คอลัมน์เดินหน้าชน ว่าด้วย‘ประหาร’ โดย : เทวินทร์ นาคปานเสือ

ข่าวการประหารชีวิตนักโทษซึ่งประเทศไทยเราไม่ได้มีการประหารชีวิตนักโทษมาเป็นเวลาเกือบ 9 ปีแล้ว

จู่ๆ เกิดการประหารชีวิตขึ้นมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ
ในมุมมองคัดค้านโทษประหาร และในมุมเห็นด้วย ที่ยังคงโทษประหารไว้

ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาอาชญากรรมนั้นมีหลากหลาย

ทั้งแบบธรรมดาทั่วๆ ไป

Advertisement

และแบบรุนแรงป่าเถื่อน

อีกทั้ง “อาชญากร” เองก็มีทั้งพวกที่ทำผิดเพราะอารมณ์ชั่ววูบ

และพวกที่ทำผิดเป็น “สันดาน”

Advertisement

บางคนยังอยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวกลับใจมาอยู่ในสังคมได้

แต่บางพวกก็เกินเยียวยา ไม่ว่าสังคมจะให้โอกาสเพียงใด

อาชญากรเหล่านั้นก็ไม่สามารถกลับมาสู่สังคมได้

ด้วยระบบความคิดของเขาที่คิดแต่เพียงว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้ว

ด้วยลักษณะเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีหลากหลายเหล่านี้ น่าจะคงโทษประหารชีวิตไว้ในประมวลกฎหมายอาญาต่อไป

เพื่อให้ศาลท่านได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมกับกรณีต่างๆ

เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราก็มีการลงโทษประหารชีวิตน้อยมาก

แสดงว่าการลงโทษประหารแต่ละครั้ง ศาลท่านคงได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หลายแง่หลายมุมแล้ว

แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและน่าห่วงใยตามมาก่อนหน้านี้ก็คือ มีกลุ่มที่สนับสนุนโทษประหาร บางกลุ่ม บางท่าน เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญาบางเรื่องบางประเด็น

เช่น คดีข่มขืนให้มีอัตราโทษประหารสถานเดียว

พร้อมทั้งมีการรณรงค์ด้วยแคมเปญ “ข่มขืน=ประหาร”!

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงความผิดฐานข่มขืนให้เห็นภาพ ดังนี้

หนึ่ง ความผิดฐานข่มขืนทั่วๆ ไป (มาตรา 276 วรรค 1) และการชำเราเด็ก (แม้เด็กจะยอมตามมาตรา 277)

หลักๆ อัตราโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 20 ปี

สอง หากการกระทำผิดตามข้อหนึ่ง มีเหตุฉกรรจ์ เช่น ใช้อาวุธ หรือโทรมหญิง หรืออายุของผู้ถูกกระทำเป็นเด็กมาก ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักขึ้น

โดยโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา 276 วรรค 3, มาตรา 277 วรรค 3 และ 4)

สาม หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือเสียชีวิต ผู้กระทำผิดต้องถูกระวางโทษหนักขึ้น โทษสูงสุดคือประหารชีวิต (มาตรา 277 ทวิและตรี)

จะเห็นว่าความผิดฐานข่มขืน กฎหมายได้กำหนดอัตราโทษไว้ตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

การที่เราไปแก้ไขกฎหมายให้ความผิดนี้ (ข่มขืน) ไม่ว่ากรณีใดๆ คือประหารทั้งหมด

เชื่อว่า “ไม่ใช่” การ “แก้ปัญหา” แต่อาจเป็นการ “เร่งเร้า” ให้อาชญากรรมมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจัยในการกระทำผิดของคนเรานั้นมีหลากหลาย

บางคนก็ชอบที่จะกระทำผิดเป็นกมลสันดาน

บางคนทำผิดเพราะความเชื่อผิดๆ

บางคนบันดาลโทสะ อารมณ์ชั่ววูบ

หรือบางคนก็เพราะมีจิตใจวิปริต วิตถาร

ซึ่งคนประเภทหลังสุดถือว่า “อันตราย”!

ไม่ว่าโทษจะเท่าไหร่ก็พร้อมทำผิดเสมอ

เหตุใดจึงเห็นว่าโทษประหารอาจเป็นตัวเร่งเร้าให้ปัญหาอาชญากรรมมีความรุนแรงมากขึ้น

อย่าลืมว่าในคดีข่มขืน ลักษณะของความผิดเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าจะกระทำกันในที่ “ลับ” แทบทั้งสิ้น

และคนที่เป็นประจักษ์พยานก็มีเพียงคนเดียว

คือ “เหยื่อ” หรือผู้เสียหาย

ดังนั้น ถ้าโทษ “ข่มขืน=ประหาร” ก็เป็นไปได้ว่าผู้กระทำผิดเมื่อลงมือไปแล้วจะรู้สึกว่า ถ้าถูกจับได้ก็ตายสถานเดียว

โอกาสที่คนเหล่านั้นจะฆ่าเหยื่อปิดปาก เพื่อตัดประจักษ์พยานจึงมีสูงยิ่ง

การให้ศาลท่านได้ใช้ดุลพินิจในการลงโทษตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ก็ถือว่าเหมาะสมแล้วไม่ใช่หรือ?!

เทวินทร์ นาคปานเสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image