‘การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน’ (2)

จากมติชนฉบับที่แล้ว อนุมานได้ว่า เมื่อเอา “เศรษฐกิจ” เป็นมาตรฐานก็เอา “อุตสาหกรรม” เป็นเครื่องวัด และในยุคที่ผ่านมานี้วงการโลกก็มีความภูมิใจในเรื่องอุตสาหกรรมกันมาก แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็พยายามจะพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบอกว่าเขาเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรมไปแล้ว (Postindustrial society)

หากประมวลหรือทบทวนการศึกษาจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยสรุปได้ความว่า…การพัฒนาเท่าที่เป็นมานี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ในการทำให้เป็นประเทศพัฒนาโดยถือเอา “อุตสาหกรรม” เป็นตัวตัดสินที่สำคัญ คือการพัฒนามาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมหรือพัฒนามาให้เป็นอย่างประเทศอุตสาหกรรม

เนื่องจากการพัฒนามานั้นต้องอาศัยเทคโนโลยี และเทคโนโลยีก็ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นฐาน เพราะเทคโนโลยีจะพัฒนาได้ต้องอาศัยความรู้ทาง “วิทยาศาสตร์” เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เลยเป็นตัว “แกนกลาง” หรือเป็น “เจ้าบทบาทใหญ่ในการพัฒนา” คือ ในการที่จะทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้น

และเป็นหมายของการพัฒนาที่จะทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้นโดยมี “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี” เป็นเจ้าบทบาทใหญ่นี้ ก็เพื่อสิ่งที่เขาเรียกว่า Economic growth คือ ความเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นในโลกยุคที่ผ่านมานี้จึงถือ economic growth หรือความเจริญขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนาถ้าพูดแค่นี้ก็ยังไม่ครบเป็นการมองที่ไม่ทั่วตลอด การพัฒนาไม่ใช่แค่นี้ คือ ไม่ใช่แค่ว่า เออ พัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน แล้วเราจะได้มีความเจริญทางเศรษฐกิจไม่ใช่มองกันแค่นี้

Advertisement

พร้อมกันนี้สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ อะไรเป็นตัว “กรรม” ที่ถูกกระทำ เพราะว่าในการที่เจริญอย่างนี้ได้จะต้องมีสิ่งที่ถูกกระทำ สิ่งที่ถูกกระทำเพื่อจะเอามาสร้างความเจริญหรือทำให้เกิดความเจริญทางอุตสาหกรรมนั้น ก็คือ “ธรรมชาติ” หรือสิ่งที่เราเรียกในปัจจุบันว่า “ธรรมชาติแวดล้อม” นั่นเอง “ธรรมชาติ” เป็นตัวที่ถูกกระทำตลอดมาในการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญเรียกว่า เป็นการพัฒนาหรือก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมนั้น

ยุคที่ผ่านมานี้เรียกได้ว่าเป็น “ยุคนิยมอุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นยุคที่นิยม “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง” แม้ว่าในปัจจุบันความนิยมนี้จะจืดจางลงไปบ้างจากประเทศที่ใหญ่ จนกระทำบางแห่งถึงกับมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ แต่ความนิยมนี้ก็หาได้ลดความสำคัญลงไปไม่ ดังปรากฏอยู่ว่า ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ก็ยังมุ่งมั่นใฝ่ฝันถึงความเจริญแบบนี้

จะเห็นได้ว่าช่วงต่อมาตั้งแต่ปี 2503 สหประชาชาติได้เร่งให้มีการพัฒนามากขึ้น โดยตั้งเป็นนโยบายทีเดียวถึงกับประกาศให้ปี ค.ศ.1960-1970 หรือปี พ.ศ.2503-2513 เป็น “Development decade” คือ “ทศวรรษแห่งการพัฒนา” เรื่องนี้ไม่ค่อยมีการพูดถึงที่ไหนที่จริงเป็นจุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย

Advertisement

วัตถุประสงค์ในการตั้งทศวรรษแห่งการพัฒนานี้ขึ้นมา ก็ด้วยความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ 3 อย่าง ที่กว้างขวางทั่วไปในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาทั้งหลาย คือ

1)ความยากจนข้นแค้น หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า Poverty

