มองอเมริกาและมองไทย

บทความนี้ตั้งใจจะพูดเรื่องการเรียนประวัติศาสตร์ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาในเรื่องนี้ ขอกล่าวถึงการเมืองของสหรัฐอเมริกาสักเล็กน้อย ประธานาธิบดีคนใหม่ที่รอการสถาปนาในวันที่ 20 มกราคม 2564 มีชื่อว่า Joe Biden เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาคงไปฉีดโบท็อกซ์มาแน่ ๆ ใบหน้าจึงดูเต่งตึงขึ้นอย่างกะทันหัน ผมว่าไม่ใช่ การเปลี่ยนแปลงอาจอยู่ที่สายตาผู้ดู ดูเขาเป็นผู้สมัครก็แบบหนึ่ง ดูเขาเป็นว่าที่ประธานาธิบดีก็อีกแบบหนึ่ง เขากลายมาเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจของคนทั่วโลก คำพูดของผู้สมัครไม่ใช่สิ่งที่ผูกมัดเขาอย่างจริงจัง แต่ต่อไปนี้คำพูดของไบเด็นอาจสะเทือนไปทั่วโลก โดยหวังว่าจะเป็นความสะเทือนในทางบวก

เรื่องแรกที่เขาพูดถึงคือความสามัคคี เขาขอเป็นประธานาธิบดีของทุกคน เขาจะเยียวยาการแบ่งแยกของคนอเมริกัน ไม่ถือว่าใครเป็นศัตรู แต่ถือทุกคนเป็นชาวอเมริกัน เรื่องนี้อาจพูดได้ง่ายแต่ต้องการความเอาจริงเอาจังจึงจะมีผล ผู้นำของเราก็พูดเช่นนี้ ผู้นำทั้งสองต่างก็พูดเรื่องการยึดหลักการประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา แต่วิธีการอาจเป็นคนละแบบ จึงต้องดูผลในทางปฏิบัติต่อไปด้วย

เรื่องที่สองที่ว่าที่ประธานาธิบดีถือเป็นเรื่องรีบด่วนคือการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ทุกวันนี้การระบาดไม่ได้ลดความรุนแรงลง ในสหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อสูงถึงหนึ่งแสนคนในบางวัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำจะพร้อมนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากู้วิกฤตของโรคระบาดที่ร้ายแรงนี้ ยุโรปเองมีบทเรียนว่า ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจที่ทำให้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดลดความเข้มงวดลง และประชาชนก็ “การ์ดตก” ลงด้วยนั้น ได้ทำให้โรคร้ายนี้กลับมาระบาดในรอบที่สอง รัฐบาลหลายประเทศจึงต้องยอมล็อกดาวน์อีกครั้ง อย่างน้อยก็ในย่านที่มีการระบาดอย่างหนัก ส่วนผู้นำสหรัฐฯจนบัดนี้ฝากความหวังไว้กับวัคซีน และไม่มีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแก่ผู้ขาดรายได้จากการรักษาระยะห่างทางสังคม โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจในลำดับที่เหนือกว่าสุขภาพ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะทำได้ดีกว่านี้

เรื่องที่สามที่ว่าที่ประธานาธิบดีให้ความสำคัญคือ การแก้ไขปัญหาทัศนคติของคนผิวขาวอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ที่เหยียดคนผิวดำหรือผิวสี ทัศนคตินี้ฝังแน่นอยู่ในสังคมอเมริกันมานาน แม้กฎหมายจะเปลี่ยนไป แต่พฤติกรรมจะค่อย ๆ เปลี่ยน จึงน่าจะจับตามองว่าคนผิวขาวอนุรักษ์นิยมจะยอมรับมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อลดการเหยียดผิวในสหรัฐฯที่มีอยู่อย่างเป็นระบบให้เหลือน้อยลง สำหรับเมืองไทย เราเป็นอยู่ในสังคมผู้ใหญ่-ผู้น้อยมาตลอด สามัญชนอยู่ในที่ต่ำ ชาวชนบทเวลาจะพูดจาต้องนบนอบ สังคมไทยมีหลายมาตรฐาน แน่นอนว่าคนที่อยู่ในที่สูงที่มีความปรารถนาดีก็มีมาก แต่น้อยคนจะรู้สึกเหมือนคนที่อยู่ “ในที่ต่ำ” ได้ และส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม

