“กติกาสูงสุด”ของทุกคน โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

แม้จะเป็นคำถามที่ได้ยินบ่อย และเริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันลงประชามติใกล้เข้ามาทุกที

“จะผ่านหรือไม่” และ “เลือกให้ผ่าน หรือไม่ให้ผ่านดี”

แน่นอน หมายถึง “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จะลงประชามติกันในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงในไม่กี่วันนี้แล้ว

ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ความเป็นจริงที่หนีไม่พ้นคือ การตัดสินใจคราวนี้ เป็นความหนักอกหนักใจของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างยิ่ง เพราะเรื่องที่ต้องตัดสินใจเป็นเรื่อง “ใหญ่มาก” ของประเทศ

Advertisement

เป็นการเลือกว่า “จะยอมรับกติกาหรือกฎหมายสูงสุดที่จะใช้ปกครองประเทศต่อไป” หรือไม่

เป็นกฎหมายสูงสุดที่เขียนข้อกำหนดที่กระทบต่อชีวิตทุกคนอย่างละเอียดครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่ละคน โอกาสทางการศึกษา สิทธิการรักษาพยาบาล และอื่นๆ

ทุกด้าน ทุกมิติ

Advertisement

ชีวิตแต่ละคนจะดำเนินอย่างไรหลังจากนี้ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะส่งผลอย่างมาก” ทั้งชีวิตของประชาชนที่มีสิทธิลงประชามติ และไม่มีสิทธิ

แต่ที่ชวนให้หวั่นใจอยู่ว่าเรื่อง “ใหญ่มาก” ต่อชีวิตในวันข้างหน้า และครอบคลุมในรายละเอียดทุกมิติของชีวิตขนาดนั้น กลับเป็นเรื่องคนไทยเรารู้เรื่องน้อยมาก

มีไม่กี่คนที่รู้ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลต่อชีวิตอย่างไรบ้าง” คนส่วนใหญ่ไม่รู้

ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใด แต่สถานการณ์กำลังบังคับให้ประชาชนต้องไปเลือกเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เรื่องรู้ราว

ทั้งที่เรื่องที่ไม่รู้เรื่องนั้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างกว้างขวางและปฏิเสธไม่ได้ เพราะมีผลบังคับใช้ต่อทุกคน

ขณะที่ “ผลของประชามติ” นั้นจะถูกนำไปใช้อ้างอิงว่าเป็น “รัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนเสียงข้างมาก” จึงมีความชอบธรรมที่จะใช้บังคับต่อทุกคน

เป็น “การใช้อ้างอิง” โดยมีที่มาจากความไม่รู้

คล้ายกับว่า “ประชาชนโง่เอง” ที่ไม่ศึกษาเรียนรู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีช่องทางจะศึกษาได้หากใส่ใจ เมื่อกลไกรัฐส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศึกษาไม่ทัน ประชาชนก็มีช่องทางที่จะแสวงหามาศึกษาเองได้ โดยเฉพาะจาก “โลกออนไลน์”

แต่ “ความโง่” ที่กล่าวหานั้น เป็นธรรมต่อประชาชนหรือ

ร่างรัฐธรรมนูญมีความซับซ้อน ขนาดคนที่เล่าเรียนกฎหมายมายังตีความกันไปต่างๆ นานา แล้วแต่ทัศนคติของตัวเอง ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษามายาวนาน แม้จะมีโอกาสได้อ่านแต่จะอ่านอย่างไรให้รู้เรื่อง

ไม่เพียงเท่านั้น ความเกรงกลัวว่าจะมีการชี้นำประชาชนไปทางใดทางหนึ่ง ทำให้การปิดช่องทางการให้ความรู้กับประชาชนแทบสนิท

เพราะการพูดคุย วิเคราะห์วิจารณ์กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีเรื่องราวของการไล่ล่าจับกุมกันครึกโครม

กระทั่งการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตอย่าง “ใหญ่หลวง” นี้ อยู่ในบรรยากาศของ “ความกลัว” ไม่มีใครอยากพูดถึง “รัฐธรรมนูญ” กระทั่งการบอกกันว่า“จะรับหรือไม่รับ” ก็มีแต่คนพวกหนึ่งเท่านั้นที่กล้า

การพูดถึงเหตุผลว่าจะรับหรือไม่รับเพราะอะไร แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะถูกเตือนให้รับรู้ตลอดว่าเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกันมีการเปิดประเด็นที่สร้างแรงกดดันแบบแปลกๆ ออกมา ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน

อย่างเช่น “คนที่ต้องการให้ คสช.อยู่ยาวจะไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ” ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่มีท่าทีต่อต้านอำนาจของ คสช.บอกว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

การตัดสินใจทางเดียวกันถูกตีความไปคนละทาง

หรือล่าสุด มีการส่งสัญญาณว่า “หากประชามติไม่ผ่าน” จะมีการ “ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ส่งผลต่อประชาธิปไตยหนักกว่านี้”

ยิ่งใกล้วันลงประชามติ แทนที่ประชาชนจะได้รับความรู้มากขึ้น กลับกลายเป็นโกลาหลมากขึ้น มีการส่งสัญญาณเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญปลอม” โดยที่ประชาชนไม่รู้ว่าฉบับจริงเป็นอย่างไร

ดูวุ่นวาย ยุ่งเหยิง การควบคุมล้ำหน้าการให้ความรู้ไปไกล

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชะตากรรมของคนไทย

แล้วพยายามเรียกมันว่า “เป็นความหวัง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image