เหี้ยกับนิเวศวิทยาเมือง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ข่าวคราวการย้ายเหี้ยออกจากสวนลุมฯไม่ได้สร้างความประหลาดใจอะไรให้ผมมากนัก

ออกทางจะปลงมากกว่า ด้วยท่าทีการย้ายเหี้ยราวกับย้ายหมาจรจัดของสำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม. ที่ออกมายอมรับตรงๆ ว่าไม่ได้มีความรู้เรื่องของระบบนิเวศวิทยาของเหี้ยมากนัก (คือไม่รู้ว่าจะมีเหี้ยสักกี่ตัวถึงจะพอดีในสวนสาธารณะแห่งนี้ และไม่ได้สนใจว่าที่ที่รับเหี้ยไปอยู่นั้นเขาจะดูแลเหี้ยอย่างดีไหม ไม่ใช่เอาไปปล่อยแบบหมาจรจัด) แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ผู้ที่ร้องเรียนสบายใจ เพราะมันออกมาก่อความรำคาญทางสายตาหรือทำให้คนขี่จักรยานนั้นล้ม

แถมยังอธิบายว่า นอกเหนือจากสร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนแล้ว เหี้ยพวกนี้ที่เพิ่มจำนวนอย่างมาก จนไปทำตลิ่งพัง หรือไปทำลายแปลงดอกไม้ที่ กทม.ปลูกเอาไว้

เรื่องที่บางคนอาจจะยังไม่ทราบคือ เอาเข้าจริงแล้ว สวนลุมฯนั้นเป็นพื้นที่ที่มีเหี้ยชุกชุมเป็นอันดับที่ห้าของสวนสาธารณะใน กทม. (เรียงอันดับจากมากที่สุดคือ สวนสมเด็จฯ สวนจตุจักร สวนเบญจกิติ สวนหลวง ร.9และสวนลุม)

Advertisement

พูดมาถึงตรงนี้ส่วนหนึ่งต้องเห็นใจ และชื่นชม สำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม. ในฐานะรัฐบาลท้องถิ่น ที่ตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของประชาชน และทำให้เป็นเรื่องประเด็นเร่งด่วน

แต่อีกส่วนหนึ่ง เรื่องที่น่าตกใจยิ่งก็คือ หน่วยงานที่เรียกว่าสำนัก ?สิ่งแวดล้อม” กลับไม่ได้ให้ความสำคัญในมิติของความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนพลเมืองของเมืองอย่างจริงๆ จังๆ

มิพักต้องรับสภาพว่า ทางสำนักฯเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้ตามที่ได้ยอมรับมา

Advertisement

เรื่องความไม่รู้ของสำนักสิ่งแวดล้อมต่อประเด็นเหี้ยนี่น่าตกใจมาก เพราะความไม่รู้นี้ไม่ใช่ว่าไม่รู้เอาเสียเลย แต่อาจจะมีความไม่รู้และไม่พร้อมในระดับที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่สังคมได้

เพราะกลายเป็นว่า สำนัก “สิ่งแวดล้อม” นั้นมองว่าสิ่งที่ตนทำคือการ “จัดภูมิทัศน์เมือง”

แต่สิ่งที่สังคมจำนวนไม่น้อยนั้นทักก็คือ สิ่งที่สำคัญคือการพิจารณาประเด็น “สิ่งแวดล้อม” ในฐานะ “นิเวศวิทยา”

ระบบนิเวศวิทยา (ecological system) กับภูมิทัศน์เมือง (urban landscape) นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ?พลเมือง” ของกรุงเทพฯ ควรจะตั้งคำถามร่วมกันว่า ตกลงเราต้องการให้สวนลุมฯนั้นเป็นสวนสาธารณะที่สะท้อนระบบนิเวศ หรือเราต้องการให้เป็นสวนสาธารณะที่สะท้อนความ ?สบายตา” ในฐานะภูมิทัศน์เมือง

เราต้องการการจัด “สวน” หรือจัดระบบนิเวศ-ระบบธรรมชาติกันแน่?

