาก หลายคนบอกว่าสายพันธุ์ต่างๆ อาจสูญหายไป แต่จริงๆ ไม่ใช่ เขาอาจอยู่ตามซอกตามมุมตามๆ อีกมากมาย” นายกำพลกล่าว

ทั้งนี้ สามารถเยี่ยมชมบูธสำนักพิมพ์มติชน (J47) ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน 2567 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image