รวันดาจะเป็นสิงคโปร์แห่งทวีปแอฟริกา โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

รวันดา (Republic of Rwanda) เป็นประเทศเล็กๆ ที่อยู่ทางระหว่างตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา มีประชากรร่วมๆ 8 ล้านคน รวันดาเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีอาณาเขตติดต่อกับยูกันดาทางตอนเหนือ บุรุนดีทางตอนใต้ คองโกทางตะวันตกเฉียงเหนือมาจนถึงตะวันตก และแทนซาเนียที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ไล่ขึ้นมาถึงทางตะวันออก รวันดามีลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาที่อุดมสมบูรณ์ รวันดาเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา เศรษฐกิจของรวันดาล้วนมาจากการเกษตรกรรม แต่เกือบทั้งหมดเป็นเกษตรกรรมเพื่อการเลี้ยงชีพ มิใช่เพื่อการค้า ในปัจจุบันที่ความหนาแน่นและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่คุณภาพดินที่เสื่อมลงและสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนทำให้รวันดาเป็นประเทศที่มีปัญหาร้ายแรงด้านการขาดสารอาหารของประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมถึงประสบกับปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง

ประเทศรวันดาเป็นที่รู้จักของชาวโลกคือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีในปี พ.ศ.2537 ซึ่งส่งผลให้ชาวรวันดาเกือบล้านคนต้องเสียชีวิตไป ซึ่งปัญหาของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้มีรากเหง้ามาจากการล่าอาณานิคมของชาวยุโรปที่ขีดเส้นเขตแดนแบ่งประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาตามอำเภอใจบนโต๊ะเจรจาของการประชุมใหญ่ที่กรุงเบอร์ลิน (The Berlin Conference of 1884-85) โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้นเลย โดยเยอรมนีได้ดินแดนรวันดาไปจากการประชุมใหญ่ที่กรุงเบอร์ลินและดินแดนรวันดานี้ประกอบด้วยชนเผ่า 3 ชนเผ่าใหญ่ๆ

 

1) เผ่าทวา หรือที่เรียกว่าพวกปิ๊กมี่ พวกนี้โดยทั่วไปจะตัวเตี้ยเล็กมักถูกรังแกจากชนเผ่าอื่นเสมอ

Advertisement

2) เผ่าฮูตู เป็นประชากรส่วนใหญ่ของรวันดา ส่วนมากทำการเพาะปลูก

3) เผ่าทุตซี เป็นประชากรที่มีมากรองจากเผ่าฮูตู มีรูปร่างสูงใหญ่ มักมีอาชีพเลี้ยงสัตว์

เบลเยียมเข้ามาปกครองและตักตวงผลประโยชน์ไปจากรวันดาต่อจากเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และจัดการบริหารรวันดาตามแบบนักล่าอาณานิคมชาวยุโรปปฏิบัติเป็นแบบแผนคือ “แบ่งแยกแล้วปกครอง -divide and rule มาจากภาษาละติน divide et impera” โดยทางเบลเยียมยกให้พวกทุตซีเป็นใหญ่กว่าพวกฮูตูทำหน้าที่เป็นมือรองในการปกครองรวันดาเพื่อผลประโยชน์ของเบลเยียมนั่นเอง

Advertisement

เมื่อเบลเยียมจำต้องให้เอกราชแก่รวันดาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวฮูตูได้ลุกฮือขึ้นฆ่าฟันและขับไล่ชาวทุตซีออกไปจากรวันดาและประกาศเอกราชทำให้ชาวทุตซีต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กชายอายุ 2 ขวบ ชื่อพอล คากาเม ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศยูกันดาและเติบโตขึ้นเป็นนายทหารคนสำคัญของกองทัพยูกันดาที่โค่นล้มจอมเผด็จการอิดี้ อามิน ต่อมาพอล คากาเม ได้ไปศึกษาต่อทางการทหารที่ Fort Leavenworth และได้นำทัพชาวทุตซีพลัดถิ่นกลับไปเปิดฉากสงครามกลางเมืองในรวันดาใน พ.ศ.2533 เป็นสาเหตุให้เกิด การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีโดยชาวฮูตูในเดือนเมษายน พ.ศ.2537

