‘พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ’ สรรค์สร้างนครยะลา สู่นครแห่งความสุขอย่างยั่งยืน

หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลายคนไม่เคยได้มีโอกาสสัมผัส คิดว่าเป็นเมืองที่มีแต่ความไม่สงบ แท้จริงแล้ว ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขตามแบบฉบับของสังคมพหุวัฒนธรรมหลากเชื้อชาติ 

ยะลายังได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการจัดผังเมืองที่สวยงามร่มรื่น ส่งผลให้เกิดความสะดวกในการพัฒนาทุกๆ ด้าน และเคยคว้ารางวัลระดับโลกของ UNESCO มาแล้ว

“เรื่องนี้ต้องขอบคุณพระรัฐกิจวิจารณ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองยะลาท่านแรก และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้วางรากฐานผังเมืองยะลาจากการว่าจ้างวิศวกรชาวอังกฤษในสมัยนั้น จนได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามที่สุด” คือคำบอกเล่าของ ‘พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ’ นายกเทศมนตรีนครยะลา

พงษ์ศักดิ์ หรือนายกอ๋า เป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวเทศบาลนครยะลามาเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง จากผลงานการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการสรรค์สร้างบรรยากาศให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นนครแห่งความสุขอย่างยั่งยืน ภายใต้คำขวัญที่ว่า “สร้างเมืองให้น่าอยู่ สร้างความรู้สู่มวลชน สร้างสังคมให้โปร่งใส สร้างสานใจร่วมพัฒนา นครยะลาสู่สากล”

Advertisement

“แม้ว่าเราเป็นจังหวัดเดียวของภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล แต่ได้ต้นทุนอย่างอื่นชดเชย เริ่มจากความเป็นระเบียบเรียบร้อยจากผังเมืองที่ดี ส่งผลให้ง่ายต่อการพัฒนาเรื่องต่างๆ มีผู้นำวางรากฐานความเป็นเมืองสะอาด โดยได้รับรางวัลพระราชทานฯ ถึง 3 ปีซ้อน และการสร้าง City in The Garden หรือเมืองในสวน มีสวนสาธารณะล้อมเมืองทั้งหมด”

นครยะลายังเป็นเมืองเดียวที่มีการศึกษาครบทุกรูปแบบ เป็นศูนย์กลางของสถาบันการศึกษา เปรียบเสมือนตักศิลาของภาคใต้ และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่นี่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธ และชาวมุสลิม

Advertisement

เทคโนโลยีทันสมัยยกระดับการทำงาน-รูปแบบบริการ 

พงษ์ศักดิ์บอกเล่าถึงการทำงานปกครองท้องถิ่นในสไตล์ของเขาว่า อันดับแรกเมื่อเกิดปัญหา จะต้องแก้ไขให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นตลอดเวลา เพื่อรองรับกับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การพัฒนาคนก็มีความสำคัญ ต้องเลือกแต่บุคลากรมีคุณภาพมาทำงาน มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ทั้งนำอุปกรณ์ IoT มาใช้ และมีอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อประชาชนในเขตเทศบาล

“เมื่อมีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อก็คือความเป็นท้องถิ่น เพราะเทศบาลรู้จักและใกล้ชิดประชาชนเป็นอย่างดี การลงไปดูในรายละเอียดต่างๆ เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นโดยตรง ไม่ใช่ของภูมิภาคหรือส่วนกลาง จึงต้องวางแผนว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการสร้างระบบดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะคนที่มีความเปราะบาง หรือคนป่วยติดเตียง เหล่านี้จะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง”

‘ศูนย์บริการร่วมเทศบาลนครยะลา’ เป็นการให้บริการแบบ One Stop Service ทุกหน่วยงานของเทศบาลให้บริการพี่น้องประชาชนอย่างครบถ้วนเบ็ดเสร็จในจุดเดียว แต่เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงได้มีการนำ

ดิจิทัลแพลตฟอร์มผ่านมือถืออย่าง Line OA มาเพิ่มช่องทางการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจาก Line  @yalacity ที่มีสมาชิกอยู่ถึง 39,000 คน เขายังได้สร้างแพลตฟอร์มหลาดยะลา (Yala Market) ตลาดออนไลน์เพื่อรองรับผู้ประกอบการค้าขาย เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ และเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมการให้บริการโดยผู้มีทักษะอาชีพต่างๆ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างแอร์ ซึ่งใครที่ต้องการใช้บริการก็สามารถติดต่อผ่านทาง @yalacity  ได้ 

