เมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในสาขาการพัฒนาเมือง มีเรื่องหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอๆ ก็คือเรื่องของการนำเข้าแนวคิดและปฏิบัติการในด้านการเปลี่ยนแปลงเมืองเข้ามาใช้ในบ้านเรา แต่ด้วยว่าการศึกษาการพัฒนาเมืองไม่ค่อยได้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อย่างเป็นระบบกับแนวคิดทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่เกี่ยวพันกับเทคนิควิธีและงบประมาณในการก่อสร้างจริงและกับหน่วยงานที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงเมืองจากเบื้องบนมากกว่าจากเบื้องล่าง ดังนั้นเราจึงต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดเมื่อนำเข้าแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงเมืองมาใช้ในสังคมไทย

ไม่เช่นนั้นเราจะเปลี่ยนแปลงเมืองโดยไม่ตั้งใจภายใต้การออกแบบ และอาจจะส่งผลที่เราคาดไม่ถึงมากมายภายใต้ความหวังดีและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้มันดีขึ้น

แนวคิดล่าสุดที่เข้ามาในเมืองไทยอย่างเป็นระบบไม่นานมานี้ก็คือ แนวคิดในเรื่องของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงกับการพัฒนาเมือง หรือที่เรียกว่าเมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ (Resilient City หรือ Urban Resilience) ซึ่งมากับเรื่องของการทำความเข้าใจว่า ดินฟ้าอากาศมันเกิดความแปรปรวน (climate change) จนถึงขั้นมีภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะน้ำท่วม (หรือน้ำขัง หรือน้ำรอการระบายก็แล้วแต่ เอาที่พี่สบายใจก็แล้วกัน) หรือภัยสึนามิ

การเข้าใจว่าเมืองมันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่จะต้องรับมือกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับดินฟ้าอากาศนี้มันก็เลยทำให้ความตื่นตัวในเรื่องของการทำให้เมืองมันรับมือกับภัยพิบัติได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ และยิ่งกลายเป็นมหกรรมที่อลังการงานสร้างก็เพราะว่า หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานพัฒนาต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีข้ออ้างและงบประมาณต่างๆ ที่จะทำการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ที่บางทีก็ไม่แน่ใจว่ามันจะทำให้คนและเมืองยั่งยืน หรือโครงการ สิ่งปลูกสร้าง และหน่วยงาน รวมทั้งสถาบันการศึกษานั้นยั่งยืนกันแน่

Advertisement

ลองยกตัวอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงเมืองจากการนำเข้าแนวคิดการเปลี่ยนแปลงเมืองตามยุคสมัย ซึ่งบางทีเราก็ต้องเรียนรู้ผ่านข้อผิดพลาดเสมอๆ ไม่ใช่ว่าใครจะฉลาดมองเห็นอนาคตไปเสียหมด (แต่ให้นึกว่าเรานั้นทำกรรมร่วมกันจะดีกว่า) นับจากอดีต ก็เช่น การวางผังเมืองแบบผังสีต่างๆ ที่จัดการใช้ที่ดินแยกขาดจากกันในแต่ละเรื่อง แทนที่จะมองในแง่การผสมกันของกิจกรรม ก็นำไปสู่การที่เกิดความเสื่อมโทรมของเมืองในบางส่วนหรือในบางเวลาได้ การรื้อสลัมแล้วสร้างที่พักอาศัยราคาถูกที่หมดอายุ และอาจไม่เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน การแก้ปัญหารถติดโดยการสร้างถนนให้รถติดมากขึ้นก่อนยุคขนส่งระบบราง การพูดถึงความยั่งยืนของเมืองที่หาที่พักและที่ยืนของคนรายได้แต่สร้างความมั่งคั่งให้เมืองได้ยาก หรือการพูดถึงเมืองที่มีสุขภาพดี แต่ไม่รู้ว่าสุขภาพของใคร หรือคนบางคนสุขภาพดีขึ้นแต่อีกหลายคนสุขภาพแย่ลงเพราะต้องเดินทางเข้าเมืองไกลขึ้น เพื่อให้เมืองเดิมมันเขียวจากการไล่รื้อพื้นที่ เป็นต้น

