ข้อจำกัดชีวิต โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ในรั้วมหาวิทยาลัย ทุกองคาพยพของสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับอิทธิพลของระบบสื่อสารใหม่ๆ Modernize Communication System ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ ข่าวสาร ข้อเรียกร้อง โทรศัพท์ติดต่อ ข้อความด่วน เอกสาร บันทึกข้อความ และแฟ้มงานที่หลั่งไหลเข้ามาบนโต๊ะ ทำงานไม่ขาดสาย ในแต่ละวัน…

การทำงานในปัจจุบันนี้มีแต่ความตึงเครียดและดูเปล่าประโยชน์ต่อ “สุขภาพ” ของเรา…ประมาณว่า เครียดมากจนเส้นเลือดสมองอาจแตกตายได้ เมื่อลองไตร่ตรองให้ดีเช่นนี้ เราคงจะไม่ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการเลยสักนิด

นอกจากชีวิตที่มีข้อมูลและงาน “ล้นมือ” เช่นนี้ เรามีทางเลือกอื่นอีกไหม? หรือจะต้องเดินตามรอยนักบวช ชี พราหมณ์ นักเขียนหลายท่าน ด้วยการปลีกวิเวกไปสร้างกระท่อมอยู่กลางป่า ตัดขาดจากสังคมภายนอกและเทคโนโลยีสมัยใหม่ทุกชนิด

ทางออกที่น่าพึงปฏิบัติคือ “เดินสายกลาง” ตามที่พุทธศาสนาพร่ำสอนให้ใช้อริยสัจ 4 เพื่อค้นหาต้นเหตุให้ได้ แล้วเราต่างใช้ชีวิตด้วยปัญญา วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบและถูกต้องเหมาะสมเพียงพอกับชีวิตของเรา คือ เลือกการเดินด้วยอริยมรรค 8 : ทางสายกลางดีที่สุด (ของคนทั่วๆ ไป) โดยเราจะยังคงเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาล ติดต่อสื่อสารกับผู้คนทุกคนที่เราต้องติดต่อสัมพันธ์ด้วย ทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็สามารถเลือกว่าจะรับสิ่งใดใหม่ๆ เข้ามาและทำสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน แล้วแต่จังหวะและโอกาส พูดอีกอย่างหนึ่งคือ “นอกจากเราจะมีชีวิตที่เรียบง่ายขึ้นแล้ว เรายังสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการได้อีกด้วย”

Advertisement

ทางออกที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” เป็นชีวิตที่เราต้อง “บริหารจัดการ” ด้วยการสร้าง “กรอบจำกัด” เหมือนท่อน้ำที่ไหลพุ่งเข้ามาหาเราขนาด 6″ – 8″ ข้อมูลน้ำก็จะพรั่งพรูมาหาเรามากมาย จนเราต้านไม่อยู่ ตั้งตัวไม่ทัน ทำงานก็ไม่บรรลุ ซ้ำจะเกิดปัญหาคือ “น้ำท่วม” รุนแรงอาจถึงขั้นเกิดสึนามิก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกทางเดินด้วยการสร้าง “ข้อจำกัด” ให้เล็กลงประมาณ 2″ – 3″ น่าจะกำลังพอดีกับกำลังปัญญาของเราในการทำงาน เราต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการจดจ่อ (Concentrate) ก็เรื่องที่สำคัญที่สุด แทนที่จะไปให้ความสำคัญไปเสียทุกเรื่อง หากเราจินตนาการถึงวันที่เราทำงานอันแสนสุข สงบ ปราศจากความตึงเครียด เราจะสามารถจดจ่อกับงานที่สำคัญได้อย่างเต็มที่ ลองนึกภาพดูว่า เราจะทำงานไม่กี่อย่าง แต่เป็นงานที่เรา “เลือก” มาแล้วว่าสำคัญจะ “ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” คุณหรือเราแค่ทำงานตาม “เป้าหมายหลัก” ให้เสร็จลุล่วงโดยไม่ต้องกดดันตัวเองให้ทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน

อาจดูเลื่อนลอยสำหรับคนบางคน แต่ “คุณ” สามารถทำได้จริงๆ มีคนเคยทำมาเยอะแล้ว และก็ทำสำเร็จด้วย “ระบบ” ง่ายดังกล่าว นำไปใช้ได้ง่ายมาก

ถามว่าคุณพร้อมหรือยัง ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการ “ตัดสินใจ” เลือกทางเดิน (Make a Decision Mind) เท่านั้น

Advertisement

ทุกคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ในความเรียบๆ ง่ายๆ ของชีวิตอย่างหมดใจว่า “ดี” เมื่อทำชีวิตให้เรียบง่าย ชีวิตของเราและคุณก็จะดีขึ้น เมื่อลดจำนวนสิ่ง “รบกวน” เราก็สามารถเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่เรารักเราชอบ เราเลือกจะทำ เมื่อกำจัดสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว เราก็จะทำงานได้ดีขึ้น (คือมีสมาธิดีขึ้น) และจดจำได้มากขึ้น เมื่อตัดคำฟุ่มเฟือยออกไปและใช้ “คำ” ที่จำเป็นต่อการถ่ายทอด “แก่น” ความคิด หรือทำ “แก่น” ของงาน น่าจะได้มรรคผลและทรงพลังมากขึ้นหรือที่สุด

