หน้าที่”คน” กิน กาม เกียรติ โกง โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

คนเห็นคน เป็นคน นั้นแหละคน

คนเห็นคน ไม่ใช่คน ใช่คนไม่

กำเนิดคน ต้องเป็นคน ทุกคนไป

จนหรือมี ผู้ดีไพร่ ไม่พ้นคน

Advertisement

จากคำกลอนข้างต้น ก็คงจะเข้าใจความหมาย “คน” ได้เป็นอย่างดี ทั้งมี-จน ผู้ดี-ไพร่ ถึงอย่างไรต่อให้สูงศักดิ์ ต้อยต่ำ รวยล้นฟ้า ยาจกขอทาน ก็คือ “คน” เมื่อรู้แล้วว่า “คน” นั้น คืออะไร หมายถึงอะไร จะถามต่อไปว่า “คนมีหน้าที่อย่างไร?” ก็รู้สึกว่าจะตอบยาก หากจะตอบว่าคนมีหน้าที่กิน นอนและสืบพันธุ์แล้วก็ตาย เท่านี้ก็ง่ายดี ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ยากอะไร และทุกคนก็ทำได้โดยไม่ต้องสอน แม้สัตว์เดรัจฉานก็ทำได้เช่นกัน เมื่อคนมีหน้าที่เพียงเท่านั้น และก็ทำได้เหมือนกันทุกคน เหตุไฉนเลยต้องเดือดร้อน มีความทุกข์ใจ ถึงหน้าดำคร่ำเครียด นอนเอามือก่ายหน้าผาก บางคนถึงกับฆ่าตัวตายไปก็มาก

“หน้าที่” มีความหมายถึงสิ่งที่ต้องทำ หรือธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ เช่น ชาวนาก็มีหน้าที่ทำนา พ่อค้าก็มีหน้าที่ค้าขาย ครูมีหน้าที่ต้องสอนหนังสือ หมอก็มีหน้าที่รักษาโรค เป็นต้น หากจะสาธยายทุกอาชีพก็หลากหลายที่จะกล่าวโดยสิ้นเชิง หากรวบรวมกล่าวให้สั้นๆ แล้ว พออนุมานได้ว่า คนมีหน้าที่สองอย่างเท่านั้น

หน้าที่ที่ต้องทำแก่ตนเองอย่างหนึ่ง และหน้าที่ที่ต้องทำให้แก่คนอื่น บรรดาหน้าที่ทั้งสองอย่างนั้น ต้องทำแก่ตนเอง จะอยู่ในฐานะที่เกิดมาเป็นคนนั้นเบื้องต้น ต้องพยายามสร้างตนให้มีหลักฐาน หลักแหล่ง ด้านฐานะ ทรัพย์สิน เงินทอง บ้านช่อง ครอบครัว ลูกหลาน รวมอยู่ดูแลกันในแหล่งสถานที่ที่ถูกกำหนดให้เราเป็นผู้สร้าง ให้สมกับที่เกิดมาในโลกนี้ให้ได้ก่อน โดยบำเพ็ญคุณธรรม 4 ข้อ ได้แก่ 1)มีความอดทนขยันหมั่นเพียร 2)พยายามออมเงินที่สะสมมาได้ 3)คบคนที่เป็นมิตร 4)พยายามเลี้ยงชีพชอบโดยสมควรแก่ฐานะ : อันหลักการทำประโยชน์ที่ตนต้องการทำให้สำเร็จ เพราะปัจจุบันต้องสิ้นไป อนาคตวันพรุ่งนี้จะต้องมาเป็นปัจจุบันทันที แล้ววันมะรืนนี้และวันต่อๆ ไปจนเดือนหน้า ปีหน้า จนถึงชาติหน้า ก็ต้องเวียนมาเป็นปัจจุบัน เช่นวันนี้แน่นอน

