แก้จุดอ่อน เสริมจุดแข็ง’คดี’ในแพทยสภา โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

แพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพ มีหน้าที่ในการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยมีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าต้องมีลักษณะเช่นใด ซึ่งแพทย์ต้องถือปฏิบัติตาม โดยมีการออกข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งสมาชิกต้องปฏิบัติตาม

พ.ศ.2511 คณาจารย์ได้ยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมจากพระราชบัญญัติ “การประกอบศิลปะ” ที่รวมงานด้านการแพทย์สาธารณสุขหลายสาขาไว้ด้วยกัน ต่อมาได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2525 และมีผลบังคับใช้อยู่ถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 34 ปี จึงมีการยกร่างขอแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมให้ทันต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์และกฎหมายอื่นที่มีผลบังคับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยประเด็นหลักคือ การลดขั้นตอนกระบวนการไต่สวน การสอบสวนด้านคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงประกาศแพทยสภาประเด็นสำคัญแล้ว คือ การประกอบวิชาชีพในระดับ “ดีที่สุด” เป็นการประกอบวิชาชีพตามวิสัย พฤติการณ์ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันของสถานพยาบาลที่มีศักยภาพแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนเรื่อง “มาตรฐานวิชาชีพฯ” ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของแพทยสภาที่ต้องควบคุมคุณภาพวิชาชีพ

การมีจริยธรรม และมาตรฐานแห่งวิชาชีพเวชกรรม เป็นหลักประกันเพื่อคุ้มครองประชาชนและรักษาภาพลักษณ์ของสมาชิกแพทยสภา ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่าสี่หมื่นคน รวมถึงสมาชิกใหม่อีกปีละ 2,500 คน ต่อเนื่องที่รอรับความช่วยเหลือดูแลจากแพทย์รุ่นพี่และอาจารย์แพทย์อย่างเป็น “ระบบและสร้างสรรค์” รวมทั้งให้มีการเพิ่มพูนทักษะและศึกษาอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญมีให้เลือกกว่า 80 สาขาวิชาชีพ

“แพทยสภา” มีอำนาจหน้าที่จะต้องพิจารณา “ข้อร้องเรียน” เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับ “คดี” ด้านจริยธรรม พ.ศ.2548 นั้น พบว่า 1.มีการพิจารณาคำร้องเรียนที่ “ล่าช้า” 2.ขั้นตอนการดำเนินการมีความล่าช้า จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจาก (ก.) “ผู้ร้องเรียน” และ (ข.) จากสังคม ว่าองค์กรวิชาชีพทำการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ “แพทย์” ไม่ลงโทษตัดสินให้ “แพทย์ผิด” จนมีการทำคดีฟ้องต่อ “ศาลปกครอง” ซึ่งได้มีการพิพากษาให้แพทยสภาเร่งพิจารณาคำร้องเรียนให้แล้วเสร็จ

Advertisement

จากข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงานด้วยใจเป็นธรรมตามเหตุแห่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วยกระบวนการทางศาสนาคือ “อริยสัจ 4” น่าจะมีต้นเหตุหลายประการ ซึ่งควรแก่การรับฟังและพิจารณาเพื่อการพิจารณา “แก้จุดอ่อน เสริมจุดแข็ง” ของกระบวนการขององค์กรของเราต่อไป แบ่งเหตุ แห่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องเป็น 2 รูปแบบ

1.ปัญหาเกิดจากปัจจัยภายในหน่วยงาน : ประเด็น : กระบวนการที่มีหลายขั้นตอน และกฎหมายมิได้มีกรอบเวลาไว้ทำให้การพิจารณาในบางราย ทำให้เกิดความ “ล่าช้า” มาก : จากรูปแบบและขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2548 : กำหนดวิธีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เกี่ยวข้อง 2 ชุด และนิติกร 1 ชุด 1) คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพจำนวน 20 ชุด 2) คณะอนุกรรมการสอบสวน 9 ชุด (แต่ละชุดมีอนุกรรมการซึ่งเป็นแพทย์จำนวน 6-8 คน) 3) มี “นิติกร” ปฏิบัติหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยเลขานุการประจำ” ชุดละ 1 คน

มีหน้าที่ : ก) ในการตรวจสอบเอกสารก่อนการประชุม ข) ออกหนังสือธุรการในการเรียกเอกสาร ค)ติดต่อประสานงานเชิญผู้ร้องเรียนประชุม ง) สรุปประเด็นเอกสารก่อนการประชุม จ) จัดทำบันทึกรายงานการประชุมและจัดทำสรุปรายงานและความเห็น หรือสรุปจำนวนการสอบสวน เพื่อให้คณะกรรมการแพทยสภาทำการพิจารณา “ลงมติ”