แต่ใช่ว่าบทเรียนในอดีตมันจะมีแต่เรื่องแย่ๆ ไปเสียหมด เมืองก็ยังเต็มไปด้วยเสน่ห์ ความหวัง และโอกาสให้กับผู้คนเสมอ และเราก็ต้องมีความหวังในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเมือง และที่สำคัญสำหรับนักวิชาการในประเทศกำลังพัฒนาเราก็คงจะต้องมีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระดับทฤษฎีได้ด้วย (resilience กับทฤษฎีด้วย แต่บางคนก็อาจจะมากไป เพราะเปลี่ยนตามโลกจนไม่รู้ว่ามันเหมือนหรือต่างจากเรื่องเดิมๆ อย่างไร เว้นแต่แหล่งทุนเขาจะสั่งมา)

อย่างเรื่องล่าสุดที่สำคัญในเรื่องของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเมืองที่เรากำลังเจอก็คือ เรื่องของการทำให้เมืองมันรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับภัยพิบัติต่างๆ ได้ เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าสนใจ และดูเหมือนกับว่าจะเป็นคำที่กำลังเห่อกันแทนที่เมืองยั่งยืน (sustainable city) หรือเมืองที่สุขภาพดี (healthy city) นั้นส่วนหนึ่งก็แน่นอนว่า แหล่งทุนเปลี่ยน หน่วยงานที่สนใจเรื่องเมืองเปลี่ยน และมีปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ในโลกที่อาจทำให้เห็นว่าจะมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเขียวๆ หรือปัจจัยด้านสุขภาพพื้นฐานมันคงไม่พอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมือง โดยเฉพาะเมื่อโลกร้อน เมื่อมีน้ำท่วม หรือมีภัยพิบัติสึนามิ เป็นต้น

Advertisement

แต่ต้องไม่ลืมว่า เวลาที่เราพูดเรื่องของการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่สำคัญก็คือ เรากำลังพูดถึงการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน จากความสลับซับซ้อนของเมืองที่มีผู้คนที่หลากหลาย ไม่ใช่เปลือกของแนวคิดมันเปลี่ยนไปเพื่อที่จะนำเสนอโครงการราคาแพง ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้นที่จะช่วยชีวิตและรักษาเมืองเอาไว้ได้ กล่าวอีกอย่างก็คือ เราต้องเข้าใจว่าเมืองที่ทันมือต่อความเปลี่ยนแปลงได้มันต้องมีพลังขึ้นมาจากเครือข่ายของความหลากหลาย ไม่ใช่เรื่องที่จะมีระบบอัจฉริยะ หรือมีอุโมงค์ยักษ์เท่านั้น

นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถมีโครงสร้างพื้นฐานอันเดียวที่จะเป็นคำตอบในเรื่องของการจัดการเมืองได้ ไม่ว่าจะหมายถึงโคตรอุโมงค์ต่างๆ หรือ แม้กระทั่งมาตรา 44 ที่จะปลดผู้ว่าฯสักคนแล้วเชื่อว่าจะมียอดมนุษย์คนไหนมาเปลี่ยนแปลงเมืองได้

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะให้ทนต่อการบริหารของเมืองสักเมืองนึงแล้วสาปแช่งผู้บริหารไปวันๆ แต่ต้องมีความเชื่อมั่นว่าระบบที่เราออกแบบขึ้นมาในการบริหารและคานอำนาจผู้บริหารนั้นมันจะต้องทำงานได้ เช่นการบีบให้สภา กทม.ทำงานในการตรวจสอบการบริหารของผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เอาแค่สะใจในการด่าผู้ว่าฯในสื่อออนไลน์ หรือแอบเชื่อว่าจะต้องใช้อำนาจทหารในการปลดผู้ว่าฯเท่านั้น

อย่าทำให้สมาชิกสภา กทม. และสภาเขตทำหน้าที่แค่ดูงาน ฉีดยุง และแจกลูกฟุตบอลครับ ผมเห็นจะด่ากันแต่ ส.ส. แต่ ส.ก. กับ ส.ข. ไม่เห็นถูกตรวจสอบและถูกกดดันเท่ากันเลย ไม่ใช่ผมเห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. นั้นทำดีที่สุดแล้ว แต่ผมคิดว่ายังมีอีกหลายส่วนที่เราต้องเข้าใจและติดตามตรวจสอบ เพื่อให้เราเข้าใจว่า การบริหาร กทม. ทั้งโดยผู้บริหารและข้าราชการนั้นมีประสิทธิภาพสมราคากับงบประมาณและผู้คนที่อยู่ในเมืองนี้มากน้อยแค่ไหน