ส่งเสริมภาคเกษตร-ค้าขาย กระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมในการปลูกส้มโชกุนที่ได้รสชาติเลิศ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กลายมาเป็นผลไม้ของดีประจำจังหวัด เขาจึงมีแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคเกษตรด้วยการส่งเสริมการปลูกผลไม้ที่มีราคาสูงอย่างทุเรียนพันธุ์มูซังคิงที่ลูกค้าประเทศจีนนิยม และพันธุ์หนามดำที่ได้แชมป์ของมาเลเซีย มีราคาสูงกว่ามูซังคิง

“ต่อจากภาคเกษตรเป็นการพัฒนาพื้นที่ค้าขาย เข้าไปปรับปรุงตลาดดั้งเดิม เช่น บริเวณตลาดรถไฟ มีการประชุมกับผู้ประกอบการหลายครั้ง รวมถึงหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อหาแนวทางพัฒนาอย่างเป็นระบบ เชื่อว่าลูกหลานยะลาทุกคนอยากกลับบ้านอยู่แล้ว ถ้าเราเตรียมความพร้อมไว้ให้ทุกอย่าง พวกเขาจะต้องกลับมา”

มอบความรู้เยาวชนในและนอกเขตเทศบาล

การศึกษาและการมอบความรู้เป็นอีกเรื่องที่นายกฯ เมืองยะลา ให้ความสำคัญ ด้วยการก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้ ทีเค ปาร์ค ตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้เด็กทั้งในและนอกเขตเทศบาลได้เรียนรู้ผ่านสื่อนวัตกรรมสมัยใหม่ เป็นทั้งพื้นที่จัดอบรมบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงร่วมมือกับ สสส. เพื่อเป็นศูนย์สุขภาวะสำหรับฝึกอบรมแม่บ้านประกอบเมนูอาหารสุขภาพต่างๆ ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

จากการมีผู้มาใช้บริการเดือนละเกือบ 20,000 คน จึงได้มีการขยายพื้นที่เป็นอุทยานการเรียนรู้ยะลาแห่งใหม่ ให้เป็นพื้นที่เพื่อการทดลอง ลงมือปฏิบัติ  สร้างสรรค์ผลงาน หรือการเรียนรู้ด้านอื่นๆ สร้างเสริมทักษะใหม่ๆ ของโลกปัจจุบัน มีเครื่องมือที่เป็นปฎิบัติการพิเศษต่างๆ ให้เด็กฝึกพัฒนาตัวเอง เช่น ห้องฝึกเป็น YouTuber   ห้อง Podcast  เป็นต้น

พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างเมืองแห่งอนาคต 

อีกจุดเด่นของที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลา ซึ่งพงษ์ศักดิ์ตั้งใจให้พื้นที่ทั้งหมด 94 ไร่ ทำเป็น Learning Park แต่ด้วยงบประมาณจำกัด จึงต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้นมาจากการที่ยะลาได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ผังเมืองดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับ 23 ของโลก โดยใช้คำว่า “เมืองยะลา เมืองของเรา เมืองของโลก”

“นอกจากนำสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์เชิงพื้นที่บรรจุไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังต้องการให้เยาวชนได้เรียนรู้การดูแลรักษาผังเมือง เพราะคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการมีผังเมืองที่ดีทำให้สามารถแก้ไขเรื่องของอากาศ คมนาคม และภัยพิบัติได้ โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม จึงมีห้องปฎิบัติการออกแบบเมือง เพื่อให้เยาวชนได้มาทดลองออกแบบเมือง และจะรวบรวมจัดเก็บเพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์ว่า เด็กและเยาวชนมีความคิดเห็นเรื่องของบ้านเมืองอย่างไร เพื่อนำไปสู่ทิศทางการพัฒนาในอนาคต”

แม้แต่โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเท้า ไฟส่องสว่าง ครอบคลุมทุกพื้นที่ กำลังมีแผนติด CCTV แบบ City Eye เพื่อเปิดระบบไฟอัจฉริยะตามแยกต่างๆ หรือเมื่อไรที่มีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้น ระหว่างการเดินทางของรถพยาบาลหรือรถดับเพลิง ระบบอัจฉริยะจะสั่งให้ไฟจราจรเป็นสีเขียวจนกว่าจะถึงจุดเกิดเหตุ

จนถึงระบบขนส่งมวลชนที่กำลังจะเป็น Universal Design หรือการออกแบบเพื่อทุกคน วันจันทร์ถึงเสาร์ จะเป็นรถโดยสารสำหรับประชาชนทั่วไป แต่เมื่อถึงวันอาทิตย์ เก้าอี้โดยสารจะถูกถอดเก็บเพื่อเป็นที่วางวีลแชร์ นำคนป่วยติดเตียงตามแต่ละบ้านได้มีโอกาสออกไปท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา เป็นแนวทางช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างน่าชื่นชม

