ผู้นำท้องถิ่น…

คุณภาพของประชากรของแต่ละกลุ่มคนชนเผ่า สังคมและประเทศนั้นๆ ย่อมมีผลมาจากหลักการ แนวคิดและวิถีแห่งการปฏิบัติไปสู่เป้าหมายของงานอันเนื่องมาจากผู้นำ ภาวะแห่งผู้นำที่สังคมนั้นๆ เป็นผู้กำหนดเลือกอาจจักด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่เป็นหนทางแห่งการยอมรับ ภาวะแห่งความเป็นผู้นำเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหารจัดการคน เงิน งานรวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่จักบรรลุผลแห่งวิถีทางนั้นๆ

เมืองไทยเราในเวลานี้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 23 กันยายน 2564 ได้ประกาศระเบียบ กกต.รองรับการเลือกตั้ง “อบต.” ทั่วประเทศในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ประกอบมาตรา 15, 23, 24, 26, 31, 37, 55, 56, 105, 110, 111 และมาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ให้คณะกรรมการเลือกตั้งได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดังกล่าวในจำนวน 26 ข้อ

ผู้เขียนขออนุญาตไม่ขอลงรายละเอียดในประกาศดังกล่าวซึ่งมีหลักการ วิธีการและวิธีแห่งการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น หรือ “นายก อบต.” ในครั้งนี้ทั่วประเทศในจำนวน 5,300 แห่ง ซึ่งถูกเว้นวรรคจากการเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมาด้วยคำสั่งของ คสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทำให้การบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นถูกตั้งคำถามทั้งการบริหารจัดการ และภาวะแห่งการเมืองของผู้นำระดับประเทศเข้าแทรกแซงทั้งโดยตรงหรืออ้อมหรือไม่…

การสมัครเพื่อรับการเลือกตั้งของนายก อบต.และสมาชิก อบต.ในระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ไปสมัครเป็นนายก อบต.ทั้งประเทศในจำนวน 12,309 คนและสมัครเป็นสมาชิกสภา อบต.ในจำนวน 123,141 คน รวมยอดผู้สมัครเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศในจำนวน 136,250 คน ซึ่งข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ หากใครหรือคนใดคนหนึ่งเข้าไปบริหารจัดการหน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่นซึ่งเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ รายได้ที่มาจากงบประมาณแผ่นดิน ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงรายได้อื่นๆ เฉพาะใน อบต.ขนาดเล็กจะมีงบประมาณสนับสนุนระหว่าง 50-199 ล้านต่อปีและ อบต.ขนาดใหญ่จะมีเงินหรืองบประมาณสนับสนุนที่ 400-600 ล้านต่อปี…(มติชนรายวัน 7 พฤศจิกายน 2564 หน้า 12)

Advertisement

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปรากฏในสื่อประเทศต่างๆ ถึงเรื่องราวการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นก็คือ ผู้นำหรือพรรคพวกที่เสนอตัวตนเข้าไป เขาเหล่านั้นย่อมเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน ชุมชนทั้งการเป็นอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุ ผู้รับก่อสร้าง ประมูลงาน หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้นๆ หลากหลายบริบทในระบบเครือญาติจักมีผู้บริหารทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. นายกเทศมนตรีเทศบาลไปจนกระทั่งถึง ส.ส.ที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรของประเทศ การขายสิทธิ ซื้อเสียงระหว่างผู้ไปลงคะแนนและผู้ที่ต้องการชนะการเลือกตั้งมีความสลับซับซ้อนในยุคสังคมแห่งเทคโนโลยี คำถามหนึ่งก็คือ ระบบกฎหมายถึงการลงโทษผู้กระทำที่ผิดเงื่อนไข หรือผิดกฎหมาย สามัญสำนึกถึงคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ที่ต้องการเข้าไปเพื่อบริหารท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปราศจากอำนาจและผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังจักมีจริงหรือไม่…

ภาพข่าวหนึ่งในวันเวลาที่ผ่านมาก็คือ ข้าราชการประจำอาจจักรวมถึงข้าราชการท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง จับกลุ่มดื่มสุรา เล่นการพนัน หรือกระทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มิใช่ภาระหน้าที่ของราชการและประชาชนอยู่ในสถานที่ดังกล่าว พฤติกรรมแห่งชู้สาว อาจจักรวมไปถึงคดีอาญาของบ้านเมือง การทำร้ายร่างกาย ฆ่ากัน ศาลพิจารณาคดีความถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ ซึ่งมาจากบริบทในสถานที่ดังกล่าวหรืออันเนื่องมาจากอำนาจและผลประโยชน์ จักยังคงอยู่หรือได้รับการแก้ไขจากการเลือกตั้งในครั้งนี้หรือไม่…

การซื้อสิทธิ ขายเสียงเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นผู้ชนะ คงจักมิใช่การยื่นเป็นเงินก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น ข้อเท็จจริงหนึ่งที่มาในบริบทของการนำหัวคะแนนไปท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ งานบุญหรืองานประเพณีที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้หรือหลังได้รับการเลือกตั้ง การใส่ซองด้วยจำนวนเงินเพื่อช่วยงานดังกล่าวถูกซ่อนไว้ถึงความต้องการทำบุญด้วยข้อเท็จจริงหรือเคลือบแฝงไว้ด้วยเสียงแห่งคะแนนเพื่อได้รับชัยชนะ การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปยังผู้นำอื่นๆ ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำสถานศึกษา ผู้นำการเมืองในระดับประเทศ ยังคงมีอยู่ในการเลือกตั้งไปเข้าไปบริหารงานและงบประมาณ อาจจักรวมถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่จะตามมาหรือไม่…