Advertisement

การกลับเข้าร่วมกับองค์กรพหุภาคีระหว่างประเทศเป็นนโยบายเร่งด่วนอีกประการหนึ่งของว่าที่ประธานาธิบดี โดยมีการประกาศว่า จะหวนกลับเป็นภาคีข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดภาวะโลกร้อน จะให้ความสนับสนุนองค์การอนามัยโลกต่อไป และอาจเข้าร่วมในข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านตามที่ประเทศนี้ชักชวนด้วย สรุปก็คือนโยบายต่างประเทศจะไม่ใช่อเมริกาต้องมาก่อนประเทศอื่น ๆ แต่หลายเรื่องต้องมีให้และมีรับ คือไปพร้อม ๆ กัน

นโยบายใหม่ทางเศรษฐกิจคือการจัดสรรงบประมาณหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อันเป็นการตั้งหลักใหม่เมื่อวิกฤตโควิด-19 เบาบางลง ที่น่าจับตาคือนโยบายต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก รัฐบาลของสหรัฐฯและไทยได้เมินเฉยต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด (มีสัดส่วนเป็น 13.5% ของเศรษฐกิจโลก) นั่นคือข้อตกลงการค้าเสรีเขตเอเชีย-แปซิฟิก หรือ CP TPP อันที่จริงสหรัฐฯได้ริเริ่มโครงการนี้สมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามา จึงเป็นไปได้ที่ผู้นำคนใหม่จะหวนกลับมาให้ความสนใจ ถ้าสหรัฐฯเข้าร่วมใน CP TPP ผลประโยชน์ของไทยจะอยู่ตรงไหนก็ควรต้องรีบคิด

หมอบรัดเลย์เคยพยายามอธิบายว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯถือเป็นเหมือนบุคลาธิษฐานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสหรัฐฯ แม้ประธานาธิบดีก็ฝ่าฝืนไม่ได้ และต้องปฏิญาณตนว่าจะทำตามรัฐธรรมนูญ หากประธานาธิบดีฝ่าฝืนจะอยู่ในตำแหน่งไม่ได้ ประชาชนจะออกมาต่อต้าน เพราะประชาชนก็มีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญเช่นกัน สหรัฐฯเป็นนิติรัฐ แต่สำหรับประเทศไทย จะค่อนไปทางนิติกรศรีธน

Advertisement

ชัยมากกว่า

ประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกาได้เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลอมบัส เดินเรือมาถึงทวีปนี้เพื่อเปิดศักราชการรุกรานและการล้างเผ่าพันธุ์คนพื้นเมืองในนามของกษัตริย์สเปน เมื่อวานผมมีโอกาสฟังครูสอนภาวนาชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขาแขวนรูปชาวอะบอริจินไว้ข้างฝา เพราะเขาสอนลูกศิษย์ว่าชาวอะบอริจินใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสัมผัสธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ลูกศิษย์เลยให้รูปนี้เขามา เป็นรูปคนผมกระเซิงที่มองไปไกลเหมือนมองเห็นธรรมกายโดยตรง ครูบอกเราว่า คนผิวขาวได้ล้างเผ่าพันธุ์ชาวอะบอริจินเกือบหมด แต่ยังดีที่มีกระแสประวัติศาสตร์ที่เห็นความสำคัญของคนพื้นถิ่นที่อยู่มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดียนแดงในอเมริกา หรือชาวอะบอริจิน หมายความว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้เริ่มที่การอพยพมาของคนผิวขาว
แต่ประวัติศาสตร์ทางการที่สอนกันในโรงเรียนของเราเริ่มเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงแสดงปาฐกถาเมื่อ พ.ศ. 2450 ว่าทรงเสียดายที่ประวัติศาสตร์สยามย้อนไปได้แค่ พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งอยุธยา จึงทรงชักชวนให้ “รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยาม จับเดิมตั้งแต่ 1000 ปีลงมา” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงรับสนองพระราชดำริ และทรงเรียบเรียงพระราชพงศาวดารสยามขึ้น ว่าควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือยุคสุโขทัยเป็นราชธานี ยุคอยุธยาเป็นราชธานี และยุครัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

