ความเหลื่อมล้ำ แผลกลัดหนอง

ปรากฏการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำเป็นความท้าทายที่พบอยู่ในทุกประเทศแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ความเหลื่อมล้ำไม่ได้รับความสนใจมากนัก Kutznet นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลได้เสนอทฤษฎีว่า ในระยะแรกของการพัฒนาประเทศความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปรายได้ของประชาชนจะเริ่มสูงขึ้นและความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง ทั้งนี้ เป็นเพราะในระยะแรกแรงงานภาคเกษตรและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกันด้านรายได้มาก แต่การย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมจะลดความเหลื่อมล้ำและเมื่อมีการศึกษาที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้มีรายได้ต่ำสามารถขยับตัวขึ้นไปสู่ชั้นรายได้ที่สูงกว่า อีกทั้งแรงงานที่มีรายได้สูงขึ้นก็จะเริ่มมีสิทธิมีเสียงในการกำกับนโยบายให้เกิดผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตนมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้นั้นค่อยๆ ลดลง นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีที่เรียกว่า Trickle Down Effect ซึ่งเชื่อว่าการลดภาษีให้กับกลุ่มคนรวยหรือบริษัทจะทำให้มีการใช้จ่ายด้านการลงทุนและในที่สุดก็จะเกิดรายได้มากขึ้นกลับไปสู่รัฐบาลซึ่งจะสามารถใช้ไปช่วยเหลือคนยากจนได้อีก ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำก็ไม่น่าจะสร้างปัญหาอะไรในระยะยาว

ความเหลื่อมล้ำ ลดทอนอัตราการเจริญเติบโต ทฤษฎีของ Kutznet ได้ถูกหักล้างโดยข้อมูลของ Thomas Picketty (2013) ซึ่งอธิบายว่าในช่วงปีที่ Kutznet ใช้ในการวิเคราะห์นั้นเป็นช่วงที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลงจริง แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองแล้วความเหลื่อมล้ำก็เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะความเหลื่อมล้ำจะกัดกร่อนเศรษฐกิจ สังคมของชนชั้นกลางและชนชั้นรายได้ต่ำซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของความเจริญเติบโตของประเทศ งานวิจัยของ IMF ยังพบว่าความเหลื่อมล้ำมีผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ หากกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด (ร้อยละ 20) มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP จะลดลงร้อยละ 0.08 และในทางกลับกันถ้าสัดส่วนรายได้กลุ่มล่างสุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38 ในช่วง 5 ปีที่ตามมา ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้แย้งกับทฤษฎี Trigger Down Effect ที่เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวแล้วความเจริญจะค่อยๆ กระจายออกไปในวงกว้าง (IMF 2558) อย่างไรก็ดี การศึกษาของ IMF พบว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจทำให้ผลตอบแทนแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำในทางที่เลวลง

วิธีคิดแต่เดิมนั้น ความเหลื่อมล้ำเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมในสังคมเพราะเป็นการปิดกั้นการเคลื่อนที่ทางชนชั้น ทำให้อำนาจการจัดสรรทรัพยากรยังอยู่ในมือของกลุ่มเดิมๆ เกิดการผูกขาดและเกิดการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ผลการศึกษาของ IMF ที่กล่าวมาแล้วจึงนับเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สำคัญที่ยืนยันถึงผลเสียที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ทุกประเทศจึงควรจะสนับสนุนนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีการพูดถึงและมีข้อมูลมากที่สุดประเด็นหนึ่งของประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติและอาจแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม เช่น มองความเหลื่อมล้ำในด้านผลลัพธ์หรือกระทบต่อปัจเจก ชุมชนและสังคม หรือความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ หรืออาจจะมองความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ และความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม

Advertisement

ไทยมาวินด้านความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าความเหลื่อมล้ำจะมีอยู่หลายมิติ แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกมิติจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ในมิติด้านรายได้นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (พิรญาณ์ รณภาพ, 2564) การวัดความเหลื่อมล้ำจะใช้ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini coefficient) หากค่าจีนี่เท่ากับ 1 แสดงว่าความเหลื่อมล้ำสูงสุด ซึ่งค่าจีนี่ของรายได้ของครัวเรือนในปี 2560 เท่ากับ 0.431 ความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีวัดจากการเข้าถึงอยู่ที่ 0.807 ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอยู่ที่ 0.281 และด้านสาธารณสุขอยู่ที่ 0.141 ที่ตัวเลขสองด้านนี้ค่อนข้างต่ำก็เนื่องมาจากนโยบายของรัฐในระยะหลังได้ขยายระบบสวัสดิการในสองด้านนี้มากขึ้น (เฉลิมพงษ์ คงเจริญ, 2564) ในขณะที่ความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินสูงถึง 0.886 โดยที่มีผู้ถือครองสูงสุดมีที่ดินถึงกว่า 600,000 ไร่ (ดวงมณี เลาวกุล, 2556)

งานวิจัยในระยะหลังพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อพิจารณาในกลุ่มย่อย เช่น กลุ่มที่มีรายได้จากการเกษตรเป็นหลัก พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงขึ้น (Warn et al. 2020) ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงว่าถ้าแบ่งกลุ่มรายได้ออกเป็น 5 กลุ่ม จะพบว่ากลุ่มที่รวยที่สุดนั้นมีรายได้รวมสูงกว่ากลุ่มที่จนที่สุดถึง 13.5 เท่าในปี 2539 แต่พอในปี 2562 กลับลดลงเป็น 8.9 เท่า สำหรับแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางการเงินก็มีแนวโน้มลดลงยกเว้นในช่วงปี 2558-2560 (เฉลิมพงษ์ คงเจริญ, 2564)

การศึกษาที่ผ่านมามักเน้นการวัดระดับ (Degree) ของความเหลื่อมล้ำ มากกว่าจะพิจารณาสาเหตุที่ทำให้คนเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ทางแก้ก็มักจะเป็นข้อเสนอให้มีการเพิ่มรายได้และสวัสดิการให้กับคนจน ทั้งๆ ที่รากเหง้าของปัญหาน่าจะเป็นนโยบายของรัฐที่กีดกันหรือพรากคนจนออกจากที่ทำกิน และปล่อยให้คนรวยประมาณร้อยละ 20 ของผู้มีที่ดิน ครอบครองที่ดินรวมกันถึงร้อยละ 80 ของประเทศ

Advertisement

นโยบายการจัดที่ทำกินล่าสุดของรัฐโดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จัดสรรที่ป่าสงวนให้ราษฎรทำกินร่วมกันนั้นเป็นนโยบายที่ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็คงต้องเพิ่มความพยายามให้เกิดความรุดหน้าในเชิงปฏิบัติมากขึ้น

ทุกวันนี้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรก็ 58 ปีแล้ว จะให้ร้องเพลงรอไปจนถึงเมื่อไหร่?

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image