Advertisement

ประชาชนชาวบ้านที่อยู่ในเขตของ อบต.ที่มีความคาดหวังว่าผู้นำหรือนายก อบต.จักอำนวยความสะดวกหรือทำให้คุณภาพของเขาเหล่านั้นดีขึ้นทั้งในบริบทของ งานด้านการศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สวัสดิการสังคม สวัสดิการเด็ก เครื่องออกกำลังกายเด็กเล่น เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ งานศาสนาและวัฒนธรรม งานสาธารณูปโภค ไฟฟ้า เสาไฟที่มีรูปลักษณะของท้องถิ่นชุมชน ประปา หอกระจายข่าว ถนน การระบายน้ำเสีย ขยะ รวมถึงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่มีการเผยแพร่ในแอพพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” ในประเด็นช่องทางจับทุจริต การเลือกตั้ง อบต.โดยการซื้อสิทธิ ขายเสียง เป็นการกระทำความผิดที่มีโทษหนักทั้ง ผู้รับและผู้ให้ ที่มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท-2 แสนบาท หรือทั้งปรับทั้งจำ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นถึง 20 ปี วันแห่งเวลาตั้งแต่รับสมัครเพื่อรับการเลือกตั้งไปจนกระทั่งไปถึงวันที่มีประกาศผลการเลือกตั้งตามมาตรา 17 วรรคสอง ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2565 แล้วเริ่มการทำงานในการบริหารงานระดับท้องถิ่น คงจักมีเรื่องราวและหลากหลายบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายดีชั่ว ถูกผิด ควรมิควรที่เราท่านจักได้รับรู้ในข้อเท็จจริง

คำถามหนึ่งของชาวบ้าน หรือประชาชนในท้องถิ่น ชุมชนนั้นๆ ก็คือ เขาได้รับการเลือกตั้งตามที่ประชาชนได้คาดหวังโดยการพัฒนาระบบงานต่างๆ ตามที่ได้หาเสียงหรือมีนโยบายก่อนการหาเสียงไว้แล้วหรือไม่ หรือว่าพฤติการณ์ก่อนการเลือกตั้งและหลังจากการเลือกตั้งเพื่ออยู่ในตำแหน่ง หน้าที่ อำนาจ ผลประโยชน์จนกระทั่งจักครบวาระต่อไป ความผิดหวังของประชาชน ชาวบ้านที่ต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้นำระดับต่างๆ ไปจนกระทั่งระดับประเทศ คงยังอยู่ในบริบทและข้อเท็จจริงที่ผิดจากความคาดหวัง เราท่านจักเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นผู้นำ ที่เข้าไปบริหารกิจการงานราชการในระดับท้องถิ่นชุมชนอย่างสุจริต ชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ทั้งพฤติกรรมส่วนตนและหน้าที่การงาน…

ทรรศนะข้อคิดของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่มีต่อการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นไปจนกระทั่งถึงระดับประเทศที่ว่า “สังคมไทยห่างเหินจากภูมิหลังของตนเองที่มีศาสนาพุทธเป็นฐานราก ขณะเดียวกันก็รับวัฒนธรรมแบบตะวันตกมาใช้ ทั้งระบบอุตสาหกรรม เทคโนโลยี เป็นสังคมแห่งบริโภคนิยม วัตถุนิยมที่เรียกว่าทันสมัยแต่ไม่พัฒนา (Modernization without Development) เมืองไทยเรามีความเจริญแต่ภายนอกทางด้านวัตถุ ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง อาจจักรวมถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

ข้อคิดหนึ่งก็คือ คนไทยส่วนหนึ่งมีปัญหาซ้ำซาก ชอบความรุนแรง เห็นแก่เสพ หมกมุ่นมัวเมามั่วสุรา ยาเสพติด การพนัน ปล่อยตัวไปตามกระแสบริโภค มีจิตใจอ่อนแอ ชอบความมักง่าย ชอบหาทางลัดไปสู่ผลประโยชน์ที่ต้องการ ชอบแสวงหาลาภลอย ชอบความฟุ้งเฟ้อ ไม่เคารพในกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติ กฎหมายของบ้านเมือง ประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างถูกปรับเปลี่ยนให้ผิดเพี้ยนไป ผู้นำในระดับต่างๆ จักมีสติปัญญา หรือกุศโลบายอย่างไรที่จักให้มีการพัฒนาไปถึงกุศลชั้นปัญญา…

คำสอนของพระเถระผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเราที่เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นที่พึ่งในยามยากเข็ญที่ต้องการแสวงหาที่พึ่งอย่างถาวร เราท่านและผู้นำระดับท้องถิ่นที่จักได้มาในเวลาไม่นานนี้ จักได้ยินเสียงแห่งกุศลธรรมเพื่อนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองในระดับท้องถิ่นในลักษณะจิ๋วแต่แจ๋ว ที่มีความเป็นผู้นำตัวอย่าง ท้องถิ่นตัวอย่าง การบริหารโปร่งใสตรวจสอบได้ที่เป็นตัวอย่างจาก อบต.ทั่วประเทศ เราท่านจักได้พบเห็นได้หรือไม่….

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image