ในทศวรรษ 2520 นิตยสารศิลปวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งเริ่มวิจารณ์ประวัติศาสตร์แนวนี้ดังนี้

1) เป็นประวัติศาสตร์แบบเชื้อชาตินิยม เน้นบทบาทของชนเชื้อชาติไทยอย่างเดียว ขัดกับหลักฐานด้านโบราณคดี ซึ่งชี้ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ คนไทยที่อพยพมาเป็นส่วนหนึ่งของคนหลากหลายเชื้อชาติในอดีต สรุปว่า “คนที่นี่เป็นคนไทยและคนอื่น” ประวัติศาสตร์สหรัฐฯก็ยกย่องแต่คนอพยพจากทวีปยุโรป โดยละเลยชนท้องถิ่นเดิม ละเลยคนที่ถูกบังคับมาเป็นทาสจากแอฟริกา ละเลยคนที่อพยพจากอเมริกาใต้และจากภูมิภาคอื่น ๆ สรุปก็คือ จะถึงไม่นานมานี้ ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยมสุดโต่งไม่มากก็น้อย

2) ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการเชิดชูผู้นำ ทั้ง ๆ ที่พลังขับเคลื่อนคือความซับซ้อนของชนชาติในสังคม เป็นการขยายการค้า เป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เป็นการเผยแผ่ความคิดและความเชื่อที่มาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม เป็นการแผ่กระจายความคืบหน้าทางเทคนิค เป็นต้น สรุปก็คือ ชาติพันธุ์และระบบกษัตริย์ไม่ใช่แก่นแกนของประวัติศาสตร์

ผมได้แนวคิดข้างต้นมาจากหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” ซึ่งมีคำประรภว่า “เราตามลูกศรเวลา … จากอดีตสู่ปัจจุบัน … เราเห็นว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยม ไม่ไปตามลูกศรของเวลา … เริ่มจากปัจจุบันที่มีชาติและประชาชาติแล้ว โคจรกลับเข้าอดีตเพื่อแสวงหารากเหง้าของชาติ … อะไรที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการแสวงหารากเหง้านี้ จะไม่มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์แบบนี้”

เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ส.ว. แสดงความกังวลว่าเยาวชนไม่ค่อยเรียนรู้ประวัติศาสตร์รากเหง้า จึงไม่นึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ สื่อมวลชนจึงควรนำเสนอประวัติศาสตร์ให้มากกว่านี้ ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 พฤษจิกายนว่า กำลังเล็งปรับการเรียน “ประวัติศาสตร์” ชี้ต้องนำเสนอความจริงทุกด้าน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจอดีต-รู้คุณแผ่นดิน มีระเบียบวินัย เป็นคนดีของสังคม แต่รูปแบบการนำเสนอต้องปรับเปลี่ยน เช่นโครงการพระราชดำริฯ เรื่องแก้มลิง มีเด็กที่ได้เห็นโครงการนี้จริงจำนวนเท่าไร

อย่างไรก็ดี ผมมีความเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ต้องเปิดกว้าง และไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการดำรงรักษาความได้เปรียบของอนุรักษ์นิยมตลอดไป หวังว่าประวัติศาสตร์อาจช่วยรักษาดุลยภาพระหว่างความสุดโต่งเชิงอนุรักษ์กับความสุดโต่งเชิงรื้อสร้าง ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯบอกว่าจะพยายามลดช่องว่างการแบ่งแยกในสังคม ผู้นำคนปัจจุบันของไทยยังยึดแนวอนุรักษ์อย่างเดียวอยู่หรือ อันที่จริง ไทยหรือเทศ จุดหมายควรจะเป็นมวลมนุษยชาติมิใช่หรือ แม้จะเริ่มที่บ้านเราก่อนก็ตาม

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image