Advertisement

ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ดีต้องกระทำโดยประกอบสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จในอนาคต แล้วคืออะไรเล่า ตอบว่ามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ หรือเรียกว่า “สุขสมบัติ สุขทิพย์” และ “สุขนิพพาน” ก็คงไม่ผิด คุณธรรมที่จะให้สำเร็จทั้งสามประการในอนาคต ดังกล่าวคือ “ประโยชน์ในภายภาคหน้า” มี 4 ข้อคือ

1)ศรัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความเชื่อถือ 2)ศีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล 3)จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ 4)ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

อย่างไรเสียชีวิตคนหนีไม่พ้นกับสิ่งที่ดีและไม่ดี ซึ่งเป็นอุปสรรคของคน จะไปสู่นิพพาน ที่เรียกว่า “กิเลส” คือไฟ 4 กอง คือ กิน กาม เกียรติ โกง การที่จะบรรลุถึงการเป็นผู้ถึง “นิพพาน” ได้ ต้องละกิเลสให้ได้โดยสิ้นเชิง จึงไม่เป็นตัณหา จึงควรความพยายามตัดตัวกิเลสทั้ง 4 ตัว “กิน กาม เกียรติ โกง” นั้น โดยเฉพาะเชื้อไฟ 3 กอง คือ กิน กาม เกียรติ เป็นเชื้อไฟที่มีทั้งดีและชั่วปนกันอยู่ ถ้าผู้ใดเลือกใช้ให้พอเหมาะพอดีก็ยังจะได้ประโยชน์บ้าง แต่ส่วนเชื้อไฟตัว “โกง” นี่มีแต่ส่วนชั่วอย่างเดียว เมื่อขึ้นชื่อว่า “โกง” แล้ว ไม่ว่าโกงชนิดไหน จะโกงมาก โกงน้อย โกงเล่นๆ อย่างไร ย่อมทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อนทั้งสิ้นจึงเป็นเชื้อพิษร้ายแรงที่สุดกว่าเชื้อไฟทั้งสามตัวนั้น

เพราะการ “กิน” หากรู้จักประมาณการกินได้ถูกต้องโดยสมควรทั้งปริมาณและคุณภาพ ก็เกิดประโยชน์ในการที่จะได้เป็นอยู่ เพื่อทำคุณความดีต่อไป ส่วน “กาม” หากรู้จักขอบเขตของการบริโภคให้ถูกต้องตามระเบียบ ขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมแล้ว ก็ย่อมทำให้สังคมเป็นสุขได้ เป็นการสืบพันธุ์ไม่ได้ขาดสูญ แม้ “เกียรติ” ก็เหมือนกัน ถ้าผู้ใดปรารถนาจะมีเกียรติในทางดีแล้ว ประกอบการงานและคุณงามความดีให้ถูกต้องตามสมควร ไม่ยึดในเกียรติ จนมัวเมาหลงใหลเกียรติที่ตนได้รับจริงจนเกินไป ตนเองก็ย่อมได้รับสุข แล้วเป็นแบบอย่างอันดีของผู้ที่จะกระทำความดีต่อไป

