เมื่อนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ถูกไล่ออกจากรัฐสภา : ที่ใครที่มัน โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ อภิปรายในรัฐสภา

ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เป็นเกาะมีเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทยแต่มีประชากรเพียงสี่ล้านห้าแสนคน (น้อยกว่าประชากรของกรุงเทพฯเสียอีก) แต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ทางซีกโลกใต้นิวซีแลนด์ในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษและเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เป็นรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีคล้ายกับรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ

สำหรับการเมืองการปกครองของนิวซีแลนด์ก็เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (คล้ายประเทศไทยที่ปกครองแบบรัฐสภาแต่ประเทศไทยไม่ใช่ประชาธิปไตย)

ครับ ! ในหลักรัฐศาสตร์นั้น Politics แปลว่าการเมือง และ Government แปลว่าการปกครอง ดังนั้น การปกครองก็คือรัฐบาลนั่นเองโดยรัฐบาลทำหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) โดยอำนาจในการตรากฎหมายก็เป็นของฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภานั่นเอง ส่วนอำนาจการรักษากฎหมายหรือเอากฎหมายไปบังคับใช้ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีและอำนาจในการตัดสินกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นหน้าที่ของศาลหรือฝ่ายตุลาการโดยอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชนและประชาชนต้องเลือกตั้งรัฐบาลมาใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนจึงจะเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

คราวนี้มาพูดถึงรูปแบบของรัฐบาลในโลกนี้โดยทั่วไปก็มี 3 แบบใหญ่ๆ เท่านั้น

Advertisement

1) รัฐบาลแบบรัฐสภา (Parliamentary Government) คือประชาชนเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเข้ามาและสมาชิกรัฐสภาก็มาเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอีกทีหนึ่งซึ่งหากสมาชิกส่วนใหญ่เกิดไม่พอใจนายกรัฐมนตรีเมื่อไรก็สามารถลงคะแนนเสียงปลดนายกรัฐมนตรีได้ทุกเมื่อโดยไม่มีความผิดเพียงแต่ไม่ไว้วางใจเท่านั้น รัฐบาลแบบรัฐสภานี้รัฐสภาคือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดเพราะรัฐสภาเลือกและปลดฝ่ายบริหารได้ ประเทศในโลกส่วนใหญ่มีรัฐบาลแบบรัฐสภา และถือว่าอังกฤษเป็นต้นแบบของรัฐบาลแบบรัฐสภานัยว่ารัฐสภานั่นแหละใหญ่ที่สุดในบรรดา 3 อำนาจของอำนาจอธิปไตยนั่นเอง

2) รัฐบาลแบบประธานาธิบดี (Presidential Government) จุดเด่นคือการคานอำนาจระหว่าง 3 อำนาจของอำนาจอธิปไตยเพราะคนอเมริกันผู้เป็นต้นแบบของรัฐบาลแบบนี้เชื่อว่า “อำนาจเป็นของแปลกเมื่อผู้ใดมีอำนาจมากๆ นานๆ แล้วจะบ้าอำนาจทุกคน” แต่โดยนัยแล้วรัฐบาลแบบประธานาธิบดีนี้ประธานาธิบดีจะใหญ่กว่าฝ่ายรัฐสภาเพราะประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศและประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจเต็มทางการบริหารแต่ผู้เดียวและได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาเช่นเดียวกันกับสมาชิกของรัฐสภาที่มีจำนวนร่วม 500 คน ซึ่งการจะทำอะไรนั้นประธานาธิบดีสามารถตัดสินใจดำเนินการได้ทันทีแต่เพียงผู้เดียวส่วนทางฝ่ายรัฐสภาต้องมีการประชุมกันลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากหรือคะแนนเสียงสองในสามจึงจะดำเนินการได้ ดังนั้น จึงต้องจำกัดเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของคนคนหนึ่งไม่ให้เกิน 2 สมัยหรือ 8 ปี

3) รัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดี (Semi-Presidential Government) รัฐบาลแบบนี้ฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงแล้วประธานาธิบดีก็แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอีกทีหนึ่งและนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประธานาธิบดีแบบว่านายกรัฐมนตรีต้องเหนื่อยหนักแหละครับแต่ก็ได้ตำแหน่งมาจากการแต่งตั้งนี่ครับ

Advertisement
ประธานรัฐสภายืนขึ้นและไล่นายกรัฐมนตรี
ประธานรัฐสภายืนขึ้นและไล่นายกรัฐมนตรี

ที่เล่าเรื่องรัฐบาลชนิดต่างๆ มาเสียยืดยาวก็เพื่อที่จะเชื่อมเรื่องที่โปรยหัวเรื่องไว้คือ “เมื่อนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ถูกไล่ออกจากรัฐสภา : ที่ใครที่มัน” กล่าวคือนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์คนปัจจุบันคือนายจอห์น คีย์ ได้อภิปรายโต้ตอบอย่างดุเดือดกับผู้นำฝ่ายค้านในที่ประชุมรัฐสภาเกี่ยวกับเอกสารเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษีที่ชื่อว่าปานามาเปเปอร์ส และนายจอห์น คีย์ ได้ถูกตักเตือนมาหลายครั้งจากนายเดวิด คาร์เตอร์ ประธานรัฐสภา ว่าไม่ทำตามคำสั่งของประธานรัฐสภาเนื่องจากประธานรัฐสภาต้องควบคุมการอภิปรายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยจนกระทั่งประธานรัฐสภาต้องใช้อำนาจยืนขึ้นไล่นายกรัฐมนตรีออกจากที่ประชุมสภา โดยระบุว่านายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ เพิกเฉยต่อคำตักเตือนมาหลายครั้ง จึงต้องได้รับการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างจากสมาชิกนิติบัญญัติคนอื่นๆ ในรัฐสภา

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายคีย์ถูกไล่ออกจากที่ประชุมของรัฐสภาเพราะบันทึกการประชุมสภาแสดงให้เห็นว่าเขาเคยถูกไล่ออกจากที่ประชุมสภามาแล้ว 3 ครั้งขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส. และเขาก็ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกไล่ออกจากที่ประชุมสภา ก่อนหน้านั้นอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด แลงจ์ ก็ถูกไล่ออกจากที่ประชุมสภามาสองครั้งเมื่อปี 2529 และ 2530 ต่อมาอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเฮเลน คลาร์ก ก็เคยถูกไล่ออกจากที่ประชุมสภาในปี 2548

นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ ออกไปจากรัฐสภา
นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ ออกไปจากรัฐสภา

ครับ ! ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเขาถือเรื่องกฎระเบียบกติกาเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องสำคัญทุกคนต้องปฏิบัติตามเพราะประชาธิปไตยต้องตั้งอยู่บนกฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาของประชาธิปไตยจึงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับประเทศที่ปกครองด้วยการรัฐประหารแล้วจะเรียกร้องให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายก็คงลำบากเพราะการทำรัฐประหารก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างแจ้งชัดอยู่แล้วนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image