“อารมณ์สีเทา” โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ความเป็นจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิตมนุษย์มีความเกี่ยวเนื่องกัน ถามว่าใครเป็นผู้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับ “โลก” และชีวิตมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร? คำตอบที่ได้อาจมีหลากหลาย ส่วนใหญ่ก็จะคิดถึงนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตก เช่น ชาร์ลส์ ดาร์วิน อริสโตเติล ต่างๆ นานา

สำหรับผู้เขียน คำตอบคือ “พระพุทธเจ้า” ผู้ทรงค้นพบพระธรรม ในประเด็นสำคัญคือ “ความสุข ความทุกข์” ของมนุษย์ ทรงใช้เวลามากมายในการค้นคว้า เพื่อให้รู้จักว่า มนุษย์นั้นมีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้ามี “ปัญหา” คือ “ความทุกข์” เกิดขึ้น จะแก้ไขอย่างไร? เรียกได้ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องชีวิต เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสามารถที่จะแก้ “ปัญหาชีวิต” ของคนเรา และเราก็นับถือพระองค์ในแง่นี้เป็นสำคัญ

ทุกอย่างในความเป็นจริงของชีวิตจริงในโลกนี้ เป็นเหรียญ 2 ด้าน คือ มีเกิดก็ต้องมีตาย มีเริ่มต้นก็ต้องมีตอนจบ มีสีขาวก็ต้องมีสีดำ แต่บางครั้งในชีวิตคนเราอยู่ในระหว่างการเป็นสีขาวกับสีดำ หากผสม 2 สีก็พออนุมานได้ว่าเป็น “สีเทา” แล้วคืออะไร? ไม่ขาวไม่ดำ ในโลกความเป็นจริงมีหรือไม่? ตอบว่า มี

Advertisement

ถ้าหากจะเปรียบเทียบอารมณ์คนในขณะที่มีชีวิต “เป็นๆ” กับ “ชีวิตวิกฤตจะตาย” ก็คงจะอยู่ตรงกลางระหว่าง “ความสดชื่น ร่าเริง” กับ สภาวะจิตหรืออารมณ์ “เศร้าสุดๆ เกือบจะฆ่าตัวตาย” ได้นั่นคือ สภาวะที่เป็น “สีเทา” ระหว่างสองเหตุการณ์แห่งสภาวะจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึก สรุปเป็นว่าคือ “โลกสีเทา”

“ความเศร้า เสียใจ” เป็นอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ กับคนอย่างพวกเราทุกคน เช่น เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวังแล้ว หรือเมื่อเราเจอเหตุการณ์ที่ต้องเสียสิ่งที่เรารัก เราหวงแหน หรือเราสูญเสียบ้านช่องจากไฟไหม้หมดตัว หากเราๆ ท่านๆ ลองนึกเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านเกิดความรู้สึกเศร้าโศก เสียใจ กับสถานการณ์เหล่านั้นนานแค่ไหน เราจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วจะเสียใจกับเรื่องต่างๆ ไม่นานนัก เพราะโดยปกติเราจะมีการ “ปรับตัว” และจะกลับมาเป็น “ปกติ” หรือรู้สึกดีขึ้นในเวลาไม่นาน บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ ไม่เศร้ายาวนานกันเป็นปี

แต่สำหรับ “บางคน” ความเศร้าที่เกิดขึ้น กลับอยู่กับพวกเขายาวนานเป็นเดือน หรือเป็นปี ไม่จืดจาง มีแต่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติ เช่น กลางคืนนอนหลับๆ ตื่นๆ หลับไม่สนิท ตัดสินใจช้ากว่าปกติ ย้ำคิดย้ำทำ หมดความกระตือรือร้น ชอบอยู่คนเดียว แยกตัวอยู่ ทางการแพทย์ระบุว่า “โรคซึมเศร้า” (Depression) เป็นโรคสำคัญชนิดหนึ่ง และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบได้ ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ปัจจุบัน ยุคมีการแข่งขัน และเศรษฐกิจตกต่ำ มีผลต่อรายได้ลดลง เกิดสภาวะยากไร้เป็นหนี้พอกพูน เป็นต้น มีโอกาสเกิดได้สูง เกิดทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในผู้สูงอายุ เกิดจากความผิดปกติของ “สารซีโรโทนิน” ในสมอง ทำให้ความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ หงุดหงิด หมดกำลังใจ เบื่ออาหาร ผอมลง ไม่มีสมาธิ ทำงานไม่ได้

Advertisement

บางรายอาการหนักถึงขั้นฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้รักษาได้ด้วย “ยา”