การตรวจสอบเรื่องน้ำท่วมไม่ใช่ด่าแต่ผู้ว่าฯครับ ต้องลงไปดูว่า ส.ก. ส.ข. ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำนั้นเขาเป็นใคร ทำงานและมีแผนรับมือกับเรื่องราวต่างๆ มากน้อยแค่ไหน และถามตัวเราว่าในเขตของเรานั้นเราหรือใครมีส่วนทำให้น้ำมันระบายออกได้มากน้อยแค่ไหน เราดูแลระบบระบายน้ำในแต่ละส่วนของเราได้ดีแค่ไหน และเมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหาขึ้นมาเรามีแผนรองรับ และมีการติดต่อเชื่อมโยงกันได้มากน้อยแค่ไหน

ทีนี้เรื่องที่ไกลกว่าเรื่องของ กทม. ก็คือเรื่องของเมืองที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้นั้น เรื่องต่อมาที่เราต้องเข้าใจต่อจากการเสริมสร้างความแข็งแรงจากภายในก็คือ ภัยพิบัติที่อยู่ในเมืองนั้นไม่ใช่ดินฟ้าอากาศเฉยๆ แต่มันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยที่ไปทำให้ภัยดินฟ้าอากาศมันส่งผลกระทบต่อตัวเรา หรือที่ทำให้คนบางคนได้เปรียบ หรือได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงมากกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นเวลาที่เรามองเรื่องน้ำท่วมนั้น ไม่ใช่มองว่าน้ำท่วมเพราะฝนมันตกหนักเท่านั้น แต่ต้องดูว่าทำไมเราระบายน้ำไม่ได้ และส่วนใหญ่เราระบายน้ำไม่ได้ไม่ใช่เพราะเราอยู่ในพื้นที่ต่ำ แต่ส่วนสำคัญมันอยู่ที่ว่า ระบบระบายน้ำมันรองรับใครมากกว่าใคร มันทำให้ใครแห้งก่อน หรือเราปล่อยให้มีการสร้างบ้านในพื้นที่น้ำท่วมโดยคนสร้างรู้หรือไม่ เราปล่อยให้สร้างตั้งแต่แรกโดยไม่เตือน หรือไม่ห้ามได้อย่างไร พื้นที่ต่ำขนาดนี้ปล่อยให้มีการอนุญาตสร้างที่พักอาศัยได้อย่างไรโดยไม่บอกกล่าว หรือจากเดิมมันไม่ท่วม แต่ต่อมามันท่วมเพราะอะไร ฝนมันตกมาตั้งเป็นพันปีแล้วครับ ทำไมเดิมมันไม่ท่วมล่ะครับ?

การปล่อยให้มีการพัฒนาโดยไม่คำนวณถึงศักยภาพในการระบายน้ำของแต่ละเขตมันจะต้องเป็นโจทย์ใหญ่ในการอนุญาตก่อสร้างและพัฒนาที่ดินด้วย ไม่ใช่มองแต่ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวและความสะอาดในแบบเดิม โจทย์การจัดสัดส่วนการปลูกสร้างและพื้นที่สีเขียวไม่ใช่โจทย์เรื่องอากาศ สุขภาพ และความร่มรื่นทางสายตาอีกต่อไป แต่ต้องพัฒนาไปสู่โจทย์เรื่องของศักยภาพในการรองรับภัยพิบัติของแต่ละเขตด้วย และยังต้องนับรวมถึงโจทย์ของการพัฒนา กทม.ทั้ง กทม.ในภาพรวม