ความเรียบง่ายมีความหมายแตกต่างตามบริบท มันอาจหมายถึงการใช้วัตถุดิบดั้งเดิมที่ผ่านกรรมวิธี การผลิตและสร้างทุกอย่างขึ้นมาเองแทนที่จะหาซื้อ การทำทุกอย่างด้วยตนเองแทนที่จะพึ่งพาคนอื่น แม้ว่าความหมายเหล่านี้จะดูน่าสนใจสำหรับเรา แต่ความเรียบง่ายที่คนส่วนใหญ่ตามหาในชีวิตก็คือ “ความเรียบง่ายในทุกสิ่งที่ทำ เชื่อว่าทุกคนอยากทำสิ่งต่างๆ ให้น้อยลงไม่ใช่มากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าทุกคนอยากประสบความสำเร็จมากขึ้น จากสิ่งที่เรา “เลือกที่จะทำ” หรือ “ตัดสินใจทำเมื่อเลือกแล้ว”

อนึ่ง ความเรียบง่ายสามารถสื่อสารงานเหลือเพียงสองทาง ที่ต้องเลือกและควรทำ 2 แนวคิด คือ 1.มองหาสิ่งสำคัญ 2.กำจัดส่วนที่เหลือ เพื่อนำไปปรับใช้หรือ “บริหารจัดการ” กับ “ชีวิตการทำงาน” และ “ชีวิตส่วนตัว” แต่ท้ายที่สุดมันจะวกกลับมา แนวคิด 2 ข้อนี้เสมอ ก็คือ จดจ่อกับสิ่งสำคัญและลดทอนส่วนอื่นๆ ออกเสีย เราได้สองแนวคิด (Concept) แต่ก็ต้องมีหลักการ (Principles) ในการทำงานน้อยและให้ผลมากขึ้น และมีชีวิตที่เรียบง่าย ซึ่งมี 6 ประการ คือ 1.สร้างข้อจำกัด 2.เลือกแต่สิ่งสำคัญ 3.ทำให้เรียบง่าย 4.จดจ่อ 5.สร้างนิสัย 6.เริ่มจากสิ่งเล็กๆ

ในการพิจารณาในการทำงานให้เลือกสิ่งที่สร้างผลกระทบให้มากที่สุด ในชีวิตการทำงาน เราทำตัวเหมือน “คนขายประกัน” คนแรก โดยทำงานอย่างบ้าคลั่ง จนสามารถสร้างผลงานออกมามากมายจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ลืมงานบ้าน ลืมลูกเมีย ลืมครอบครัวและได้รับคำชมเชยเป็นรางวัล แน่นอนว่าใครก็อยากเห็นพนักงานของตนเองทำงานหนัก และพร้อมจะกระโจนเข้าจัดการภารกิจทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายจาก “นาย” หรือ “เจ้านาย”

อย่างไรก็ตาม เรายังมีอีกทางเลือกหนึ่งของชีวิตในการจัดการนั่นคือ เราสามารถทำตาม นักขายประกันคนที่สอง โดยเลือกที่จะทำให้น้อยลง และสร้างผลกระทบให้มากที่สุด และคำว่า “ผลกระทบ” (Impact) มีความหมายอย่างไร? งานหรือโครงการของเรา หรือของท่านจะสามารถสร้างผลกระทบได้ในหลายกรณี เช่น

สร้างชื่อเสียงให้คุณระยะยาว สร้างรายได้ให้คุณอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นประโยชน์ต่อบริษัทของคุณอย่างมาก ในแง่ของรายได้ ชื่อเสียง การเจาะเข้าสู่ตลาดใหม่ และอื่นๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ ผลงานหรือมีแนวโน้มที่จะทำให้คุณก้าวหน้าไปได้ไกล เปลี่ยนแปลงชีวิตส่วนตัวของคุณไปโดยสิ้นเชิง เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือมนุษยชาติโดยรวม

ซึ่งยังมีอีกหลายกรณี นอกจาก 5-6 ข้อที่เสนอให้ทราบ บางส่วนคุณหรือเราย่อมมองเห็นได้ดีกว่าว่างาน หรือโครงการของเราจะสร้างผลกระทบในมุมไหน ซึ่งเราจะชี้ชัดได้อย่างไร ว่างานใดที่เราหรือคุณทำสร้างผลกระทบมากที่สุด โดยทั่วไปแล้วมีข้อสังเกตอยู่ 2 วิธีด้วยกัน กล่าวคือ