Advertisement

ในฝ่าย “จริยธรรมและกฎหมาย” มี “นิติกร” ปฏิบัติหน้าที่ 9 คน ซึ่งนิติกร 1 คน ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 3-4 ชุด ทำให้การปฏิบัติงานด้านเอกสารมีความล่าช้า เนื่องจากคณะอนุกรรมการแต่ละชุดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง มีการสั่งการเพื่อติดตามเอกสารทางการแพทย์ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ทำให้บางช่วงเวลา “ไม่สามารถ” ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ หรืออาจมี “ข้อบกพร่อง” ในการติดตามเรื่องหรือข้อมูลต่างๆ ตามที่อนุกรรมการได้ประชุมมีมติให้ดำเนินการ มี 4 ปัจจัย คือ

1.1 มีเรื่องร้องเรียนค้างพิจารณาอยู่ในกระบวนการของแพทยสภา ตามข้อมูลรายงานประจำเดือนของแพทยสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2559 วาระ 3.2 สรุปการดำเนินงานฝ่ายจริยธรรม (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559) สรุปเรื่องร้องเรียนอยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจริยธรรมและสอบสวนด้านจริยธรรม 478 เรื่อง สอบสวน 154 เรื่อง รอความเห็นราชวิทยาลัย : อนุกรรมการจริยธรรม/สอบสวน 75 เรื่อง 2.2) เรื่องฟ้องร้องแพทยสภาใน “คดีศาลปกครอง” อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 58 คดี ศาลปกครองกลาง 52 คดี ศาลปกครองเชียงใหม่ 1 คดี ศาลปกครองนครศรีธรรมราช 1 คดี ศาลปกครองระยอง 1 คดี ศาลปกครองนครราชสีมา 1 คดี ศาลปกครองสูงสุด 2 คดี

1.2 คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเป็น “แพทย์” นั้นอาจมีความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาทาง “ปกครอง” หรือ “ระเบียบวิธีการปกครองที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อกฎหมาย” เช่น เรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างคู่กรณีกับเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณา ก่อนการพิจารณาควรจะมีการแสดงตนว่า มิได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ “คู่กรณี” แต่ปรากฏว่าในการเริ่มกระบวนการ ไม่มีการปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อมีการพิจารณาร้องเรียนไปบางส่วนแล้วเกิดปัญหาถูกโต้แย้งคัดค้าน เป็นสาเหตุทำให้ต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มออกไป

1.3 กรณีกระบวนการพิจารณาในขั้นจริยธรรม (ทำการแสวงหาข้อเท็จจริง) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในข้อ 35 ถึงข้อ 44 ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยปี พ.ศ.2548 ที่มีกระบวนการชัดเจนเมื่อส่งเรื่องเสนอ “คณะกรรมการแพทยสภา” แล้วมีมติว่าเป็นกรณี “คดีมีมูล” ต้องทำเรื่องส่งให้ “คณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวน” ซึ่งกระบวนการขั้นสอบสวนกำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้ในข้อ 45 ถึงข้อ 55 ซึ่งในกระบวนการนี้มีการ “ซับซ้อน” กับการดำเนินการในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

การแจ้ง “ประเด็น” ความผิดให้ผู้ถูกร้องเรียนทราบ เพื่อชี้แจง เชิญผู้ร้องเรียนมาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการสอบสวน แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากพยานบุคคล ตลอดจนการขอความเห็นจาก… “ราชวิทยาลัย” เฉพาะทางในเรื่องที่มีการร้องเรียนนั้น…

กระบวนการและความเห็นบางส่วน ได้มีการดำเนินการและพิจารณาแล้ว ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกในระยะเวลา 6-12 เดือน ตามช่องระยะเวลาของการประชุมของคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อ “พิจารณาและมีมติ” ให้เจ้าหน้าที่ประจำชุด ดำเนินการทางธุรการ เพื่อเรียกเอกสารเชิญบุคคลมาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการในส่วนนี้ เป็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการภายในของหน่วยงานที่กระบวนการตามอำนาจหน้าที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินมีความ “ซับซ้อน” ในบางตอนไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจริยธรรมและคณะอนุกรรมการสอบสวน ประกอบกับมีแนวคิด แนวทาง และความเข้าใจข้อกฎหมายมีความแตกต่างกัน ตามความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการแต่ละชุด