2)ความไม่รู้หนังสือ หรือ ความโง่เขลาเบาปัญญา ที่เรียกว่า Ignorance และ

3) ความเจ็บไข้ได้ป่วย มีโรคภัยไข้เจ็บมาก ที่เรียกว่า Disease

การขจัดปัญหาสามประการนี้ หรือวงจรอุบาทว์นี้ เป็นเป้าหมายใหญ่ วัตถุประสงค์ต่อไปก็เพื่อเปิดช่องว่างให้มาตรฐานการครองชีพระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา เป็นอันว่า “ทศวรรษแห่งการพัฒนา” ก็ได้เกิดมีขึ้น ซึ่งจะมีอิทธิพลมาถึงเมืองไทยด้วย เมื่อนั้นทศวรรษแห่งการพัฒนาที่ 1 ระหว่าง พ.ศ.2503-2513 แล้วก็ตามมาด้วยทศวรรษแห่งการพัฒนา (Development decade) อีกครั้งหนึ่งเป็นช่วงที่ 2 ระหว่างที่มีการพัฒนากันเป็นการใหญ่ โดยถือนโยบายสำคัญขององค์การโลก การพัฒนาตามนโยบายนั้นก็ได้รับการปฏิบัติโดยประเทศต่างๆ อย่างแพร่หลายไปทั่ว พร้อมกันนั้น ในระหว่างที่เจริญกันใหญ่ในทางที่จะก้าวไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมนั้น นอกจากมีผลในด้านบวกทำให้เกิดความเจริญทาง “วัตถุ” อะไรต่างๆ ขึ้นมากมายแล้ว ก็ปรากฏว่ามีผลในทางด้านลบเกิดขึ้นด้วย และตอนแรกผลทางด้านลบนี้ปรากฏเด่นชัดขึ้นออกมาในประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ ประเทศที่เจริญเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้วนั่นเอง หรือมี “ปัญหาสังคม” และ “ปัญหาจิตใจ” ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จนกระทั่งท้ายสุดก็มาพบกับ “ปัญหาสภาพแวดล้อม” เสื่อมโทรม

ตอนเกิดปัญหาสังคมและปัญหาจิตใจนั้น ก็ยังพอทนกันไหว แต่พอมาถึง “ปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ คือโลกนี้จะอาศัยอยู่ไม่ได้ จึงถือว่าเป็นเรื่องภัยแล้งที่ไม่อาจจะทนต่อไปได้ทำให้มีการ “ตื่นตัว” กันขึ้น แล้วก็พิจารณาทบทวนการพัฒนาว่ามันเป็นอย่างไรกันแต่ ซึ่งได้เกิดกระทบอย่างนี้

และแล้วก็ลงมติกันว่า การพัฒนาที่ผ่านมานี้มีความผิดพลาดไม่ถูกต้อง จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทาง การพัฒนากันใหม่ ซึ่งนำไปสู่การคิดริเริ่มแนวทางการพัฒนาแนวใหญ่ ที่เรียกชื่อในปัจจุบันว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)”

ประเทศไทยกับการพัฒนาสำหรับประเทศไทยนั้น แต่ก่อนเราไม่มีคำว่า “พัฒนา” ในความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นหรือได้ยินก็แต่ในคำให้พรของพระบ้าง คำให้พรทั่วไปบ้าง ซึ่งมักจะใช้เป็น “วัฒนา” ว่า ขอให้มีความวัฒนาสถาพร ซึ่งก็คือ ขอให้มีความสุขความเจริญ นั่นเอง

ประเทศไทยเราเข้ามาสู่ยุคพัฒนาในช่วงทศวรรษแห่งการพัฒนาสหประชาชาติที่พูดไปแล้ว คือ พ.ศ.2503-2513 และการพัฒนาของประเทศไทยนี้เกี่ยวโยงกับ “ธนาคารโลก” หรือธนาคารระหว่างประเทศ เพื่อการบูรณะและพัฒนาที่เคยกล่าวมาแล้วนั่นเอง (จะว่าเกิดจากการบีบ หรือผลักดันของธนาคารโลกก็ได้)

หากย้อนไปจะพบว่าประเทศไทยเราก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ยุคพัฒนาก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มีการพัฒนา ความจริงเราก็ต้องมีการสร้างสรรค์ความเจริญอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรายังไม่มีการใช้คำว่า การพัฒนา คำที่เรานิยมใช้กันมานานในอดีต ก็คือ “ทำนุบำรุง” หรือ “ทะนุบำรุง” เช่น ทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข เราทำกันมาเรื่อยๆ โดยไม่มีการวางแผน
เมื่อ พ.ศ.2485 รัฐบาลโดยทางกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแผนการบูรณะชนบท 2485 ขึ้น แต่พอทั้งปีต่อมาคือ พ.ศ.2486 ก็ต้องยุบไปเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ต่อมาก็ได้มีความพยายามรื้อฟื้นงานนี้ขึ้นอีกโดยรัฐบาลประกาศใช้แผนบูรณะชนบท ณ 25 กรกฎาคม 2494 แต่ความติดขัดด้านงบประมาณ แผนการนี้ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติจนกระทั่งถูกระงับไปใน พ.ศ.2496

