เลสเตอร์-เทพนิยาย-พิธีกรรม โดย ปราปต์ บุนปาน

“เทพนิยายเลสเตอร์” ปิดฉากลงอย่างหมดจดงดงาม

พร้อมการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ของเลสเตอร์ ซิตี้ สโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ซึ่งมีเจ้าของเป็นกลุ่ม “คิงเพาเวอร์” เอกชนไทย

เบื้องหลังความสำเร็จของทีมสุนัขจิ้งจอก ถูกวิเคราะห์ตีความในสองแง่มุม

แง่มุมแรก คือ การบริหารจัดการทีมตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

Advertisement

ที่ตั้งหลักจากคำถามแนว “ฮาวทู” ว่า ด้วยจำนวนเงินซื้อนักเตะซึ่งไม่ได้มีมากมายเหมือนสโมสรยักษ์ใหญ่ ด้วยขุมกำลังนักเตะในทีม ที่น้อยทั้งจำนวนและชื่อเสียง

การวางแผนการเล่นรูปแบบไหน? การบริหาร-พัฒนาทรัพยากรบุคคลรูปแบบใด? ที่หนุนส่งให้เลสเตอร์ผงาดขึ้นครองแชมป์อย่างพลิกความคาดหมาย

แง่มุมต่อมา เป็นเรื่องของไสยศาสตร์และความเชื่อ

Advertisement

มิได้มีแค่สื่อไทยเท่านั้น ที่มุ่งเป้าความสนใจไปยัง “พระพรหมมังคลาจารย์” (ธงชัย ธัมมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร พระเกจิ/พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีกรรมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าของสโมสรและนักเตะเลสเตอร์หลายครั้งหลายหน

ทว่า สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ก็จับจ้องมาที่ “ผ้ายันต์” ของ “เจ้าคุณธงชัย” เช่นกัน

เมื่อเทพนิยายเลสเตอร์ถือเป็นหนึ่งใน “ความเป็นไปได้” น้อยครั้ง ที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง

วิธีการอธิบายถึง “ความเป็นไปได้” ดังกล่าว ก็ย่อมต้องมีพื้นที่ว่างหลงเหลือให้กับ “สิ่งที่อธิบายไม่ได้” เป็นธรรมดา

อย่างไรก็ดี “เจ้าคุณธงชัย” มิใช่พระผู้ใหญ่รูปเดียว ซึ่งเคยประกอบพิธีกรรมให้เลสเตอร์

เพราะอย่างน้อย ตามที่ปรากฏในข่าว ก็มีพระเถรานุเถระอีกหลายรูป ซึ่งเคยเดินทางไปประกอบพิธีสวดนพเคราะห์ที่สนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม

นอกจากเจ้าคุณธงชัย ยังมี สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร, พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, พระพรหมวิสุทธาจารย์ (มนตรี คณิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์วรวิหาร

พระราชวรเมธาจารย์ (วิชาญ ถิรสิโล) เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี (ธรรมยุต), พระราชสารสุธี (อาชว์ อาชฺชวปเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร, พระสรภาณโกศล (ภานุพงษ์ สมจิตฺโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร และพระครูภาวนาโสภณ (สมพร ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมโสภณ ลพบุรี

(ข่าวยังระบุอีกว่ามีพระสงฆ์ 3 รูป จากวัดพระธรรมกายในอังกฤษ เข้าร่วมพิธีด้วย)

น่าสนใจว่าพระสงฆ์ซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีที่เลสเตอร์ มีทั้งที่สังกัดธรรมยุติกนิกาย (5 รูป) และมหานิกาย (3 รูป)

นอกจากนี้ พระราชาคณะ 7 รูป (มี 3 รูป ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม) ซึ่งไปสวดนพเคราะห์ที่อังกฤษ ยังเป็นพระเถระอายุไม่มาก (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 70 ปี ยกเว้นพระพรหมวิสุทธาจารย์ ซึ่งมีอายุ 75 ปี) จนอาจนับเป็น “กำลัง/เรี่ยวแรงสำคัญ” ของคณะสงฆ์ไทยยุคปัจจุบัน

ภายหลังการคว้าแชมป์ของเลสเตอร์ นักวิเคราะห์บางคนมีแนวโน้มจะแยกขาดปัจจัยเรื่อง “การบริหารจัดการทีมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ออกจากปัจจัยเรื่อง “พิธีกรรมความเชื่อ”

แต่ดีไม่ดี สองปัจจัยนี้อาจมิได้ผิดแผกแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้งยังสามารถทำงานร่วมกันได้

เช่น แม้เราจะพิสูจน์ไม่ได้ว่า พิธีกรรมต่างๆ มีส่วนเกื้อหนุนให้เลสเตอร์โชว์ฟอร์มดีเยี่ยมสม่ำเสมอตลอดฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม หากเรามองว่าการซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลต่างประเทศของกลุ่มทุนไทย ถือเป็นความพยายามในการไขว่คว้าหามาซึ่ง “ความทันสมัย” “ความศิวิไลซ์” หรือ “ที่ยืนในสังคมโลก” ยุคใหม่

การแสดงบทบาทสมทบ (แม้เพียงในเชิงพิธีกรรม) โดยพระเถรานุเถระทั้ง 8 รูป ก็อาจฉายภาพให้เห็นถึงความพยายามของคณะสงฆ์ร่วมสมัย ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับ “โปรเจ็กต์สมัยใหม่” และ “ความปรารถนาทางโลกย์แบบใหม่ๆ” บนสังเวียนฟาดแข้งพรีเมียร์ลีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image