เพิ่มโทษใบขับขี่ : เทวินทร์ นาคปานเสือ (คอนัมน์เดินหน้าชน)

จะปล่อยผ่านก็กระไรอยู่ กรณีกรมขนส่งทางบกเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522
โดยเพิ่มโทษผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่เป็นจำคุก 3 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท
ขับรถระหว่างใบขับขี่หมดอายุมีโทษจำคุก 3 เดือน
กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.

ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกือบจะบานปลาย
จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกมาเหยียบเบรกว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว
เล่นเอาบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้เสนอถอยกรูด
การแก้ไข 2 พ.ร.บ.ดังกล่าว คงเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม จากสถิติอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ รวบรวมโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ย้อนหลัง 2 ปี ระบุสาเหตุของอุบัติเหตุ
อันดับหนึ่งคือการ “เมาแล้วขับ” คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้
ปี 60 ร้อยละ 36.59 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 31.31
ปี 61 ที่ผ่านมา ร้อยละ 28.24 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนด และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 25.91
จากข้อมูลจะเห็นว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเป็นเรื่อง “พฤติกรรม” ของมนุษย์ “เป็นหลัก”
ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการ “มี” หรือ “ไม่มี” ใบอนุญาตขับขี่
ผู้ขับขี่ก็ยังอาจดื่มสุราแล้วมาขับรถเช่นเดิม

ดังนั้น การออกกฎหมายเพื่อลงโทษสถานหนักสำหรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่
จึงเป็นการแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ตรงจุด!
เพราะเป็นมาตรการที่ไม่มีลักษณะที่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ “สาเหตุ”
และไม่มีจุดประสงค์มุ่งเน้นในการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีกในอนาคตเลย
การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด น่าจะเป็นการรณรงค์ในเรื่องของ “วินัยจราจร” เป็นหลักมากกว่า
ให้ประชาชนเห็นถึง “ผลเสีย” และ “อันตราย” ของการเกิดอุบัติเหตุ!
อย่าลืมว่า การออกกฎหมายที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากๆ อาจไม่ค่อยมีผลในทางปฏิบัติ

Advertisement

ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ก็เคยประสบมาแล้ว ทั้งการบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยในรถประจำทาง รถตู้โดยสาร ฯลฯ
เท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เคยมีการประเมินกันหรือไม่ว่ามีผลในทางปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน เพียงใด?
ที่สำคัญการเน้นเรื่องการลงโทษรุนแรงอาจเร่งเร้าเกิดเป็นกฎหมาย “เฟ้อ” มากขึ้น
กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ!
แต่กลับกลายเป็นกฎหมายที่เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ได้
ซึ่งผลกระทบจะตกกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!?!

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคน “ตาบอดสี” กำลังรณรงค์เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายจราจร ให้พวกเขาทำใบขับขี่ได้
เพราะปกติคนตาบอดสี มี 2 แบบ
ตาบอดสีชนิดเกิดแต่กำเนิด กับภาวะตาบอดสีที่เกิดภายหลัง
มีทั้งชนิดรุนแรงไม่รุนแรง

กล่าวคือ ตาบอดสีระดับแยกแยะไฟจราจรไม่ได้
หรือแค่พร่องสีแดงหรือสีเขียว ทำให้ความสามารถในการแยกสีที่ใกล้เคียงกันลดลงไปบ้าง
แต่ก็สามารถแยกแยะระดับสีของไฟจราจรได้ตามปกติ
ไม่ลองคิดแก้ไขกฎ ระเบียบ ตรงนี้ดูหน่อยละครับ

Advertisement

บางทีอาจมีประโยชน์มากกว่าการเพิ่มโทษผู้ไม่มีใบขับขี่ก็เป็นได้!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image