อย่างไรก็ตาม แผนการบูรณะชนบทนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นการตั้งเค้าของการพัฒนา ในชุดต่อมาดันปรากฏว่าอีก 3 ปี ต่อมารัฐบาลมีมติให้บริหารตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยให้“โครงการพัฒนาท้องถิ่น” เป็นโครงการของชาติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2499 ถึงตอนนี้จะเห็นว่า คำว่า“พัฒนา” ได้เริ่มมีการใช้เป็นคำสำคัญขึ้นมาในราชการ ในระยะหัวเลี้ยวที่จะเข้าสู่ “ยุคพัฒนา” เศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ประกาศเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2503

การเข้าสู่ยุคพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่การ “พัฒนาเศรษฐกิจ” โดยปราศจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเป็นมาย้อนหลัง

กลับไปถึง พ.ศ.2493 ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศให้ พ.ร.บ.สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีนั้นอันแสดงว่าประเทศไทยมีการขยับเขยื้อนครั้งใหญ่ในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจแต่ตอนนี้ยังไม่ได้คำว่า “พัฒนา” เราเรียกหน่วยงานของชาติที่ตั้งรับมา โดย พ.ร.บ.นี้แค่ว่า “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ”

ขอให้สังเกตว่าสภาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งขึ้นเมือง พ.ศ.2493 เวลาพูดถึงความมุ่งหมายอะไรต่างๆ ก็จะมีเพียงว่าเพื่อความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจเป็นคำธรรมดาสามัญ

ต่อมาก็ได้เริ่มมีความพยายามในการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลได้ตั้ง “คณะกรรมการดำเนินการวางผังเศรษฐกิจของประเทศ” ขึ้นใน พ.ศ.2496 แต่ดำเนินการไปได้ไม่เท่าไรก็ขาดตอนหายไป จึงสังเกตว่าการวางผังเศรษฐกิจใน พ.ศ.2496 นั้น มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เป็นเครื่องช่วยในการทำโครงการต่างๆ ที่จะเสนอขอรับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

ครั้นเมื่อถึงก้าวใหญ่สู่ยุคพัฒนานี้ การเคลื่อนไหวครั้งใหม่ก็มาจากการที่เบิกทางในการขอกู้เงินจากธนาคารโลกมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะธนาคารโลกจะให้กู้เงินก็จะต้องพิจารณาโครงการขอกู้แต่ละโครงการก่อน ซึ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจแห่งชาติที่ได้รับการมอบหมายให้พิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการวางผังเศรษฐกิจ มีมติให้ขอความร่วมมือจากธนาคารโลกให้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ มาสำรวจสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย

นี่คือ จุดเริ่มต้นที่แท้จริงแห่งการพัฒนาของไทย ซึ่งต้องนับเอาปี พ.ศ.2500 ที่เรียกกันว่า “กึ่งพุทธกาล” ตามภาษาชาวบ้าน

ใน พ.ศ.2500 นั้น แม้แต่คำแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 เมษายน 250 ก็มีข้อความว่า “พัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจให้ถึงประชาชนโดยทั่วถึง”

พอถึงเดือนกรกฎาคม 2500 เราก็ได้รับความร่วมมือจาก “ธนาคารโลก” ส่งคณะสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและได้สำรวจสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเวลา 1 ปี จนถึงมิถุนายน 2501 แล้วออกรายงาน ที่ต่อมาแปลเป็นภาษาไทย ชื่อว่า “โครงการพัฒนาการของรัฐบาล สำหรับประเทศไทย” (A Public Development Program for Thailand) และพร้อมกันได้ทั้งข้อเสนอไว้ให้รัฐบาลไทยตั้งหน่วยงานส่วนกลางสำหรับวางแผนพัฒนาประเทศชาติขึ้น

ระหว่างนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาตามลำดับจนถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติครั้งที่ 2 และได้ขึ้นนำการปกครองเอง ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501

คณะปฏิวัติได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะสำรวจสภาวะเศรษฐกิจขององค์การสหประชาชาตินั้น จึงปรากฏว่าในปี 2502 ได้มี “พระราชบัญญัติสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ.2502” เกิดขึ้นเร่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปีนั้นอันทำให้เกิดมี “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” นับเป็นครั้งแรกที่คำว่า “พัฒนา” ได้ขึ้นมาเป็นคำหลักอันแสดงเป้าหมายและเป็นศูนย์กลางที่กำหนดทิศทางแห่งกิจการของประเทศชาติ ไงเล่าครับ

นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image