1.ตรวจสอบงานทั้งหมดที่เราต้องทำ : พิจารณางานทั้งหมดก่อนที่เราต้องทำ แล้วตั้งคำถามกับงานแต่ละขั้นว่า มันจะสร้างผลกระทบได้ยาวนานกว่าสัปดาห์นี้หรือเดือนนี้ไหม มันจะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน อาชีพ หรือชีวิตของเราอย่างไร มันจะส่งเสริม “เป้าหมาย” ระยะยาวได้อย่างไร และ “เป้าหมาย” นั้นสำคัญอย่างไร ที่สำคัญยิ่งคือ งานนั้นๆ ทรงคุณค่ากระทบกับชีวิตคนและคุ้มค่า คุ้มทุนเพียงใด การที่จะตอบคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจ “ฟันธง” ได้ว่างานชิ้นไหนที่สร้างผลกระทบในระยะยาวมากที่สูงถึงแม้กระบวนการนี้จะดูยุ่งยากอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณใช้บ่อยๆ มันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ จนอาจใช้เวลาน้อยนิดเท่านั้น ไม่กี่นาที

2.เริ่มต้นจากเป้าหมายของเรา หากเราสามารถระบุ “เป้าหมาย” ที่อยากทำให้สำเร็จในปีหน้าออกมาได้ เราก็วางแผนได้ว่าในแต่ละวัน เราต้องทำสิ่งใดบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สมมุติว่าเรามีเป้าหมายระยะยาวสามอย่าง ในแต่ละวันให้เลือกวางแผนงานที่จะช่วยให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายเหล่านี้มากขึ้น วิธีนี้จะช่วยรับประกันว่าเรากำลังทำงานที่สร้าง “ผลงานกระทบมากที่สุด” เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายระยะยาวของที่เราวางไว้

แล้ววิธีไหนดีกว่ากัน? คำตอบให้ดูจากว่าวิธีไหนก็ได้ อันที่จริงแล้วเราอาจจำเป็นต้องใช้ทั้งสองวิธีเลยก็ได้ หรือเราอาจจำเป็นต้องใช้วิธีควบคู่ไปเลยก็ได้ เพราะว่า ต่อให้เราวางแผนดีแค่ไหน (วิธีที่สอง) พอเอาเข้าจริงๆ เราอาจจะต้องจัดการทำงานมากมายก่ายกองที่ไม่เกี่ยวข้องกับ “เป้าหมาย” ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือตรวจสอบงานทั้งหมดที่ต้องทำ (วิธีที่หนึ่ง) เพื่อเลือกงานที่สร้างผลกระทบมากที่สุด แทนที่จะพยายามจัดการกับงานทุกอย่าง โดยไม่คำนึงว่ามันมีความหมายต่อชีวิตของคุณอย่างไร

บางโอกาสของชีวิต อาจใช้การสร้าง “ข้อจำกัด” กับทุกแง่มุมในชีวิต เพื่อบีบให้เราเลือกแต่ “สิ่งสำคัญ” นอกจากเรื่องงานแล้ว เราสามารถนำประเด็นนี้ไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต ถ้าหากเรารู้สึกว่าชีวิตนี้กำลังมีปัญหามากมายจนเกินกำลัง รับไม่ไหวไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม และเราอยากทำให้มันมีความเรียบง่ายขึ้น จงใช้ “การสร้างข้อจำกัด” มาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการชีวิต อาทิ หากว่าเมสเสจ (Message) หรือมีอีเมล์จำนวนมากค้างอยู่ในกล่องข้อความ จงจำกัดการเช็กอีเมล์แค่วันละสองครั้ง และเลือกตอบครั้งละ 4-5 ฉบับเท่านั้น แล้วอาจจะถูกบีบให้ทำมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเราจะเลือกจัดการกับอีเมล์ที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น หรือหากคุณมีโครงการหรือกิจกรรมมากเกินไปจนไม่รู้จะเริ่มอันไหนก่อน ลองจำกัดให้เหลือแค่ 2-3 โครงการ เรามีข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมากเกินไปหรือเปล่า ลองจำกัดไว้ที่ 100 ชิ้น เพื่อสร้างทางเลือกที่จะทำ อันนำไปสู่การสร้างพลังและมอบความหมายให้กับชีวิตในด้านต่างๆ ด้วยการตั้งคำถามให้ตัวเองต่อไปนี้ จะมีประโยชน์อย่างมาก

-เรารู้สึกว่าด้านใดชีวิตที่หนักหนาจนเกินรับไม่ไหว?

– เราอยากทำสิ่งใดให้เรียบง่าย สบายใจ และบรรลุผล ซึ่งมี Impact สูงสุด?

– นอกจากงานด้านต่างๆ ที่เราต้องทำให้เสร็จ เราอยากจำกัดจำนวนข้าวของ ข้อมูลที่ได้รับ หรือภาระหน้าที่ของตนเองด้วยหรือไม่?

นี่คือคำถามเบื้องต้นง่ายๆ หากเราสำรวจคำถามเหล่านี้ 2-3 ข้อนี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น แล้วพิจารณาว่า : สิ่งใดไม่สำคัญ: เมื่อเราสร้าง “ข้อจำกัด” เลือกแต่ “สิ่งสำคัญ” เราจึงสามารถสร้างผลลัพธ์งานอันยิ่งใหญ่ด้วยทรัพยากรน้อยที่สุด ฉะนั้นเราจึงเลือกแต่สิ่งสำคัญ เพื่อให้ใช้พลังและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อชีวิตที่ดี มีสุข สงบ ของเราไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image