คนนับแสน…ที่ชายแดนตะวันตก

ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับ… ในปัจจุบันประเทศไทยมี “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” (ผภร.) อยู่ตามแนวชายแดน ด้านตะวันตกราว 7 หมื่นคน

…ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดน แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี

คนพวกนี้ คือ ใคร มาจากไหน เมื่อใด มาทำไม ?

Advertisement

ผู้เขียนขอรวบรัดตัดความแบบกระชับ จากประสบการณ์ตรงจากการดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย

ประเทศเมียนมาที่มีพรมแดนราว 2,400 กิโลเมตร ติดกับไทยแบบปาท่องโก๋ เหนือสุด คือ เชียงรายติดกับรัฐฉาน (Shan State) ไล่ลงมาทางใต้ถึง จ.ระนอง ที่ไปมาหาสู่ทางบกและทางทะเลกับ จ.เกาะสอง (Kawthaung) ของพม่า

เหตุการณ์สู้รบในประเทศเมียนมา ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมากกว่า 50 ปี คือ การต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ที่มีกองกำลังมีอาวุธ

Advertisement

กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่สุดในประเทศ คือ กลุ่มชาติพันธุ์พม่า (Bama) ประมาณร้อยละ 60 ที่เหลือ คือ มอญ ฉาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉิ่น คะยา ยะไข่

หลายชนเผ่า… มีกองกำลังของตนเอง จะมาป้วนเปี้ยนตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา (ปัจจุบัน 2564 ก็เป็นเช่นนั้น)

ทุกชนเผ่ามีเขี้ยวเล็บ มีอาณาจักร “ชนเผ่ากะเหรี่ยง” มีฤทธิเดชเดชา เป็น “คู่ต่อสู้” กับกองทัพเมียนมา …

ในกลุ่มกะเหรี่ยงเอง ก็มีทั้งกะเหรี่ยงพุทธและกะเหรี่ยงคริสต์

กะเหรี่ยงคริสต์ ถือกำเนิดเกิดขึ้นช่วงอังกฤษปกครองพม่า…อังกฤษทราบดีว่า ชาวกะเหรี่ยงเคยโดนชาวพม่ารุกราน พม่าย่ำยีบีฑา …อังกฤษเลยส่งเสริมให้ชาวกะเหรี่ยงได้รับการศึกษา ส่งไปเรียนในอังกฤษจำนวนหนึ่ง

ชาวกะเหรี่ยงบางกลุมใช้ภาษาอังกฤษได้ดี…

กะเหรี่ยงเป็นเผ่าใหญ่ คนเยอะ ทรัพยากรก็ไม่ขัดสน

สมัยโน้น…อังกฤษสนับสนุนให้ชาวกะเหรี่ยงมาทำหน้าที่เป็นตำรวจ เป็นฝ่ายกฎหมาย…ทั้งหมดนี้ คือ การเสี้ยมให้ทำร้ายกันเอง…จะปกครองง่าย

ประเด็นที่กระทบกับไทยแบบจังๆ คือ รัฐกะเหรี่ยงมีอาณาเขตอยู่ติดกับประเทศไทย

กะเหรี่ยงมีประชากรประมาณร้อยละ 7 ของประชากรชาวพม่าทั้งหมด หรือประมาณ 5 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา…

ในประเทศไทยเอง ก็มีชาวกะเหรี่ยงราว 3.5 แสนคน อาศัยอยู่ใน 15 จังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลำปาง ลำพูน สุโขทัย สุพรรณบุรี และอุทัยธานี

กะเหรี่ยงในเมียนมา…มีไทยเป็นหลังพิง กะเหรี่ยงก็เคยรบกันเอง ส่งกองกำลังรุกล้ำเข้ามา ปล้น ฆ่า ประชาชนไทยจากเหตุค้าขาย

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union : KNU) คือองค์กรที่ตั้งขึ้นมาทำสงครามต่อต้านรัฐบาลพม่าตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2492 จุดมุ่งหมายของ KNU ตอนแรก…เพื่อแยกเป็น “ประเทศอิสระ”

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 มีการพูดคุย เจรจาเพื่อหาทางปรองดองอยู่รวมกันเป็นประเทศ กะเหรี่ยงปรับแนวทาง…ขอเป็น “รัฐปกครองตนเอง”

กองทัพพม่า เคยใช้กลยุทธ์ “เสี้ยม” ให้กะเหรี่ยงคริสต์แตกคอกับกะเหรี่ยงพุทธ ซึ่งก็ได้ผล… กะเหรี่ยงแบ่งเป็น 2 พวก…รบกันเอง

กองทัพพม่าสนับสนุน ถือหาง กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (Democratic Karen Buddhist Army :DKBA) ให้ไปรบกับกะเหรี่ยงคริสต์

