สู่ปีที่45

ช่วงหยุดปีใหม่ หยิบหนังสือ “อี้จิง” ศาสตร์พื้นฐานแห่งชีวิต โดย “เจิงซื้อเฉียง” และ “หลิวจวินเจิ้ง” เป็นผู้เขียน มี “สุนทร ลีวงศ์เจริญ” เป็นผู้แปล

สำนักพิมพ์มติชนเป็นผู้พิมพ์

หนังสือเล่มนี้พิมพ์มานานแล้ว แต่เมื่อกลับมาอ่านอีก ยังรับรู้ถึงคุณค่า

หลักการอี้จิงเป็นศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจกับธรรมชาติ

Advertisement

หนังสือบรรยายถึงสัญลักษณ์ “หยิน” และ “หยาง”

เล่าขานว่า ท่านฝูซี เป็นคนชอบตรึกตรองใช้สมองครุ่นคิด

เขาได้สำรวจธรรมชาติพบว่า กลางวันกับกลางคืนหมุนสลับกันไปชั่วนิรันดร์น้ำในทะเลเมื่อขึ้นสูงแล้วก็จะลดลงแล้วก็กลับมาขึ้นสูง ต้นไม้ใบหญ้าเจริญเติบโตแล้วเหี่ยวเฉา

Advertisement

เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ถือกำเนิดและตาย

สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่แน่นอน

ท่านฝูซีสงสัยว่า จะมีพลังมหึมามหาศาลอย่างหนึ่งกำลังควบคุมจักรวาล

พลังงานนี้จะผลักดันให้สรรพสิ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปรในลักษณะมีระเบียบกฎเกณฑ์

เขาได้ใช้กิ่งไม้วาดเส้นตรงเส้นหนึ่ง ทำเป็นสัญลักษณ์ (-) เพื่อใช้แทนพลังงานดังกล่าว ซึ่งภายหลังเรียกสัญลักษณ์นี้ว่า “หยาง”

แต่การสำรวจธรรมชาติไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ไหน ท่านฝูซี ยังเห็นว่า ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกทุกวัน เป็นดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน

สังเกตเห็นฤดูกาลทั้งสี่ หมุนเวียนกลับมาเกิดซ้ำ แล้วได้ข้อสรุปว่า การแปรเปลี่ยนของจักรวาลไม่ได้เกิดจากพลังงานประเภทใดประเภทหนึ่ง

จากนั้นได้หักกิ่งไม้มาวาดสัญลักษณ์เป็นเส้นประ (–) ซึ่งต่อมาเรียกว่า “หยิน”

หยินในครั้งหลังแทนมวลสสาร หยางในครั้งหลังแทนพลังงาน

เมื่อเกิดหยินไปจนถึงที่สุดแล้วจะเกิดหยาง เมื่อเกิดหยางไปถึงที่สุดแล้วจะเกิดหยิน

ส่วนคำว่า “อี้จิง” นั้น คำว่า “อี้” ด้านหนึ่งมีควาหมายว่า “เปลี่ยนแปลง” ขณะที่คำว่า “จิง” คือหลักการของความไม่เปลี่ยนแปลง

ทำให้ต้องเข้าใจ “วิถีการดำเนินชีวิตอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่หลักเกณฑ์การดำเนินชีวิตนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลง”

เมื่อมีทั้ง “เปลี่ยนแปลง” และ “ไม่เปลี่ยนแปลง” จึงควรกำหนดสถานะให้ถูกต้องเหมาะสมระหว่างกัน

อี้จิง ยังเสนอจินตภาพในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงได้

ทั้ง “กลับไปกลับมา” ทั้ง “ไปๆ มาๆ” ทั้ง “วนเวียนเป็นวัฏจักร” ทั้ง “ก้าวหน้าถอยหลัง” ทั้ง “แข็งกล้าอ่อนโยน” ทั้ง “รุ่งเรืองเสื่อมถอยลดน้อยเพิ่มพูน” ทั้ง “แปรเปลี่ยนระหว่างสำเร็จกับล้มเหลว”

