ท่ามกลางแรงกดดัน โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ความพยายามที่จะทำให้เห็นว่าการบริหารเศรษฐกิจของประเทศจะทำให้ประชาชนมีความหวังในความรุ่งเรืองเริ่มอ่อนแรงลง แม้ไม่ออกมายอมรับกันเต็มร้อยว่าปัญหาปากท้องของประชาชนนับวันจะน่ากังวลขึ้น แต่การตอบโต้ในเรื่องตัวชี้วัดฐานะของประเทศเริ่มเงียบๆ ลง เรียกว่าแทบจะปล่อยให้ความเป็นจริงของ “การลงทุน-การส่งออก” และ “การไม่ขยับมากนักของการลงทุนภาครัฐ” ไหลสู่ความรับรู้ของประชาชนโดยไม่สกัดกั้นดั่งที่เคยเป็นมา

เหมือนจะปล่อยให้ประชาชนยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งก็อาจจะดีกว่าในเรื่องของการปรับตัวยอมรับสภาพ แทนที่จะหวังลมๆ แล้งๆ กับความหวังที่เลื่อนลอย

ในทางการเมือง “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” กำลังเป็น “สมรภูมิสำคัญที่จะวัดพลังกัน” ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “นักการเมืองที่จะต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน” แม้จะมีการยืนยันหนักแน่นว่า “ประชามติ” ต้องมีแน่นอน แต่ยังมีเสียงกระซิบทั้งที่เกิดจากการอ้างแหล่งข่าวจากศูนย์กลางอำนาจ และการวิเคราะห์ประเมินข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกมาทำนอง “ที่สุดแล้วจะไม่มีประชามติ”

เพราะ “เสี่ยงที่จะไม่ผ่านสูงยิ่ง”

Advertisement

มีบางเหตุการณ์ที่นักวิเคราะห์ชี้ชวนให้จับตา ไม่ว่าจะเป็น “แรงบีบให้จัดการกับธรรมกายให้เด็ดขาด” โดยฉพาะ “จากกลุ่มที่เคยสนับสนุนผู้มีอำนาจ” ทั้งที่รู้ว่าการฝ่าด่าน “ผู้ปฏิบัติธรรม” ไปถึง “ธัมมชโย” นั้นเสี่ยงต่อการต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งจะกระทบต่อภาพของสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอยู่แล้วอย่างสูงยิ่ง

แต่เรื่องที่อ่อนไหวอย่างยิ่งต่อคำถามเรื่องความชอบธรรมในการใช้อำนาจนี้ กลับเป็นเรื่องที่ “คนเคยชอบ” กันกลับใช้เป็นแรงบีบที่ให้ผู้กุมอำนาจรัฐปฏิบัติการ

การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกในเรื่อง “โยกย้ายตำรวจ” ที่ชี้ให้เห็นความพิกลพิการของการจัดการ ไม่ได้เกิดจากฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามรัฐบาลมาก่อน แต่เป็นแรงกดดันที่ขับเคลื่อนโดยคนกลุ่มที่เคยเป็นแนวร่วมสำคัญ ปฏิบัติการมาด้วยกัน เหมือนกับว่า “ไม่อยากจะยืนอยู่ข้างเดียวกันแล้ว”

Advertisement

เช่นเดียวกัน “นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งน่าจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการวางโครงสร้างอำนาจในอนาคต กลับขยับความเคลื่อนไหวไปอีกทาง ทำท่าเหมือนกับรับไม่ได้กับโครงสร้างใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญ

คล้ายกับว่าหวั่นไหวถึงหลักประกันในการเข้าร่วมอำนาจในอนาคต

ทุกเรื่องราวเหล่านี้ล้วนหันปลายหอกไปตั้งคำถามกับ “อำนาจปัจจุบัน”

กระทั่งอารมณ์ประจำวันของผู้นำเหมือนจะยังหาทางที่จะดีขึ้นอย่างที่ตั้งใจไว้ไม่ได้

ที่น่าสนใจอยู่ที่ช่วงหลังมานี้ท่าทีของ “นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย” เริ่มที่จะ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มากขึ้น ทั้งในเชิงสาระและประด็นที่ตอบโต้ โจมตี และปริมาณอันหมายถึง “จำนวนขุนพล” ที่ออกมาปฏิบัติการ ไม่มีเพียง “พิชัย นริพทะพันธุ์-วัฒนา เมืองสุข-จาตุรนต์ ฉายแสง” อีกแล้ว แต่คนอื่นๆ ชักแถวเรียกหน้ากันออกมาพร้อมเผชิญกันเป็นแถว

แม้ “ปรับทัศนคติ” ยังมีอยู่ ท่าทีการใช้อำนาจยังดูเกรี้ยวกราด แต่คล้ายกับว่าสภาวะ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” กำลังเกิดขึ้น

ที่สำคัญคือ ขยายไปถึงความเคลื่อนไหวของ “แกนนำ นปช.” ที่แหลมคมยิ่ง

เรื่องเหล่านี้หากมองเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร

แต่หากมองอย่างพินิจ อาจจะมองเห็นการประสานพลังของแนวร่วมต่างฝ่าย คล้ายกับว่าหยุดที่จะเผชิญหน้ากันเอง กลับหันเข้าใส่ “ผู้คุมอำนาจ” ที่ยืนอยู่ตรงกลาง

ความน่าสนใจอยู่ที่สถานการณ์ที่คล้ายกับการผนึกกำลังต่างฝ่ายให้พุ่งไปทิศทางเดียวกันนี้

เกิดจากแรงบีบอัดทางธรรมชาติที่ก่อปัจจัยให้นำสถานการณ์ไปเช่นนั้น

หรือเกิดจากการสบตาอย่างรู้กันโดยไม่ต้องพูดต้องจา ของ “ต่างฝ่าย” นั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image