ผู้เขียนเคยรับราชการ ทำงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าติดตามสถานการณ์ ติดต่อ พูดคุย กับนายทหารระดับสูง ระดับกลางของกองทัพพม่า ต้องยอมยกนิ้วให้ว่า นี่คือ อุบายการทอนกำลังของข้าศึกที่เยี่ยมยุทธ์

ทำสงครามต้องมีเงินซื้ออาวุธ ซื้อกระสุน การสู้รบในป่าเขา จะผสมผสานไปกับการแสวงหาผลประโยชน์ การค้า ทั้งบนดินและใต้ดินเสมอ

สงครามที่เอาชีวิตเข้าแลก…ส่วนหนึ่ง คือ เพื่อเงิน… ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า ยาสารพัด คือ สินค้าทำเงิน

พ.ศ.2527 กองทัพพม่าเปิดยุทธการใหญ่ นำกำลังเข้าตีฐานทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union : KNU)

ชาวกะเหรี่ยงประมาณ 1,100 คน อพยพเข้ามาที่ “บ้านแม่หละ” เป็นปฐมบท กองทัพพม่าดำรงความมุ่งหมายกดดันกะเหรี่ยงอย่างหนัก ชาวกะเหรี่ยง ลูกเล็กเด็กแดง ทยอยเข้ามาในไทย กระจายไปทั่วตลอดชายแดน…

เดือนมกราคม 2538 พม่าเข้าตีค่ายมาเนอปลอว์แตกอีก

ลูกหลานกะเหรี่ยงที่อยู่นอกประเทศ มีการศึกษา มีเลือดรักบ้านเกิดเมืองนอน ทำงานการเมืองระหว่างประเทศ กระพือข่าวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

กะเหรี่ยงไหลเข้ามาไทยไม่หยุด …สหประชาชาติ หน่วยงาน องค์การระหว่างประเทศขยับตัว ติดต่อมารัฐบาลไทยเพื่อขอเข้าช่วยเหลือ (อีกแล้ว)

บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กลายเป็น ค่ายผู้ลี้ภัย…เป็นค่ายหลักในพื้นที่แม่สอด…

ในเดือนเมษายน 2538… สงครามระหว่างกองทัพพม่ากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ก่อให้เกิดผู้อพยพทะลักเข้ามา 13,195 คน

ต้องขยายพื้นที่ค่าย …วันคืนผ่านไป นับไป นับมา มีคนหนีตายเข้ามา 26,629 คนกว่าร้อยละ 90 เป็นกะเหรี่ยง…

รัฐบาลไทยให้สถานะ “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” (ผภร.) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Displaced Person

ขอเรียนกับท่านผู้อ่านตามความจริงนะครับ…

ในหลักการ…ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหารายได้หรือออกนอกพื้นที่ ภายในค่ายผู้อพยพจะมีองค์กรเอกชนต่างประเทศรวมถึงองค์กรศาสนาต่างๆ ให้ความช่วยเหลือในเรื่องอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรคและการศึกษาในขั้นพื้นฐาน แจกอาหารที่ผู้ลี้ภัยได้รับต่อคน ต่อเดือน

แต่ในความเป็นจริง… คนในค่าย เค้าก็มีมือมีเท้า เคยใช้ชีวิตในป่าในเขา รู้จักเส้นทางดี รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ทุกชีวิตต้องการความปลอดภัย เสรีภาพ อิสรภาพ ต้องการเงิน…ใครหนีไปได้ก็ไป มีงานให้ทำเยอะแยะนอกค่าย มีนายทุน มีคนไทยต้องการแรงงานทั้งนั้น

จะให้งอมือ งอเท้า นอนในกระต๊อบ รอแจกข้าวแจกน้ำ…คงมีเฉพาะคนแก่ เด็กเล็ก …ทุกคนต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่

ศึกสงครามในเมียนมา ต่อเนื่องยาวนาน กองทัพเมียนมาเองก็สูญเสียไม่น้อย เกิดศูนย์รองรับ ผภร. กระจายไปทั่วใน 4 จังหวัด

ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด คือ ศูนย์อพยพบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

ช่วงที่สหประชาชาติร้องขอให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือ ก็จะบอกว่า “ชั่วคราว” …มันเป็นภาษาทางการทูต

องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ จัดหาอาหาร น้ำ ยา จัดการศึกษา จัดระเบียบ ฯลฯ

ผู้เขียนเคยเรียนผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อนำประเด็นความมั่นคง เข้าสู่ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางหยุดยั้ง และมาตรการการส่งกลับ บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ…

ข้าราชการไทย (ที่ไม่ขอระบุหน่วยงาน) มีความเห็นเรื่องภาพพจน์ของประเทศที่จะต้อง “รับรอง-ดูแล” และ “คัดค้าน” การส่งกลับอย่างเต็มที่

บรรดาเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมาจากประเทศต่างๆ เข้ามาในหลายพื้นที่ตามแนวชายแดน หลายโอกาสก็ต้องตีฆ้องร้องเป่า…แหกปากตะโกนว่าสถานการณ์มันเลวร้าย…รุนแรง เพื่อตัวเองจะได้มีงานทำต่อไป

นานวัน นานปี…ศูนย์รองรับ มีเรื่องผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ

ตั้งแต่ พ.ศ.2527 กะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยทั้งหลายนับแสน หนีตายเข้ามาในไทย เคยมียอดผู้หนีภัยสูงสุดราว 1.5 แสนคน

ท่านผู้อ่านมาถึงตรงนี้…คงประจักษ์ว่า ใครได้…ใครเสีย

ประเทศไทยมีประสบการณ์มากโขจากการรับมือกับผู้อพยพจากกัมพูชา ลาว เวียดนาม …หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย

เคยมีเหตุการณ์ที่ทหารกะเหรี่ยงแทรกซึมเข้ามาทำร้าย ยิงปืนครก (เครื่องยิงลูกระเบิด) เข้ามาในค่าย…แบบตามมาฆ่า …ปะทะกับทหารไทยหลายครั้ง

ในช่วงการสู้รบ…อากาศยานที่จะไปลงสนามบินแม่สอด ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเคยมีการยิงขึ้นมาจากภาคพื้นดิน…ไม่ทราบฝ่าย

ผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในค่าย ชายแดนไทย-เมียนมา อยู่ในการดูแลจากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

ปัญหาที่ตามมาชัดๆ คือ คนเหล่านี้ต่างดิ้นรน หาเลี้ยงชีวิตด้วยการเป็นแรงงานข้างนอกศูนย์ เป็นข่าวในสื่อนับไม่ถ้วน

องค์กรระหว่างประเทศจัดตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล คลังอาหาร ยา ทุกคนที่ทำงานตรงนั้น หรือระดับนโยบาย มีความเชื่อว่า…“ชั่วคราว”

การจัดตั้ง พื้นที่รองรับ ศูนย์รองรับ… ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ธรรม หากแต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ มันคือ “ปัจจัยดูด” (Pull Factor) ที่ใครๆ ก็ดิ้นรนจะเข้ามาในศูนย์ให้จงได้…

มีต่างประเทศต่างๆ ทยอยมาคัดเลือก ผภร. เอาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่กระบวนการชักช้า เนิ่นนาน เป็นภาระหนักของไทย…

7 พฤศจิกายน 2553 มีการเลือกตั้งในเมียนมาเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี มีรัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศ รัฐบาลเมียนมาเริ่มมีการเจรจาปรองดอง สร้างสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นทางการ

เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่จะรับ ผภร.กลับไปในเมียนมา…

เปิดโอกาสให้ฝ่ายไทย องค์กรระหว่างประเทศ…เริ่มพูดจากับรัฐบาลเมียนมาเรื่อง “การส่งคนนับแสน” กลับถิ่นฐาน

ผภร.ในพื้นที่ 9 แห่งตลอดแนวชายแดน ใน 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก ราชบุรี และกาญจนบุรี เริ่มมีความหวัง แต่ก็สะดุดหลายเรื่อง

ผู้เขียนเคยรับราชการ มีโอกาสไปติดตามสถานการณ์ เจรจาแบบไม่เป็นทางการกับกองทัพเมียนมาหลายครั้ง

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของสหรัฐและชาวต่างชาติ องค์กรโน้น องค์กรนี้ให้ความสนใจศูนย์รองรับคนนับแสนตามแนวชายแดน มาขอฟังบรรยายสรุปจากกรมกิจการชายแดนทหาร…อนิจจา มาถ่ายรูปแล้วก็กลับไป

การทำงานที่ผ่านมา UNHCR และหน่วยงานของไทย ตั้งคณะกรรมการอีกหลายคณะ มีประชุม ตกลงแบ่งจำนวนผู้หนีภัยจากการสู้รบให้กับประเทศต่างๆ เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 หากแต่ล่าช้า…

ผู้ที่ถูกคัดเลือกไป คือ ผู้สมัครใจ เป็นพวกมีร่างกายสมบูรณ์ ดูดี มีอนาคต มีการเรียนภาษาอังกฤษ ฝึกทักษะการทำงาน ผู้มีความสามารถพิเศษทั้งหลายโชคดี ไปมีชีวิตใหม่ในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียนับหมื่นคน

คงไม่ต้องกล่าวถึง “กลุ่มคนที่เค้าไม่เอา” ที่จะต้องใช้ชีวิต ต้องกิน ต้องนอนอยู่ในศูนย์ทั้ง 9 แห่งในไทย อีกต่อไป