สาเหตุของโรคซึมเศร้า มีหลายปัจจัยที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งอาจจะมีความสัมพันธ์ส่งผลซึ่งกันและกันได้แก่…

พันธุกรรม : พบว่าคนที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นภาวะซึมเศร้า มีโอกาสเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้มากกว่าคนทั่วไปเกือบ 3 เท่า อย่างไรก็ตาม การที่พ่อแม่เป็นภาวะซึมเศร้าก็ไม่ได้หมายความว่า…ลูกจะเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย

สารสื่อประสาท คนที่ประสบภาวะซึมเศร้าจะมีความผิดปกติของสารสื่อประสาท “ซีโรโทนิน” (Serotonin) ในสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกทางอารมณ์ เกิดวิปริตขึ้นนี้ เรียกว่า ลักษณะบุคลิกภาพ เช่น เป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ มองโลกในแง่ร้าย มีวิธีการรับมือ ความเครียดหรือปัญหาที่ไม่เหมาะสม หรือหนีปัญหา เก็บกดอารมณ์ความรู้สึก แม้ในสถานการณ์ที่ควรแสดงออก เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด หรือกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น สูญเสียบุคคลสำคัญในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด การป่วยเรื้อรัง เช่น เป็นมะเร็ง หรือเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ซึ่งภูมิต้านทานชีวิตต่ำมาก

โรคทางกายและการใช้ยา เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบตัน (Stroke) โรคพาร์กินสัน (Parkinson”s disease) ก็มีโอกาสเกิดสภาวะดังกล่าวได้

ลักษณะอาการของภาวะซึมเศร้า : ถ้าหากจะพูดว่าอารมณ์ “สีเทา” มีอาการของการแสดงเป็นอย่างไร ก็พอจะอนุมานได้ว่า “กึ่งกลาง” ระหว่าง ความสดชื่น สมหวัง กับอาการเครียดสุดๆ โกรธสุดๆ หรือผิดหวังสุดๆ ก็คงพอจะบอกได้ นั่นแหละคือ “อาการ” และการแสดงออกของ “ภาวะซึมเศร้า”

“การซึมเศร้า” จะมีผลทำให้เกิดอาการผิดปกติของทั้งความรู้สึก ความคิด พฤติกรรม และสุขภาพร่างกายไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ “กายและจิต” หรือ “รูปกับนาม” ไปด้วยกัน วิธีสังเกตว่า “ตัวเขา” หรือ “คนใกล้ชิด” มีแนวโน้มเป็นภาวะซึมเศร้าไหม? คงจะสังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติในด้านต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันอยู่นาน ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ หรือ 14 วันขึ้นไป

กลุ่มอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็น “สัญญาณ” แรก ที่เตือนให้แต่ละคน หรือญาติสนิทมิตรสหาย คนใกล้ชิด เฝ้าระวัง ติดตาม ดูแล ป้องกัน ไม่ให้ “เขา” หรือ “คนป่วย” ได้ก้าวไปสู่ขั้นลงไม้ลงมือ พยายาม “ฆ่าตัวตาย” เป็นครั้งแรกเด็ดขาด ถ้าหากเกิดขึ้นแล้ว แสดงว่าอารมณ์ “สีเทา” ก้าวไปสู่การเป็น “สีดำ”

สีแห่ง “มรณะ” ทันที เพราะกลุ่มผู้ป่วยสีเทาถ้าเป็นสีดำแล้ว เขาจะมุ่งมั่นพยายามฆ่าตัวตาย ถ้าพวกเขาหรือผู้ป่วยดังกล่าว มีปัจจัยกระตุ้นหรือสภาวะรุนแรงกระทบจิตใจเขา ตั้งสติไม่อยู่ ขาดสมาธิที่จะกำกับ “จิต” หรือ “ความคิด” หรือ “อารมณ์” ของเขาได้ เขาจะฆ่าตัวเองให้สำเร็จได้ และมักจะสำเร็จด้วยนั้นคือ “จุดตัด” หรือ “จุดอันตราย” ที่สุด ตรงที่สีเทา ก้าวข้ามเข้าสู่ “สีดำ”

แนวทางการดูแลรักษาภาวะซึมเศร้า : ถามว่าถ้าเกิดอาการดังกล่าวแล้ว สามารถดูแลรักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้หรือไม่? ตอบว่า “ได้” เมื่อเราสงสัยว่าบุคคลใกล้ชิดเป็นภาวะซึมเศร้า สิ่งที่ควรทำคือ การติดต่อนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อขอรับการปรึกษา และทำการบำบัดรักษา นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ยังมี 2 ประเด็น ควรต้องทำคือ