เช่นการจะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่นั้นจะดูแค่ว่าเขามีระบบบำบัดของเสียอย่างไรไม่พอ แต่ต้องดูว่าถ้าพื้นที่นั้นมันมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ถ้าโครงการนั้นไม่มีส่วนร่วมในการร่วมแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว และไม่สามารถช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่อื่นๆ ได้ ก็ไม่ควรจะสร้างได้ เพราะการพัฒนาที่ดินไม่ใช่แค่สิทธิที่เรามีต่อทรัพย์สินของเรา แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อชุมชนด้วย ซึ่งมันมีความซับซ้อนมากขึ้น

ในประการที่สาม การปรับตัวของเมืองต่อภัยพิบัติและความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ดินฟ้าอากาศ และการเปลี่ยนแปลงที่อ้างว่ามาจากดินฟ้าอากาศทั้งที่จริงมันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วย เช่น ถ้าเรามีบ้านใต้ถุนสูง ต่อให้น้ำท่วมมันก็ผ่านเราไป ดังนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาหนัก แต่ถ้าเรามีปัญหาน้ำท่วมแล้วเราปล่อยให้สร้างบ้านติดดิน อันนี้จะโทษดินฟ้าอากาศอย่างเดียวก็ไม่ถูก หรือถ้าเดิมสร้างติดดินน้ำมันไหลผ่านเร็ว แต่พอมีถนนใหม่ มีคนมากขึ้นจนระบบระบายน้ำมันทำงานไม่ได้ เราก็ต้องดูด้วยว่า การที่เราจะฟื้นตัวจากภัยพิบัตินั้นมันจะช้าหรือเร็ว แล้วเราเชื่อว่ามันจะฟื้นสภาพกลับไปเป็นอย่างเดิม เราเข้าใจแค่ไหนว่าการฟื้นสภาพกลับไปเป็นอย่างเดิมมันดีจริงๆ หรือมันจะยั่งยืน เช่นเราเชื่อว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมคือการเร่งระบายน้ำ โดยทำทุกอย่างไม่ให้น้ำท่วม กทม. และเพิ่มอุโมงค์เครื่องสูบน้ำ แต่ว่าเราไม่ได้สนใจว่าทุกวันนี้คนอยู่ในเมืองมากเกินไป และสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ มันมีส่วนทำให้การระบายน้ำมันเกิดไม่ได้ หรือแทนที่จะตอบโจทย์ด้วยท่อ และเครื่องสูบน้ำ เราควรจะตอบโจทย์ด้วยการเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในเมือง และทำให้น้ำที่เก็บกลายเป็นน้ำสะอาด แทนที่จะทำให้น้ำอยู่ในท่อ แต่ให้ขุดคลองเพิ่ม ลดพื้นที่ปลูกสร้าง และทำให้พื้นที่ริมคลองมันขยายตัวรองรับน้ำได้มากขึ้น เราจะได้อะไรกลับมาแทน? การเร่งระบายน้ำตลอดเวลามันทำให้น้ำไปท่วมพื้นที่นอก กทม.ไหม? การเร่งระบายน้ำและทุ่มงบประมาณของ กทม. ไปในเรื่องนี้แต่ทำให้คนมีที่ดินในเขตหลักๆ นั้นน้ำแห้งโดยการระดมทรัพยากรของเมืองทั้งเมืองไปในเรื่องนี้มากที่สุด มันยั่งยืนในแง่งบประมาณด้วยไหม?

กล่าวง่ายๆ คือ เวลาที่จะพูดถึงการคืนสภาพของเมือง เราต้องไม่หลงคิดง่ายๆ ว่า สภาพก่อนเมืองจะเจอภัยพิบัติมันโอเคแล้ว เราจะต้องมองลึกถึงความเปราะบางในระดับโครงสร้างก่อนการจัดการปัญหาภัยพิบัติเหล่านั้นด้วย ไม่งั้นคนที่อำนาจน้อยกว่าในเมืองจะเปราะบางทั้งจากดินฟ้าอากาศ และจากน้ำมือของโครงการพัฒนาในนามของการลดภัยพิบัติมากขึ้นตลอดเวลา