การเจรจาเพื่อขอให้ทางการเมียนมารับเอาตัวคนเหล่านี้กลับไป…ปัญหาคือ ผู้หนีภัยส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานยืนยันตัวตนว่าคนเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน…ทางการเมียนมาจึงปฏิเสธที่จะรับกลับมาตลอด…

เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในศูนย์ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ บางคนทำงานมาแล้ว 3-4 ปี …เลยกลายเป็น “งานประจำ”

ที่พักอาศัย เป็นโรงเรือนไม้ มุงแฝก มุงด้วยตองตึง อยู่เรียงชิดติดกัน เคยมีเหตุการณ์ไฟไหม้วอดวายหลายครั้ง

ในหลักการ….กรมการปกครองเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจระดับปฏิบัติ โดยให้จังหวัดและอำเภอแต่งตั้งปลัดอำเภอผู้ทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ และให้มีสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.) ปฏิบัติงานเป็นประจำ ณ พื้นที่พักพิงฯ ดูแลรักษาความปลอดภัย การจัดทำทะเบียน การประสานงานเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศจัดงบประมาณสำหรับส่งเสริมโครงการพัฒนาอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมกลับสู่ถิ่นฐานเดิม

องค์กรเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ (International Organization for Migration : IOM) ระบุในเว็บไซต์ว่า ในปี 2559 ทางองค์กรได้ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามจำนวน 6,077 คน ทำให้ยอดรวมของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ระหว่างปี 2548-2559 ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของ UNHCR มีจำนวนรวมถึง 107,117 คน

ไม่ใช่เรื่องน่าปลื้ม น่ายินดีปรีดาอะไรหรอกครับ…มีคนออกไป ก็มีคนเข้ามาเติม มาคัดคนไปเป็นพลเมืองประเทศตัวเอง แล้วคนที่เหลือ… เลยกลายเป็นภาระสำหรับประเทศไทย

ถึงแม้จะใช้เงินจากต่างประเทศ…แต่กาลเวลามันล่วงเลยมานานเกินกว่าจะต้องมาแบกภาระในแผ่นดินไทย

ชีวิตคนเรา หมุนเวียนเปลี่ยนผันไป ตำแหน่ง หน้าที่ การงานเผลอแป๊บเดียว ผ่านไป 37 ปีแล้ว …นี่ไม่ใช่ “ชั่วคราว” แน่นอน

คิดเล่นๆ ว่า…ถ้าปี พ.ศ.2527 มีเด็กคนหนึ่งคลอดออกมาในศูนย์ …แล้วใช้ชีวิตเรื่อยมา ไปไหนไม่ได้ กลับไปในเมียนมาก็ไม่ได้ ประเทศที่ 3 ก็ไม่เลือก…ป่านนี้เค้าคนนี้จะอายุ 37 ปีแล้ว

ประเด็นทางกฎหมายเรื่อง “เด็กที่เกิดบนแผ่นดินไทย” นับหมื่นคน ทราบว่าจะ “ไม่ได้” สัญชาติไทย…

โอบอุ้ม ดูแล มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 …แทบจะหา “กรอบเวลา” เพื่อยุติปัญหาไม่ได้ ผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมา กลายเป็นแหล่งทำมาหากิน “ถาวร” ไปแล้ว

การตัดสินใจ กำหนดทิศทาง กรอบเวลา ความชัดเจน ควรจะต้องเป็นหน้าที่ เป็นสิทธิขาดของรัฐบาลไทย

ค่าย ผภร.ทั้ง 9 เป็นแหล่งกำเนิด สิ่งไม่ดีงาม การค้ามนุษย์ ธุรกิจสีเทา สารพัด แบบไม่ต้องสงสัย มีอะไรลึกลับที่เป็นประโยชน์กับคนบางกลุ่ม…

ลองหาเวลาศึกษา ยุทธศาสตร์การจัดการกับกลุ่มกองพล 93 ทางภาคเหนือของไทย ที่เคยกระเซอะกระเซิง หนีการปราบปรามของจีน เข้ามาในไทย …

รัฐบาล โดยบุคคลสำคัญในกองทัพ ณ เวลานั้น ล้ำลึก ชาญฉลาด ทำวิกฤตเป็นโอกาส คิดนอกกรอบ…ทำงานแบบ “มืออาชีพ”

วันนี้… กองพล 93 และครอบครัวกลายเป็น “กลุ่มมิตรภาพยูนนาน” เป็นประชากรไทย ทำมาค้าขาย ได้เรียนหนังสือ กลายเป็นคนไทย

37 ปี…ผ่านไปแล้ว… อย่าทิ้งปัญหาไว้ให้ลูกหลาน

1 กุมภาพันธ์ 2564 มีความเปลี่ยนแปลงในประเทศเมียนมา…ควรหาโอกาสพูดคุยเพื่อ “ปิด” ศูนย์ทั้ง 9 แห่งให้ได้…

เรียบเรียงโดย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image