คืนอำนาจให้ท้องถิ่นทางออกประเทศไทย โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ข้อเสนอเพื่อให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm Shift )ในวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองจากการรวมศูนย์อำนาจรัฐส่วนกลางมาสู่การกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าการรวมศูนย์อำนาจจากรัฐส่วนกลางที่เป็นผู้ชี้นำสั่งการ ผูกขาดอำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลาง โดยเฉพาะการทำตามแบบทางการเขาสั่งมาว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนจนทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้รอรับรอขอความช่วยเหลือจากรัฐส่วนกลางตลอดเวลา จะทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้รอคอยความช่วยเหลือ จนเป็นคนอ่อนแอไปในที่สุด จึงทำให้เห็นว่าการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเป็นการทำให้ชะตาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลส่วนกลางที่รัฐต้องเยียวยาช่วยเหลือตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้ออ้างว่าการรวมศูนย์อำนาจอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กิจการบ้านเมืองมีความเป็นปึกแผ่นเกิดความเป็นชาติและสามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ไม่น้อยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-12 ก็ตามที แต่ในทางกลับกันก็ยังมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมายเช่นกัน เพราะแนวทางการบริหารแบบรวมอำนาจทำให้ผลการพัฒนาก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และมีช่องว่างระหว่างการครอบครองทรัพยากร

แม้ว่าการอ้างผลการพัฒนาที่ผ่านมาว่าสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ก็จะเห็นว่าเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีความสามารถในการเข้าถึงและครอบครองทรัพยากรโดยเฉพาะกลุ่มทุนและชนชั้นนำของไทย หรือที่กล่าวกันว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งทำให้สังคมไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรายังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในหลายๆ มิติ ซึ่งทุกฝ่ายก็ยอมรับกันทั่วไปว่ายังมีปัญหา เป็นต้นว่า

การกระจายรายได้จากกลุ่มประชากรที่รวยที่สุด ร้อยละ 10 มีโอกาสครอบครองรายได้สูงถึง ร้อยละ 36 ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด ร้อยละ 10 มีโอกาสถือครองรายได้เพียงร้อยละ 1.1 เท่านั้น ตัวเลขนี้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนถึง 35 เท่า นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายได้ครัวเรือนที่จนที่สุดต่อปีมีการเพิ่มขึ้นของรายได้เพียง 4,266 บาท ในขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุด ร้อยละ 10 มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อปีถึงกว่า 100,000 บาท ยิ่งกว่านั้นตัวเลขครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 50,000 บาท มีอยู่เพียงร้อยละ 5.45 เท่านั้น จากจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ

Advertisement

ส่วนตัวเลขคนจน แม้ว่าจะมีตัวเลขคนจนลดลงอยู่บ้าง เช่น แต่เดิมมีคนจนราว 8.2 ล้านคน ในปี 2554 และในปี 2557 มีตัวเลขคนจนลดเหลือ 7.1 ล้านคน แต่ตัวเลขนี้จะย้อนแย้งกับตัวเลขผู้ขึ้นทะเบียนคนจนที่ใช้เกณฑ์รายได้น้อย ซึ่งตามสถิติการขึ้นทะเบียนคนจนกลับมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากตัวเลข 8 ถึง 10 ล้านคน ก็เพิ่มเป็น 11.4 ล้านคน (2560) ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)

สําหรับความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับการถือครองที่ดินพบว่ามีคนไทยถึงร้อยละ 90 ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองน้อยกว่า 1 ไร่ และในขณะที่มีคนไทยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นมีที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ที่สำคัญพบว่ามีครัวเรือนที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองมีถึง 749,599 ครัวเรือน

นี่คือผลผลิตของวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองซึ่งรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางตลอดระยะเวลาในรอบกว่า 60 ปี นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาฉบับที่ 1 (2504-2509) และมีการทิ้งปัญหาต่างๆ ไว้มากมาย และการเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการบริหารประเทศใหม่จะเป็นทางออกให้กับประเทศที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการปัญหาได้ดีกว่า โดยเฉพาะการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแทนรัฐส่วนกลาง