3R+6C สู่นครแห่งความสุขอย่างยั่งยืน

แม้ว่าที่นี่จะเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดความวุ่นวายอยู่บ้าง แต่นายกอ๋าของพี่น้องชาวนครยะลาไม่เคยพักหรือหยุดการพัฒนา ด้วยเชื่อมั่นว่า จะต้องทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ เพราะเมื่อไรที่สังคมแตกแยก เกิดความขัดแย้ง จะมีโอกาสนำเข้าสู่สงครามการเมืองได้ การพัฒนายิ่งไม่มีทางเกิด

“เบื้องต้นเราทำเป็น Rethinking Internal ให้คนในยะลามั่นใจว่าปลอดภัย สำหรับคนข้างนอก ก็ต้องสื่อสารให้เขาเชื่อมั่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเปลี่ยนการรับรู้ ในส่วนของเทศบาลเองนอกจากการปรับภาพลักษณ์แล้ว ยังต้องทำให้เมืองสดชื่น เพราะการใช้ชีวิตภายใต้เหตุการณ์ไม่สงบถึง 15 ปี แรงบันดาลใจหายไปเยอะ” 

“การจะทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาใหม่ ต้องสร้างเมืองให้สดชื่น มีชีวิตชีวามากขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมใหญ่  เช่น ยะลามาราธอนที่กำลังเป็นงานประจำปี และยังสามารถต่อยอดไปถึงการเชิญชวนให้ผู้คนมาลิ้มรสผลไม้ยะลาที่กำลังออกผลิตผลในช่วงนั้น เป็นการทำแบรนด์ดิ้งในตัว” 

พงษ์ศักดิ์เตรียมแผน 10 ปีเพื่อรับมือเหตุการณ์ไม่สงบ พร้อมกับตั้งเป้าตัวเลขรายได้ของประชากร คุณภาพชีวิต และหาสิ่งที่เป็นต้นทุนมาทำการสร้างแผนในอนาคต มีการพัฒนา 3R Restructure ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างเมืองด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และโลจิสติกส์ ไม่มุ่งเน้นเฉพาะยางพารา แต่หาผลไม้อย่างอื่นทดแทน 

และการทำธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น แฟชั่นมลายู เขา หวังไว้ว่าวันข้างหน้าจะมีเฮ้าส์แบรนด์ที่เป็นแบรนด์สินค้าในพื้นที่จับมือกับแฟชั่นแบรนด์เนมระดับโลกก็เป็นไปได้ เพราะโลกมลายูมีประชากร 600-700 ล้านคน

ยะลายังมีเป้าหมายการพัฒนา 6C ได้แก่ Cleanliness เมืองแห่งความสะอาด, Collaboration การทำงานร่วมกัน, Connectivity การเชื่อมต่อ, Culture วัฒนธรรม, Competitive ความสามารถในการแข่งขัน และ Comfort ความสะดวกสบาย ภายใต้ความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างเมืองให้เป็นนครแห่งความสุขอย่างยั่งยืน ครบทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

 

ย้ำท้องถิ่นมั่นคง ประเทศชาติมั่งคั่ง

นายกเทศมนตรีนครยะลา ทิ้งท้ายโดยให้ความเห็นถึงครั้งเหตุการณ์ยากลำบากช่วงโควิดระบาดหนัก ในเวลานั้นไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าจะจบเมื่อไร เขาต้องสร้างความมั่นใจควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นระบบการจัดการของท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเชื่อว่า เทศบาลสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้

“สิ่งที่เทศบาลต้องการในเวลานี้ เนื่องจากปัจจุบันเมืองมีความเป็นพลวัตรตลอดเวลา แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ยังวางกรอบคิดแบบรวมศูนย์ วันนี้เราจึงต้องการความอิสระในการดูแลประชาชน และอิสระในการหารายได้ เพราะท้องถิ่นมี DNA ไม่เหมือนกัน และสามารถนำ DNA ของแต่ละที่มาสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องคลายกฎบางตัว ปลดล็อคในเชิงอำนาจหน้าที่และพื้นที่ ให้มองว่าวันนี้โลกใบเดียวกัน ท้องถิ่นต้องเดินไปด้วยกันได้ทั้งหมด”

“การที่ปลดล็อคให้ท้องถิ่น ยังส่งผลในด้านไม่ทำให้เกิดการรวยกระจุก หรือกรุงเทพฯ คือประเทศไทย แต่จะเป็นประเทศไทยทุกจังหวัด เพราะคนไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเมืองหลวง แล้วสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์จากการแข่งขันก็คือประชาชน เมื่อทุกเมืองมีความเข้มแข็ง ประเทศก็จะมั่งคั่งทันที”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image