มองประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์(แฟ้มภาพ)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวขึ้นในการประชุมเรื่อง “ธุรกิจไทย ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งว่า

“เพราะโลกตอนนี้ไม่หยุดนิ่ง ด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ 20 ปีก่อน ทั่วโลกมีอินเตอร์เน็ตใช้เพียง 1% ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งหรือ 3,400 ล้านคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้แล้ว สำหรับประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มจาก 6 ล้านคน เป็น 39 ล้านคน”

จากข้อเท็จจริงเรื่องการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนี่น่าจะบอกอะไรเกี่ยวกับเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น เพราะในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 (24 ปีที่แล้ว) ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ ด้วยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ในอดีต ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในครั้งนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ม็อบมือถือ” และโทรศัพท์มือถือที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นคือ Nokia 1011 หรือรู้จักกันในชื่อ Mobira Cityman 2000 โทรศัพท์มือถือยอดนิยมกับฟังก์ชั่น

การใช้งาน GSM โดยเปิดตัวเมื่อปี พ.ศ.2535 กลายเป็นรุ่นแรกของโลกไปในทันทีกับยอดขายถล่มทลายจากทั่วโลก ราคาขายในประเทศไทยขณะนั้นประมาณเครื่องละ 80,000 บาท

Advertisement

หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นแทนรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2534 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานร่างขึ้นมาตามคำสั่งของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่มีพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นประธานและรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้คือรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ริเริ่มขึ้นโดยพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเข้ามาดำเนินการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คน โดย 76 คนเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด และอีก 23 คนมาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งฉบับเดียวของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ 15 ฉบับ มาจากคณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งหรือรัฐบาลทหาร รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่าง

ครับ ! นั่นคือเหตุการณ์ในอดีตของประเทศไทยที่ผ่านมา 24 ปี และ 19 ปีตามลำดับ จึงอยากจะย้ำคำพูดของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ชี้ให้เห็นว่า “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ 20 ปีก่อน ทั่วโลกมีอินเตอร์เน็ตใช้เพียง 1% ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งหรือ 3,400 ล้านคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้แล้ว สำหรับประเทศไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มจาก 6 ล้านคน เป็น 39 ล้านคน” และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อ 24 ปีที่แล้วมานั้นผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในครั้งนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ม็อบมือถือ”

แต่ปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2559) โทรศัพท์มือถือได้พัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนซึ่งก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือนั่นเอง ดังนั้น ผู้คนจึงเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีราคาถูกลงกว่าโทรศัพท์มือถือยุคพฤษภาทมิฬเป็นอย่างมาก อินเตอร์เน็ตทำเอาการสื่อสารแบบเก่า เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่การรัฐประหารสามารถควบคุมได้หมดความหมายไปเสียแล้ว รัฐบาลเผด็จการไม่สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตได้อีกต่อไป ดังนั้น การให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวจึงเป็นไปไม่ได้ หากถือเอาพฤษภาทมิฬเป็นบทเรียนจะเห็นได้ว่าโทรศัพท์มือถือซึ่งล้าสมัยในปัจจุบันสามารถทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้ ดังนั้น สมาร์ทโฟนที่มีอยู่ทั่วไปตอนนี้ก็สามารถระดมแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ในทุกมิติเช่นเดียวกัน

Advertisement

การลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งในยุคของสมาร์ทโฟนเช่นทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image