1.4 ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2548 มิได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินแต่ละขั้นตอนไว้ ทำให้การพิจารณาของคณะอนุกรรมการแต่ละชุดแตกต่างกัน หากแม้ถ้าเราพิจารณาดูว่าพระราชบัญญัติทางการปกครอง พ.ศ.2539 ของศาลปกครองได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการพิจารณาทางปกครองไว้

แต่ทางคณะอนุกรรมการแพทยสภามิได้ทำมาเป็นแนวทางการดำเนินพิจารณาแต่อย่างใด โดยยึดถือข้อบังคับแพทยสภา ปี 2548 เท่านั้น

2.ปัจจัยภายนอกหน่วยงาน : มี 2 ปัจจัย คือ

2.1ในกระบวนการพิจารณา “คำร้อง” ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กระบวนการมีความซับซ้อน ตลอดจนมิได้นำข้อกฎหมายนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงปัญหาการขอข้อมูลผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประวัติการรักษา เวชระเบียน ฟิล์มเอกซเรย์ ผลการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กรณีผู้ป่วยได้รับการตรวจจากแพทย์ท่านเดียว จะเรียกหาข้อมูลง่าย กรณีแพทย์มีการรักษามากกว่า 1 คน หรือรักษาที่มีการส่งต่อมีมากกว่า 1 แห่ง ยิ่งยุ่งยาก ทำให้เกิดปัญหาการแจ้งเรียกเอกสาร คำชี้แจ้งขั้นตอนการดูแลรักษา ทั้งที่มีการเปิดเผยนี้เป็นการเปิดเผยให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องโดยเฉพาะ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการขอเอกสารหลักฐานมาประกอบการพิจารณา ซึ่งเอกสารบางรายเป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องพิสูจน์ได้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ถูกเรียกร้องนั้นได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเหมาะสมตามมาตรฐานหรือไม่ อย่างไร?…

2.2 ปัญหาการรับเอกสารในหน่วยงานนำส่งให้กับ “ราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทาง” ที่จะให้ข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวกับมาตรฐานของการดูแลรักษาผู้ป่วยว่าถูกต้องหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่? ซึ่งในแต่ละข้อร้องเรียนอาจจำเป็นต้องขอข้อวินิจฉัยจากหลายราชวิทยาลัย เช่น ผู้ป่วยมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ระหว่างคลอดมีปัญหาการคลอดติดไหล่ แต่แพทย์ทำคลอดสำเร็จ แต่ทารกที่คลอดมี “ปัญหา” ขาดออกซิเจน (Asphyxia) ชั่วขณะหนึ่ง ต้องได้รับการดูแลโดย “กุมารแพทย์” ต่อมามารดามีอาการตกเลือดมาก รวมทั้งมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คณะอนุกรรมการต้องสืบหลักฐานการรักษาให้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย (เรื่องการคลอด) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (เรื่องการดูแลเด็ก) ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย (เรื่องการระงับความรู้สึก) และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (เรื่องอาการแทรกซ้อนในมารดา) ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาของแต่ละ “ราชวิทยาลัย” ใช้เวลาแตกต่างกันไปตามขั้นตอนของการพิจารณา ที่ผ่านมามีปัญหาที่จะต้องรอข้อวินิจฉัยของ “ราชวิทยาลัย” บางแห่งเป็นระยะ 3-6 เดือน จึงทำให้เกิดความล่าช้า

ประเด็นการศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลปกครอง : จากแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำ 0105/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ 466/2554 ซึ่งศาลพิเคราะห์ว่า ศาลปกครองขั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการกระทำผิดของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและให้สิทธิผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิกล่าวหา หรือกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติจริยธรรมแห่งวิชาชีพได้ โดยยื่นเรื่องต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แม้ในพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และข้อบัญญัติแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2548 จะมิได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการพิจารณาคดีจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้ก็ตาม

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และคณะอนุกรรมการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร

ซึ่งปัญหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ควรพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าใดนั้น เมื่อได้เทียบเคียงจากระยะเวลาชั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครอง ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539

กล่าวคือ ระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง ซึ่งไม่เกินสามสิบวันตามมาตรา 45 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมถึงระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ โดยผู้มีอำนาจจะพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งไม่เกินหกสิบวันตามมาตรา 45 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน

รวมระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองทั้งสิ้น “ไม่เกินเก้าสิบวัน” นับตั้งแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์นั้นแล้ว

จากการประมวลประเด็นต่างๆ…ผู้เขียนเห็นว่าข้อเสนอเพื่อพิจารณาของ “นายศุภวัฒน์ โพธิ์ทอง” รหัสนักศึกษา 5701070523 จากการรายงานการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน รุ่น 16 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนวทางแก้ไข ทั้งในเรื่องการตรวจสอบกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้กระบวนการรัดกุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มี 7 แนวทาง ดังนี้ :