Advertisement

โดยต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐส่วนกลางที่เคยมีอำนาจมาเป็นการให้อำนาจท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศแทนรัฐ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm Shift) อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพราะประสบการณ์การบริหารประเทศของรัฐเกือบทุกยุคที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลปัจจุบัน (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไม่ได้มีความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนกลไกโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการวางแนวทาง “การปฏิรูประบบการบริหารราชการภาครัฐ” โดยการลดภารกิจอำนาจภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการจัดบริการสาธารณะ

ดังนั้น ข้อเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ ก็คือ การปฏิรูประบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจและภารกิจระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่น โดยต้องออกแบบเพื่อเปลี่ยนบทบาทรัฐส่วนกลางและภูมิภาคมาเป็นผู้สนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยง และคอยติดตามประเมินผล รวมทั้งปฏิรูปจังหวัดให้บูรณาการส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน มิใช่ต่างคนต่างทำอย่างปัจจุบัน

และต้องทำการถ่ายโอนภารกิจการบริหารสาธารณะขั้นพื้นฐานมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งถ่ายโอนทั้งงาน เงิน งบประมาณ และบุคลากรทั้งหมด ก็จะทำให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคเล็กลง และทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับภารกิจใหม่และอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะแทนรัฐถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อทำให้ศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมากขึ้นนั้น สิ่งที่ต้องทำ เป็นต้นว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการจัดทำกฎหมายรายได้ท้องถิ่น และการเพิ่มขีดความสามารถด้านการเงิน การคลังท้องถิ่น เพื่อเพิ่มรายได้ของตนเอง เช่น การมีกฎหมายกิจการพาณิชย์ กฎหมายความร่วมมือในรูปแบบของสหการ ทั้งนี้ เพราะสอดรับกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุให้รัฐต้องส่งเสริมและพัฒนารายได้ให้กับ อปท.

บทเรียนที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า “การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รัฐบาลทุกยุครวมถึงรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ทำการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ อปท.ในการทำงานแต่อย่างใด และเห็นว่าการปฏิรูปท้องถิ่นทั้งในแง่การเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “การควบรวมท้องถิ่น” เช่น ข้อเสนอหนึ่งตำบลหนึ่งท้องถิ่นที่ยังมีความซ้ำซ้อนกันในหนึ่งตำบลมีสองท้องถิ่น และความคิดที่จะเชิญชวนหรือมีมาตรการที่จะให้ท้องถิ่นควบรวมกัน ก็ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

ที่สำคัญแนวทางการเสนอให้ท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์พิเศษ เป็นต้นว่า เป็นเมืองชายแดน เมืองที่เป็นเกาะและเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นเมืองในเชิงความหลากหลายวัฒนธรรม ต้องมีการปฏิรูปเพื่อยกระดับเมืองเหล่านี้เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ก็ยังไม่เกิดขึ้นมาให้เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

นอกจากนี้แล้ว ที่สำคัญต้องเปลี่ยนแนวคิดในวิธีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้ท้องถิ่นและจังหวัด เป็นผู้จัดทำและเสนองบประมาณของตนเอง แทนที่จะให้กรมและกระทรวงเป็นตัวตั้งของงบประมาณแผ่นดินฝ่ายเดียว ก็น่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินใหม่ ทั้งนี้ เพราะเห็นว่ากรมและกระทรวงผูกขาดงบประมาณไว้เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว

ผมจึงเห็นว่าการปฏิรูปท้องถิ่นต้องทำไปพร้อมๆ กับการปฏิรูประบบราชการและ “ข้อเสนอแนวทางปฏิรูปท้องถิ่น” ที่ถูกเสนอในคณะกรรมการหลายๆ ชุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ไม่ได้ถูกนำมาปฏิรูปเพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม อย่างที่คาดหวัง จึงทำให้เห็นว่าการปฏิรูปท้องถิ่นที่ลงทุนลงแรงไปอย่างมากมาย ในที่สุดก็เกิดการเสียของไปอย่างน่าเสียดาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image