ทำความเข้าใจ และการให้กำลังใจ : จากบุคคลรอบข้างมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ควรให้การยอมรับ รับฟัง เรื่องราวต่างๆ อย่างตั้งใจ จริงใจ แม้บางครั้ง เราอาจจะรู้สึกว่า “ปัญหา” นั้นมันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ประสบภาวะซึมเศร้า “ปัญหานั้น” อาจจะเป็นปัญหายิ่งใหญ่ยากที่จะแก้ไข เนื่องจากโรคนี้จะส่งผลต่อความสามารถในการ “คิด” นอกจากนี้ การชักชวนให้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาสนใจ หรือให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างเหมาะสมก็ช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ การดูแลฟื้นฟูจิตใจใช้เวลานาน 2-4 สัปดาห์เฝ้าดูอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม พบว่าปกติและมีการใช้ยาน้อยลงๆ ตามลำดับ สิ่งหนึ่ง “สร้างสุขภาพ” ด้วย “3 อ 3 ล” (ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ดี : ลดเหล้า ลดบุหรี่ ลดอ้วน) ยังเป็นภารกิจช่วยเสริมทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นตามลำดับได้อีกด้วย

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าคนทั่วโลกกว่า 400 ล้านคน ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า : ผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย, โรคซึมเศร้าสามารถนำไปสู่การฆ่าตัวตาย, รายงานอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540-2554 จากโครงการช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และป้องกันผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า พบว่า ผู้ชายจะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง

ถามว่าเรามีวิธีการ “สร้างสุขภาพ” เพื่อป้องกันเป็น “โรคสีเทา” หรือไม่? คำตอบคือ มี สิ่งนั้นก็คือการมี “สติ”

การฝึก “สติ” นั้นเปรียบเหมือน “เชือก” ที่จะรักษาจิตให้อยู่กับที่ได้ ก็เอาเชือกผูกไว้ที่ “ใจ” ปกติใจมันชอบดิ้นรน ชอบปรุงแต่ง คิดวุ่นวายฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับ “ลิง” ที่อยู่บนต้นตาลอยู่ไม่สุข กระโดดไปมาตามกิ่งไม้ จากต้นนี้ไปต้นโน้นเรื่อยไป พระพุทธเจ้าเลยสอนว่าให้จับ “ลิง” คือ “จิต” เอา “เชือก” ผูกไว้กับ “หลัก” หลักคืออะไร หลักคือสิ่งที่ดีงามที่ไม่มีการปรุงแต่งที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราใช้บ่อยๆ คือคำว่า “พุทโธ”

คำว่า “พุทโธ” เป็นคำดีงามหรือเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า ซึ่งก็คือ “เชือก” นำมาเป็นอารมณ์สำหรับ “ผูก” ให้ “จิต” ยึดเหนี่ยวแล้วจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อเวลานั่งสมาธิหรือช่วงที่หงุดหงิด กำหนดลมหายใจเข้าออกๆ ระลึก “พุท” หายใจเข้า “โธ” หายใจออกอุปมาได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือ “ลิงที่ผูกเชือกที่คอไว้” จะขึ้นๆ ลงๆ บนต้นตาลได้อย่างนิ่ง ไม่วอกแวก หรือจิตก็ไม่กระโดดไปมา จนเกิดภาวะนิ่งของจิตเป็น “สมาธิ” และเกิด “ปัญญา” ท้ายที่สุดก็จะมีจิตมั่นคง ไม่เกิดภาวะ “ซึมเศร้า”

ผู้เขียนเองพึงปรารถนาให้ทุกๆ ท่าน หมั่นฝึกปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยการ “ภาวนา” ว่าถึงกายของเราจะป่วย แต่ใจเราไม่ป่วยไปด้วย หรือจะภาวนาสั้นๆ บอกว่า “เจ็บไข้แต่กาย” แต่ “ใจไม่เจ็บไม่ป่วยไปด้วย” ป่วยแต่ “กาย” “ใจไม่ป่วย” ภาวนาบ่อยๆ แค่นี้ “จิตก็ไม่ฟุ้งซ่านไม่มีปรุงแต่ง” เมื่อไม่มีการปรุงแต่งจิตก็ไม่ติดขัด ไม่ถูกบีบ จิตไม่ถูกบีบคั้น ก็ไม่มีทุกข์ ไม่กังวลหงุดหงิด จะมีความปลอดโปร่งผ่องใส ไม่ถูกครอบงำด้วยทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น นั่นคือ การ “รักษาโรคซึมเศร้า” ให้หายเป็น “สีขาว” ไม่กลายเป็น “สีดำ” ได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image