ประเด็นเรื่องนิเวศวิทยาเมือง (urban ecology) นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูดกันมากนัก แถมยังเข้าใจไม่ค่อยจะตรงกันด้วย ทั้งบรรดานักผังเมืองเอง มิพักต้องกล่าวถึงคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องเมืองในระดับทฤษฎี

แต่เรื่องเหี้ยถูกไล่ที่และจัดระเบียบนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะขอนำเอามิติเรื่องนิเวศวิทยาเมืองมาเล่าให้ฟังกันสักหน่อย

ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ชุดของความเข้าใจในเรื่องนิเวศวิทยาเมืองนั้นอาจจะแบ่งออกเป็นเรื่องสำคัญๆ สักสามแนวทางด้วยกัน

แต่ทั้งสามแนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่ว่าจะเอาธรรมชาติมาใส่ไว้ในเมืองอย่างไร แนวแค่จัดสวนเท่านั้น

 

1.แนวทางการศึกษานิเวศวิทยาเมืองในแบบแรกนี่เป็นเรื่องที่คนนอกวงการสังคมวิทยาเมืองไม่เข้าใจ แต่จะขอสรุปง่ายๆ ก็คือ เรื่องของนิเวศวิทยาเมืองแนวนี้เป็นการ ?หยิบยืม” แนวคิดทางนิเวศวิทยาธรรมชาติมาใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผู้คนในเมือง โดยมองว่าผู้คนในเมืองที่หลากหลายนั้นมีการตั้งถิ่นฐานที่แตกต่างกัน การย้ายถิ่นฐานจากย่านหนึ่งไปอีกย่านหนึ่ง และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลายที่สะท้อนผ่านความเป็น ?ชุมชน” นี้เอง ก็เปรียบเสมือนการที่เมืองเมืองหนึ่งก็เป็นเหมือนระบบนิเวศระบบหนึ่ง แล้วคนแต่ละกลุ่มนั้นอาจจะใช้ที่ดินทำกิจกรรมอะไรบ้าง และย้ายที่ทางอย่างไร โดยสะท้อนจากการทำความเข้าใจแบบแผนการใช้ที่ดิน (land use pattern) ของแต่ละกลุ่มคน (บ้างก็เรียกสำนักนี้ว่า ?นิเวศวิทยามนุษย์” (human ecology)

หากจะอ้างอิงงานที่น่าสนใจในทิศทางนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นงานของ ?สำนักชิคาโก” ไม่ว่าจะงานของ Park หรือ Wirth ที่เป็นต้นธารของแนวคิดเหล่านี้ โดยเฉพาะการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนต่างๆ แม้ว่าในวันนี้งานสังคมวิทยาเมืองจะพัฒนาต่อไปสู่มิติอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง

การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คน และความเชื่อมโยงกับมิติทางเศรษฐกิจการเมือง

2. แนวทางการศึกษานิเวศวิทยาเมือง ที่ศึกษา ?การเมือง” ของระบบนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นในเมือง ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดสาขาใหม่ ที่พัฒนามาจากการศึกษาแนวคิดเรื่องนิเวศวิทยาการเมือง (political ecology) ที่มักจะศึกษาเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนผ่านการใช้ทรัพยากร แต่โดยทั่วไปมักจะศึกษาเรื่องนี้ในชนบท หรือในพื้นที่ป่า

การศึกษาเรื่องการเมืองของระบบนิเวศวิทยาในเมืองนี้ (บางทีเรียกว่า critical urban ecology หรือนิเวศวิทยาเมืองเชิงวิพากษ์) ทำให้เรามองเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเมืองว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับการเมืองเชิงความขัดแย้ง/แข่งขัน/ครอบงำ และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุดความสัมพันธ์ดังกล่าว

กล่าวคือ นักนิเวศวิทยาเมืองเชิงวิพากษ์นี้จะสนใจว่า อะไรคือพลังในระดับโครงสร้างที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนิเวศวิทยาในเมือง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของการกระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียมของระบบนิเวศในเมือง หรือการสร้างระบบนิเวศที่ไปไม่ถึงผู้คนบางกลุ่ม อาจเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นๆ