ส่วนการ “โกง” ไม่ว่าจะโกงแบบไหน แบบทางโลกหรือแบบทางธรรม ย่อมให้ผลคือ ความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งสิ้น ในเรื่อง กิน กาม และเกียรติ ถ้าไม่แสวงหาโดยวิธีโกง แต่พยายามการทำโดยสุจริตและจะกินก็ไม่เกิดโทษ บริโภคกามก็ไม่เดือดร้อน ได้รับเกียรติก็ไม่เสียหายต่อการปฏิบัติธรรมแต่ประการใด เพราะกิน กาม เกียรติ นั้นเป็นสมบัติของโลก เราเกิดมาในโลกก็ยังจำเป็นต้องอาศัยสมบัติของโลกนั้นอยู่ แต่ต้องอาศัยไม่ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเหมือน “คนกินปลาเป็น” คือ รู้เลือกกินก็ไม่ถูกก้างปลาติดคอ สิ่งเป็นโทษของกิน กาม เกียรติ ก็เหมือนกับ “ก้างปลา” เราค่อยพิจารณาเลือกสิ่งเป็นโทษ เอาออกไปแล้วเคี้ยวปลากลืนลงคอได้อย่างสะดวกสบาย หรือจะพูดให้เข้าใจกันอีกทีหนึ่ง ก็ควรพูดว่า “โกงนั้นแหละเป็นก้าง” โดยแท้ถ้าเราเลิกโกง เลิกประพฤติทุจริต ขึ้นชื่อว่าความซื่อสัตย์ทุกอย่างแล้วไม่ทำเด็ดขาด พยายามประพฤติแต่ความสุจริต มีความขยันอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก จะทำสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้นจริงๆ โดยไม่มีความย่อท้อ แม้จะมีอะไรมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง หรือเกิดความเกียจคร้านขึ้น ก็พยายามสละสิ่งที่เป็นข้าศึก เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จนั้นๆ หมั่นบังคับตนให้ทำสิ่งนั้น ยึดตาม “ระเบียบ ระบบ บรรลุ” (3 บ) และประเพณีปฏิบัติอันดีที่มีไว้ โดยใช้ “ปัญญา” คอยสอดส่องพิจารณาการกระทำให้ถูกต้องตามเหตุผลอยู่เป็นนิจ จนกิจการนั้นสำเร็จเป็นผลดี ดังคำกลอนที่ว่า…

ทำอะไร ก็ได้ แต่ไม่ติด

หมั่นพินิจ เพียรทำ ตามหน้าที่

ละยึดถือ ว่า”ตัว” ทั้ง”ชั่ว-ดี”

ไม่มีอะไร นำเอา เขลาไปเอง!

หากพิจารณาโดยรอบแล้วบอกได้ว่า : คนที่มีหน้าที่ต้องทำเพื่อ “ตน” ก็เพียรบำเพ็ญประโยชน์ทั้งสามให้ครบ คือ ประโยชน์ในปัจจุบันชาติ ประโยชน์ในสัมปรายภพภายภาคหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือ พระนิพพาน ในประโยชน์ทั้งสามประการนี้ ถ้าผู้ใดยังเพลิดเพลินในประโยชน์ทั้งสองข้างต้น จะต้องทนทุกข์ทรมานเวียนไหว้ตายเกิด ประสบสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่รู้จักเสร็จสิ้น ประเดี๋ยวหัวเราะ ประเดี๋ยวก็ร้องไห้ สลับกันไป ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ประโยชน์ประการหลังคือ… “พระนิพพาน” เมื่อใดที่เขาได้ประโยชน์ที่สามด้วยแล้ว

จึงได้ชื่อว่า…ได้ประโยชน์สมบูรณ์ สมควรเรียกว่า “มนุษย์” ได้ และจะให้การได้รับผล การเสวยผล ของประโยชน์ทั้งสองหมดจากพิษเลย เป็นการได้บริโภคอย่างสมบูรณ์จริง

ส่วนหน้าที่ที่ “คน” จักต้องทำเพื่อผู้อื่นนั้นมีหลากหลายประการ สุดจะพรรณนาคือ ต้องตอบแทนผู้มีอุปการคุณแก่ตน โดยเฉพาะบิดา มารดา บุพการี และช่วยเหลือสงเคราะห์ อนุเคราะห์ผู้อื่นไปตามหน้าที่ และเวลาอันมาถึงเข้าแก่ตน สุดแต่ว่าเวลาไหนตนเป็นอะไร เช่น เวลาเป็น “เด็ก” ก็ต้องทำหน้าที่ “เด็ก” คือ ศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ จนได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นช่วยเหลือมนุษย์ มีมารดา บิดา ครูบาอาจารย์ และอุปัชฌายะอาจารย์ของตน เป็นต้น ซึ่งถ้าตนไม่ทำให้ถูกหน้าที่ถูกเวลา มีคนเป็นอยู่หรือได้รับมอบหมายแล้วตนเอง จะกลายเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นต้น