และในอีกด้านหนึ่ง การฟื้นคืนสภาพของเมืองเมื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องเข้าใจว่า เราจะเปลี่ยนเมืองให้มันก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไรด้วย (หรือพูดง่ายๆ คือเราต้องการทำการเปลี่ยนสภาพเมือง-transformation/tranformative-ไม่ใช่รักษาของเดิมเท่านั้น – return-restoration) แง่นี้จะทำได้ก็โดยการมองว่าเมืองนั้นไม่ใช่ของคนกลุ่มเดียว แต่เป็นระบบที่มีเครือข่ายทั้งเชื่อมโยงสัมพันธ์ เอื้อกัน และขัดแย้ง เอาเปรียบกันด้วย รวมทั้งการจะฟื้นฟูเมืองกลับสู่สภาพเดิมให้เร็ว (เช่นน้ำต้องท่วมแน่ แต่ต้องคืนกลับมาเร็วที่สุด หรือต้องผ่านไปได้) นั้นจะต้องเข้าใจว่าแต่ละกลุ่มอาจได้ประโยชน์มากน้อยไม่เท่ากัน และยังมีแรงตึงเครียดของแต่ละกลุ่มอยู่

การฟื้นสภาพเป็นสิ่งดี หรือการปรับปรุงเมืองให้มันดีขึ้นคงไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ใครกำหนดความดีและความพึงปรารถนาของเมือง และประโยชน์มันตกที่กลุ่มไหน โดยใครจ่ายราคา? และโดยขั้นตอนของการฟื้นสภาพและปรับปรุงเมืองนั้นใครได้ก่อน ใครได้ทีหลังหรือใครเสียตลอด

เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของเงื่อนเวลาในการฟื้นฟูเมืองนั้น เราพูดแค่ว่ามันจะกลับไปเหมือนเดิม หรือเราจะมองไปข้างหน้าเพื่อรับมือในระยะยาว เพราะเรื่องไม่ใช่แค่น้ำท่วม แต่คือการเปลี่ยนสภาพดินฟ้าอากาศที่เดาทางได้ยาก แถมด้วยว่าท่ามกลางอะไรที่ไม่แน่นอน เราดันสร้างโครงการและเปลี่ยนแปลงเนื้อเมืองไปแล้วจนทำให้ความไม่แน่นอนมันจะส่งผลมากขึ้นอีกหรือไม่เมื่อมีภัยในรอบต่อมา

ลองตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ในการรับมือกับภัยและการเปลี่ยนแปลงของเมืองนั้นเราตอบคำถามเหล่านี้หรือยัง

1. ใคร? – ใครกำหนดว่าเมืองแบบไหนที่เราสร้างให้มันมีขึ้น ความคงทนและยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นถูกกำหนดว่ากลุ่มไหนได้ก่อน? ใครถูกนับและไม่ถูกนับเมื่อพูดถึงระบบเมือง

2. เปลี่ยนแปลงอะไร? – อะไรคือภัยที่เราจะต้องต้านทานในการเปลี่ยนแปลง ระบบและเครือข่ายอะไรที่เราจะนับเข้ามาสู่โครงสร้างการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูเมือง ในการรับสภาพการเปลี่ยนแปลงและฟื้นสภาพนั้นเรามุ่งหวังเรื่องอะไรบ้าง?

3. ฟื้นสภาพเมื่อไหร่? – เราพูดถึงระยะเวลาสั้นหรือยาว เราสนใจเฉพาะคนในวันนี้หรือลูกหลานของเรา และลูกหลานของคนอื่นๆ ด้วย

4. เปลี่ยนแปลงและฟื้นสภาพที่ไหน? – เรานับพื้นที่เมืองแค่ไหน (กทม.รวมทั้งนนทบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม ดอนเมืองไหม) ทำไมเราให้ความสำคัญกับบางพื้นที่ก่อนพื้นที่อื่น? เราแก้ปัญหาตรงนี้แล้วทำให้คนอื่นตรงอื่นเดือดร้อนขึ้นไหม?

5. ทำไมต้องฟื้นสภาพเมือง? – เป้าหมายและแรงจูงใจอยู่ที่ไหน? เราสนใจผลลัพธ์หรือกระบวนการด้วย? เป้าหมายของเรากับคนอื่นตรงกันไหม?

หมายเหตุ : บางส่วนปรับปรุงจาก S.Meerow, JP Newell, M Slults. 2016. Defining Urban Resilience: A Review. Landscape and Urban Planning. 147 (38-49)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image