แต่ในที่สุดพอล คากาเม และกองทัพทุตซีก็ได้รับชัยชนะในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้นเอง

(ภาพซ้าย) 3 ชนเผ่าของรวันดา (ภาพขวาบน) การปลุกระดมของชาวฮูตูเพื่อไปฆ่าชาวทุตซี (ภาพขวาล่าง) ประธานาธิบดีพอล คากาเม อดีตชาวทุตซีลี้ภัย
(ภาพซ้าย) 3 ชนเผ่าของรวันดา (ภาพขวาบน) การปลุกระดมของชาวฮูตูเพื่อไปฆ่าชาวทุตซี (ภาพขวาล่าง) ประธานาธิบดีพอล คากาเม อดีตชาวทุตซีลี้ภัย

ครับ! ท่ามกลางความพินาศฉิบหายของรวันดาเมื่อ 22 ปีมาแล้ว แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำเยี่ยงประธานาธิบดีพอล คากาเม ที่ได้ดำเนินการแปลงประเทศเกษตรกรรมล้าหลังอย่างรวันดาให้กลายเป็นสิงคโปร์แห่งทวีปแอฟริกาได้อย่างน่าพิศวง

วิสัยทัศน์สำหรับรวันดาคือการทำให้รวันดาที่เป็นประเทศด้อยพัฒนาและยากจนขึ้นเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง-middle-income” ภายใน พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ด้วยวิธีการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ภายในเวลา 20 ปี ซึ่งนับตั้งแต่ พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน (16 ปี) ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลรวันดาจะใช้นวัตกรรมของเทคโนโลยีมาช่วยภาคอุตสาหกรรมจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว โดยทำให้เศรษฐกิจของรวันดาขยายตัวปีละ 7.5% มาทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2543 เป็นต้นมารวมเวลา 16 ปีติดต่อกัน

รัฐบาลรวันดาได้ติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตชนิดไฟเบอร์ ออปติก ความเร็วสูงทั่วประเทศเสร็จสิ้นไปแล้ว ในขณะที่การให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายยุค 4G LTE ก็ขยายออกไปครึ่งประเทศแล้ว ซึ่งคาดว่าใน พ.ศ.2560 ก็จะขยายออกไปได้เต็มพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้รวันดาถูกจัดเป็นประเทศอันดับที่ 11 ใน 51 ประเทศที่มีบริการอินเตอร์เน็ตแก่ประชาชนทั่วประเทศในราคาถูก

และรวันดาได้ประกาศให้เมืองหลวงคิกาลีเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมโดยจะเชิญบริษัททางด้านดิจิตอลเทคโนโลยีจากนานาประเทศมาช่วยแปลงเมืองคิกาลีให้เป็นเมืองดิจิตอลให้ได้ ซึ่งกำลังสำคัญทางด้านการศึกษาอบรมชาวรวันดาคือมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในโลกในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้เปิดสาขาของมหาวิทยาลัยในรวันดาและวิศวกรชาวรวันดารุ่นแรกจากสถาบันนี้ก็จะจบออกมาทำงานได้ในปีนี้เอง

นอกจากนี้รวันดายังดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังอันเป็นการนำรายได้มาสู่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาลโดยเน้นจุดการนำเที่ยวในแหล่งกอลิลาภูเขามี่ยังหลงเหลืออยู่ในรวันดาในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมปีนี้ ทางการรวันดาได้เปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าจากสารเคมีมีเทนที่มีขึ้นจากธรรมชาติที่รั่วมาจากภูเขาไฟสู่ทะเลสาบคิวูเป็นผลสำเร็จแห่งแรกในโลก

ครับ! ความเจริญก้าวหน้าของรวันดานั้นเกิดจากวิสัยทัศน์ที่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนพร้อมทั้งมีวิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์นั้นด้วย ซึ่งนับเป็นบทเรียนสำหรับประเทศหลายประเทศที่มีเพียงวิสัยทัศน์อันสวยหรูเพ้อฝันและไม่ได้กำหนดเวลาและวิธีการที่ชัดเจนอย่างที่เห็นอยู่ทั่วไปในหน่วยงานราชการทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image