ฉะนั้นหน้าที่ทั้งหลายเหล่านี้ จึงชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่ทุกคนจะต้องศึกษาให้เข้าใจดี และพร้อมอยู่เสมอที่จะปฏิบัติ ในเมื่อตนได้รับหน้าที่นั้นๆ เพราะว่าหน้าที่นี้ก็คือ “ตัวธรรมะ” นั้นเอง ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง ผู้นั่นได้ชื่อว่า “ผู้ปฎิบัติธรรมะ” ผู้ปฎิบัติธรรมะผู้นั้นได้ชื่อว่า บูชาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเมื่อทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้อง ตนเองย่อมได้ลาภยศสรรเสริญ และความสุขตามสมควรแก่การปฏิบัติอย่างแน่นอน และสังคมตลอดจนประเทศชาติก็ย่อมได้รับความร่มเย็น เป็นสันติสุขโดยทั่วกันอย่างถาวรเพราะโลกทุกๆ วันนี้ เดือดร้อนหาความสงบสุขไม่ได้ทุกหัวระแหงนั้นมิได้มีสาเหตุจากอย่างอื่นเลย เป็นเพราะ ทุกคนมิได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนเป็นส่วนใหญ่ มีแต่ผู้เป่าประกาศ และโฆษณาชักชวน หรือบังคับให้ผู้อื่นปฏิบัติตามหน้าที่

ส่วนผู้ประกาศนั่นเองก็มิได้ทำตามหน้าที่ของตน แม้แต่ผู้เขียนเองก็ไม่ได้บอกว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนถูกต้องครบถ้วนแล้ว เพียงแต่ได้เป็นผู้ตั้งใจพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตลอดไป จนสุดความสามารถเท่านั้น จึงไม่รู้ว่าจะเอาความผิดกับผู้ใดได้เลย ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งไปอีกว่า ทำไมทุกคนจึงไม่ทำตามหน้าที่ของตน ก็จะพบว่าทุกคนล้วนเห็นแก่ตัวเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกๆ คนได้พยายามเห็นแก่ตัวให้เบาๆ ลงบ้าง ก็น่าจะเกิดกุศลต่อตนเอง ชาติ ศาสนา อย่างยิ่งใหญ่ และจะพยายามทำตามหน้าที่ของตนเองโดยไม่ต้องรอว่า… “ผู้อื่น” จะทำตามของเราหรือไม่ และ “หน้าที่” ที่สำคัญอย่างยิ่งของคนเราก็คือ “ความไม่เห็นแก่ตัว”

อันการทำหน้าที่ “คน” เมื่อปฏิบัติชอบยิ่งๆ ขึ้นโดยสำคัญ จนกระทั่งมีจิตใจสูงกว่าคนธรรมดา ควรเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “มนุษย์” แปลว่าผู้มีจิตใจสูง คือ มีจิตใจและการประพฤติทางกาย วาจา และจิตใจ สูงกว่า “คน” ปกติ และสัตว์ทั่วไป มนุษย์ที่มีจิตใจสูง ได้ชื่อเป็นผู้มี “กุศลกรรมบถ 10 ประการ” เป็นต้นทุนอยู่มาแล้วเป็นอย่างดีปฏิบัติอยู่เสมอได้ดีมีครบด้วยในตัวเราอยู่อย่างเสมอ

กุศลกรรมบถ 10 ประการ ได้แก่ ก.ไม่ชั่วทางกาย : 1.งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ 2.เว้นการลักขโมยสิ่งของ ของคนและสัตว์ 3.งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ข.ไม่ชั่วทางวาจา : 1.งดเว้นพูดเท็จ 2.งดเว้นพูดส่อเสียด 3.งดเว้นพูดจาหยาบคาย 4.งดเว้นพูดเพ้อเจ้อ ค.ไม่ชั่วทางใจ : 1.ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น 2.ไม่พยายามปองร้ายเขา 3.เห็นชอบตามคลองธรรม