รวมไปถึงการพูดถึงการเมืองเรื่องการจัดสรรคุณภาพชีวิตต่างๆ ในเมือง และเรื่องของความเสี่ยงต่อเรื่องทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในเมือง

การศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาการเมืองของเมืองแนวนี้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการทำความเข้าใจกับประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง และการทำความเข้าใจว่าระบบสิ่งแวดล้อมของเมืองนั้นถูกสร้างขึ้นในห้วงขณะหนึ่งของประวัติศาสตร์ และมีไว้เพื่อรองรับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเมืองของโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ทั้งนี้ การสร้างระบบสิ่งแวดล้อมใหม่นี้มีลักษณะที่กระจัดกระจายแตกเป็นส่วนๆ และในแต่ละเรื่องนั้นจะมีแบบแผนและการเข้าถึง รวมทั้งการใช้งาน และแจกจ่ายออกไป รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่มีการต่อสู้ต่อรองกันของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่หลากหลาย

 

ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในเมืองนั้น จึงเป็นความสัมพันธ์ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้คนในเมือง และเป็นภาระของนักนิเวศวิทยาเมืองเชิงวิพากษ์ที่จะต้องสร้างสรรค์โอกาสที่จะทำให้เกิดระบบนิเวศวิทยาที่ผู้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกัน และผู้คนที่แตกต่างกันนั้นอยู่ร่วมกันได้ และสามารถเข้าถึงธรรมชาติ และ ?เข้าถึงเมือง” (right to the city) (ดู ?Critical Urban Ecology” ใน Encyclopedia of Geography. SAGE. 2010.)

และเมื่อย้อนเอาเรื่องของเหี้ยมาทำความเข้าใจในเรื่องของนิเวศวิทยาเมืองเชิงวิพากษ์แล้ว เราจะพบความชัดเจนว่าคนกลุ่มไหนใน กทม.นั้นมีอำนาจในการเข้าถึงระบบนิเวศวิทยาในเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น และรัฐบาลในเมืองนั้นให้ความสนใจกับภูมิทัศน์เมืองแบบไหนกับกลุ่มไหนมากเป็นพิเศษ

โดยที่ยังไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่า ในกระบวนการพิจารณากลไกการสร้างและให้บริการด้านระบบนิเวศวิทยาในเมืองนั้น สวนสาธารณะแต่ละแห่งควรจะมีคณะกรรมการที่ประชาชนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรเมืองเหล่านั้นแค่ไหน ซึ่งเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างสถาบันในการบริหารจัดการทรัพยากรร่วม (common pool resource management) นี้ความจริงเป็นรากฐานสำคัญของการจัดการทรัพยากรสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่แค่รัฐหรือ ตลาดเท่านั้นที่จะดูแลอีกต่อไป แต่ต้องเป็น “ระบบ” และ “สถาบัน” การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เข้มแข็ง และสะท้อนการตัดสินใจที่มาจากฐานความหลากหลาย

3. แนวทางการศึกษานิเวศวิทยาเมืองในแบบที่สามนั้น เป็นการศึกษาที่พยายามมองว่า “เมืองทั้งเมืองนั้นเป็นระบบนิเวศวิทยา” ของตัวมันเอง กล่าวคือ ไม่ได้ใช้แต่คำเปรียบเปรยเหมือนแนวคิดแรก หรือมองแต่เรื่องมิติด้านการเมืองและอำนาจเป็นหลัก แต่พยายามเข้าใจว่า แม้ว่าเมืองจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ความสำคัญก็คือ เมืองมันได้กลายสภาพเป็นระบบนิเวศวิทยาที่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแบบใหม่

ซึ่งรวมไปถึงความสัมพันธ์นอกจากมนุษย์กับมนุษย์มนุษย์กับธรรมชาติแล้ว ยังรวมไปถึงมนุษย์กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือกระทั่งมนุษย์กับสิ่งที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติด้วย เช่นมนุษย์กับต้นไม้ในกระถาง หรือในสวน ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติแต่ดั้งเดิม