หนังสือยังยกตัวอย่างพลังของหยินหยาง ว่า เมื่อหยินคือตัวเลข 0 รวมกับหยางคือเลข 1 กลายเป็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอันกว้างขวางไร้ที่สิ้นสุด

นั่นคือ หนึ่งหยินหนึ่งหยางก่อเกิดเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล

ข้อคิดจากอี้จิงมีหลายเรื่องที่สอดแทรกอยู่ในหลายบท

อาทิ บทที่บ่งบอกว่า มนุษย์เมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีชีวิต สรรพสิ่งล้วนมีโชคชะตาที่แน่นอน

ใครที่ไม่คิดเปลี่ยนแปลงก็จะดำเนินไปตามโชคชะตาที่เป็นอยู่

ใครที่คิดเปลี่ยนแปลงตนเองก็อาจเปลี่ยนแปลงได้

กระบวนการเปลี่ยนผ่านของชะตาชีวิตขึ้นอยู่กับเรา

เลือกถูกแล้วรับโชค เลือกผิดแล้วประสบเคราะห์

ด้านการบริหาร อี้จิงแนะนำการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

แนะนำว่า “คุณธรรมหลักใหญ่ของฟ้าดินคือชีวิต มนุษย์ชาติต้องให้ตนเองไปสู่ทางสายกลาง จึงสามารถได้รับความคุ้มครองจากฟ้า”

หลักเหตุผลพื้นฐานที่นำไปสู่ทางสายกลาง

ประกอบด้วย โลกต้องการสันติภาพ ประชาชนต้องร่วมมือ ประเทศต้องพัฒนา และสังคมต้องก้าวหน้า

หลักการพื้นฐานแบบนี้อ่านแล้วเห็นว่าสำคัญ

ทั้งคน ทั้งองค์กร หรือแม้แต่ประเทศชาติ จำเป็นต้องมีหลักการพื้นฐาน

มีเหตุผลที่ต้องใช้หลักการพื้นฐานนั้นๆ ในการขับเคลื่อนดำเนินชีวิต ดำเนินกิจการ หรือดำเนินงานของประเทศ

ความจริงแล้วหนังสือ อี้จิง มีเรื่องราวรายละเอียดมากกว่านี้มาก

หากแต่แค่จับประเด็นในช่วงที่มาและหลักการพื้นฐานของชีวิต

ทำให้นึกถึงการดำรงอยู่ของประเทศ องค์กร และครอบครัววงศ์ตระกูล ที่ต้องมีหลักยึด

อย่างหนังสือพิมพ์มติชนที่ครบรอบวันเกิดวันที่ 9 มกราคม 2565 ในวันนี้

ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 45 แล้ว หลังจากออกจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับแรกไปเมื่อปี 2521

มติชนถือปฏิบัติตามหลักการทำงานของสื่อมวลชนจากยุคก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน

ถ่ายทอดข่าวสารให้คนไทยรับทราบด้วยความซื่อสัตย์ตั้งแต่ต้นมาจนถึงบัดนี้

ทำงานกันบนหลักการพื้นฐานที่คนรุ่นก่อนส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป

ถามว่าความเป็นมติชนอธิบายได้หรือไม่

ตอบคำถามด้วยโครงกระทู้ที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ประพันธ์ขึ้น และสลักไว้หน้าอาคารสำนักงานใหญ่

มติ ต้องถูกต้อง โดยธรรม

ชน กับคนก่อกรรม ชั่วร้าย

ประชา ต่างธงนำ เรามุ่ง

ชาติ นพคุณถ่อยป้าย เปราะขึ้นเงาเสมอ

ปี 2565 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่สื่อมวลชนทุกแขนงต้องทำงานหนัก

แต่เชื่อว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างยินดีที่จะทำงานหนักต่อไป

ด้วยความหวังที่อยากเห็นประเทศชาติมีอนาคต คนไทยมีความสุข

มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่ออย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image