(1) จัดระบบงานภายในหน่วยงานให้มีความชัดเจน เพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ (นิติกร) พร้อมทั้งให้ได้รับการอบรมหรือเข้าศึกษาในหลักสูตรทางกฎหมายมหาชนที่สามารถพัฒนาศักยภาพและนำไปปฏิบัติหน้าที่ได้

(2) ให้มีการรายงานการดำเนินการของคณะอนุกรรมการจริยธรรม และคณะอนุกรรมการสอบสวนทุกชุดต่อคณะกรรมการแพทยสภาเป็นประจำทุกๆ 2 เดือน เพื่อรับทราบปัญหา ข้อขัดข้องในการพิจารณา และหาแนวทางแก้ไขปัญหาทันที

(3) จัดให้มีการสัมมนา อบรมให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายปกครองและกระบวนการทางปกครองจากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

(4) กำหนดรูปแบบการพิจารณาให้ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องหลักการนำเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาปรับใช้กับกระบวนในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ควบคู่ไปกับการพิจารณาตามข้อบังคับสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2548

(5) ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพิ่มขึ้นกับบุคคล หรือหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามการแจ้ง การเรียกเอกสารมาตรวจสอบ หรือปฏิเสธการเชิญพยานบุคคลมาชี้แจงและให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการจริยธรรมและคณะอนุกรรมการสอบสวน

(6) จัดให้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียน เช่น ราชวิทยาลัยแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบ

(7) มีการแก้ไขและปรับปรุงข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2548 ให้มีความชัดเจนในประเด็นเรื่องระยะเวลาของการดำเนินการแต่ละขั้นตอนว่าควรมีระยะเวลาอันสมควรอย่างไร เพื่อควบคุมให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนอยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม

ผู้เขียนรวมทั้งสมาชิกแพทยสภาทั้งมวล คงเห็นด้วยที่ควรร่วมด้วยช่วยกันปรับปรุงแก้ไขประเด็น 7 ข้อดังกล่าว ประสานสร้างเอกภาพให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้การดำเนินงานทาง “วิชาชีพแพทย์” อันเป็นอาชีพที่สมเด็จพระราชบิดาของเรา มีพระราชดำรัส “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ 2 ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง” ทำงานให้ได้บรรลุด้วยความเป็นมืออาชีพของวิชาชีพ “แพทย์” ด้วยวิญญาณผู้เสียสละ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ให้กับ “มวลมนุษย์” โดยไม่เลือกยากดีมีจน สูงศักดิ์ต่ำต้อย เป็นยาจกวณิพกก็ตาม สมัยก่อนรักษาผู้ป่วยหาย เขาจะเอากล้วย 2-3 หวี มาฝากให้หมอ เราหมู่แพทย์ก็ดีใจ รวมทั้งใจของคนไข้ด้วย เราหมู่แพทย์เองด้วยหน้าที่ต้องดูแลรักษาให้เขาหายจากทุกข์โศกโรคภัยโดยเร็ว มีสุขภาพสมบูรณ์ หากได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ตามข้อเสนอของ “นิติกร” ผู้เกี่ยวข้องด้วยใจเชิงธรรม ซึ่งเรามีเครื่องมือ 2-3 ชิ้น ที่เกี่ยวข้องกับ “จริยธรรม” คือ (1) พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 (2) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2548 (3) การปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ตามกรอบของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการการปกครอง พ.ศ.2539 น่าจะก่อประโยชน์ในภาพรวม

หากพิจารณาด้วยวิจารณญาณที่ดี ด้วยสติปัญญา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งสองฝ่ายคือ “แพทย์” ผู้ใจบุญ มีคุณธรรม กับ “ผู้ป่วย” ผู้มีทุกข์ (และญาติ) ได้เข้าใจตรงกันอย่างถูกต้อง เชื่อมั่น จริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน ยอมรับให้เกียรติ ให้อภัยซึ่งกันและกัน ดูแลรักษาอย่างญาติพี่น้องที่มีประสิทธิภาพ ประเด็นการร้องเรียนฟ้องร้องจะน้อยลงหรือหมดไป เพราะ “เราเข้าใจซึ่งกันและกัน” ว่า “หน้าที่” คือ “ธรรมะ” เป็นการ “แก้จุดอ่อน เสริมจุดแข็ง” ของแพทยสภา ให้ก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า ก็จะเป็นที่ “ศรัทธา” ของประชาชนได้อย่างแน่นอนนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image