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ให้เห็นว่าบุญมีจริง บาปมีจริง ผลของบุญมี ผลของบาปมี…คนทำดีย่อมได้ดี คนทำชั่วย่อมได้ชั่ว นรกมี สวรรค์มี และนิพพานก็มี โลกก็มี โลกอื่นมี ชาตินี้มี ชาติหน้ามี สัตว์ที่ยังมีกิเลส ทำกรรมไว้ตายไปแล้ว ย่อมต้องเสวยผลของกรรมนั้นอีก ผู้ที่ไม่มีกิเลสอื่นเป็นเหตุไม่ทำกรรม มีจิตสงบบริสุทธิ์หมดจด ตายแล้วย่อมไม่ต้องเกิดอีก เพราะหมดเหตุหมดปัจจัย ทำให้เกิด

คำว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี้ อย่างพึงเข้าใจว่าดีและชั่วนั้น เป็นวัตถุเสมอไป เช่น คนพยายามไหว้พระสวดมนต์ รับศีลใส่บาตร ในทุกวัน เมื่อคนเป็นเศรษฐีไม่ทันใจ ก็กลับคิดเห็นว่าทำดีไม่ได้ดีจริง นี้เรียกว่าต้องการได้ดีทาง “วัตถุ” หรือคนโกงปล้นเขามาแล้วกลับรวยไม่เห็นยากจนเลย เหมือนคนที่มีสัตย์มีศีลยังจน ก็เกิดความเข้าใจผิดเห็นว่าทำชั่วไม่ได้ชั่ว ที่เรียกว่าต้องการเห็นความชั่วทางวัตถุ คือ ต้องการเห็นคนที่โกงกลับมายากจนเดือดร้อน จึงจะเชื่อว่าทำชั่วได้ชั่ว ความจริง “ดีและชั่ว” นี้ ทางธรรมะหมายถึง “นาม” เช่น คนประพฤติดีมีศีลธรรม แม้จะไม่ร่ำรวยด้วยข้าวของเงินทอง แต่ “บัณฑิต” ก็สรรเสริญว่าเป็น “คนดี” เพราะมีอริยทรัพย์ภายในจิตใจ ของผู้นั้น มีความปลื้มปีติ อิ่มอก อิ่มใจ ส่วนของประพฤติชั่ว เช่น ปล้น ฆ่า โกง แม้จะร่ำรวยเป็นเศรษฐี จิตใจของเขาก็เศร้าหมอง ไม่ผ่องใสถูกติเตียนว่าเป็น “คนเลว”

ผู้เขียนขอให้เพื่อนๆ มนุษย์ด้วยกันได้รู้ตระหนักทำดีนั้นแสนยาก ใช้เวลานาน เหมือน “ดอกกล้วยไม้” ใช้เวลานานกว่าจะออกดอกบาน แต่เมื่อออกดอกแล้วจะอยู่ได้นานฉันใด ฉันนั้นคนทำชั่วทำง่ายเห็นผลเร็ว ผลกรรมเกิดเร็ว ไปเร็ว ขอให้พิจารณาด้วย “ศรัทธา” จิต เชื่อมั่นว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” อย่าเห็นผิดเป็นชอบเป็นอันขาด เพราะความร่ำรวยหรือยากจนหรือสูงศักดิ์ทาง “วัตถุ” นั้นเป็นผลพลอยได้เท่านั้น ส่วนความดีความชั่วนั้น “ผู้ทำเท่านั้น” เป็นผู้รับผลตั้งแต่ลงมือทำนั้นแล้ว คือ “กรรม” นั่นเอง ดั่งคำกลอนว่า…

ปิ้งปลาหมองอแล้วให้รีบกลับ

เป็นเคล็ดลับคำโบราณท่านขานไข

คำว่าเรา “ทำผิด”จงเปลี่ยนใจ

กลับตัวใหม่ทันทีอย่ารีรอ

ทำการใดดันทุรังทั้งผิดผิด

จะไหม้มิดติดตัวเห็นเช่น “ปลาหมอ”

แสดงว่าร้อนรัวจนตัวงอ

ยั้งรั้งรอก็เสียไฟเลียโทรม

หรือฝากคำสุดท้ายเรื่องหน้าที่คนว่า ถ้าทำดีไม่ได้ก็อย่าทำชั่ว และจงรักษาความดีที่ตัวมีอยู่ก็พอแล้ว…นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image