ในการพิจารณาเรื่องระบบนิเวศวิทยาเมืองในแบบมิติที่สามนี้ เมืองมีลักษณะเป็น “ระบบธรรมชาติ” หรือนิเวศวิทยาบางอย่าง ที่ทำให้เราต้องเข้าใจทั้ง “คน สัตว์ และสิ่งของ” ว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร

ในแง่นี้เหี้ยในเมืองจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ไม่ใช่แค่เรื่องโรแมนติกว่าเหี้ยนั้นเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในเมืองได้เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจว่า เหี้ยมันกินขยะ มันกินหนู และคนก็รังแกมันได้ด้วย

ดังนั้น เราจึงไม่ควรจะเข้าใจแค่การให้การศึกษา หรือจัดสิ่งแวดล้อมให้เหี้ยอยู่ในสวนประดิษฐ์เท่านั้น แต่เราต้องมองด้วยว่า เหี้ยควรมีปริมาณเท่าไหร่ในเมืองทั้งเมืองด้วย ไม่ใช่แค่เหี้ยในสวนเท่านั้น

เรื่องนิเวศวิทยาเมืองในแง่นี้ทำให้เราต้องคิดต่อไปถึงระบบนิเวศวิทยาเมืองที่ลึกซึ้งและเชื่อมต่อกับพวกเรา ที่มากกว่าสิ่งที่พวกจัดภูมิทัศน์เมืองมอง แต่ต้องมองพ้นไปจากการรกหูรกตา หรือใช้ตาเมือง ไปสู่การเข้าใจโครงสร้างของธรรมชาติเมือง หรือเมืองในฐานะธรรมชาติแบบหนึ่ง

เช่นเราต้องเข้าใจระบบแมลงในเมือง ระบบหนูในเมือง ระบบงูในเมือง ระบบแมลงสาบในเมือง ระบบยุงในเมือง ระบบน้ำครำ ระบบเชื้อโรคในเมือง เราจะกำจัดมันทั้งหมด หรือเราจะจัดการระบบนิเวศเหล่านี้อย่างไร

ดังนั้น เมืองจึงไม่ใช่เรื่องแค่การคำนวณอย่างผิวเผินของนักผังเมืองและสถาปนิกเมืองที่ดูแต่การเคลื่อนที่ของพฤติกรรมมนุษย์ ต้นไม้ในเมือง จำนวนประชากร ความต้องการที่พักอาศัยของมนุษย์ (ที่มีกำลังซื้อและมีโฉนด) หรือตัวเลขทางเศรษฐกิจ และความขวักไขว่ของการจราจรเท่านั้น

เราต้องกล้ายอมรับว่าเมืองคือระบบนิเวศที่มีพลวัตและซับซ้อน (city as complex and dynamic ecological system) ที่ผสานเอาคน สัตว์ สิ่งของไว้ในระบบเดียวกัน

ในแง่นี้เราคงจะต้องเข้าใจเหี้ยทั้งในและนอกสวนลุมฯ ในฐานะส่วนหนึ่งของนิเวศวิทยาเมือง และใช้ประเด็นเรื่องของเหี้ยในเมืองนี้แหละครับในการทำความเข้าใจเมืองในฐานะ ?ระบบธรรมชาติประดิษฐ์ที่เราสุดแสนจะคุ้นเคยในการอยู่ร่วมกับมันอย่างกับเป็น “ธรรมชาติหนึ่ง” ของเรา” นั่นแหละครับ

(หมายเหตุ – ท่านที่สนใจเรื่องแนวคิดนิเวศวิทยาเมืองในแบบที่สาม คือเมืองในฐานะระบบนิเวศที่ถูกสร้างขึ้นนี้อาจจะเริ่มพิจารณาจาก D. Pataki. 2015. ?Grand Challenges in Urban Ecology” Frontiers in Ecology and Evolution. Vol. 3. June.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image