อาชีพดนตรี จะขยับตัวไปข้างหน้าอย่างไร ในสภาพของสังคมไทยวันนี้

เวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีนาคม 2563 ถึงมกราคม 2565 เป็นช่วงเวลาที่โรคโควิดในประเทศไทยยังระบาดหนักอยู่ ในส่วนอาชีพดนตรีแทบจะขยับตัวได้ยากมาก เพราะความน่ากลัวของโรคระบาดโควิดที่มีเชื้อโรคอยู่รอบตัว แถมยังมีมาตรการของรัฐที่ต้องกักตัว ต้องทำงานที่บ้านเพราะว่ากลัวจะติดโรคหรือออกไปแพร่โรค ต้องกลัวการกระทำที่ผิดกฎหมาย แถมยังต้องรักตัวกลัวตาย การรอคอยวัคซีนที่จะฉีดป้องกันให้ครบ การขวนขวายหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัว หาเจลล้างมือ มีแอลกอฮอล์พกพาล้างมือ การหาซื้อหน้ากากอนามัยปิดปาก การวิ่งเต้นหาเส้นสายเพื่อจะฉีดวัคซีน ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่หาได้ยาก เป็นภาระและต้องใช้เงินทั้งสิ้น

อาชีพนักดนตรีนั้นต้องหยุดงานก่อนอาชีพอื่น ส่วนใหญ่ต้องทำงานกลางคืนนอนกลางวัน เมื่อรัฐออกประกาศภาวะฉุกเฉิน นักร้องนักดนตรีก็ตกงานเรียบร้อยหมดโดยไม่มีเงินชดเชยแต่อย่างใด เนื่องจากนักร้องและนักดนตรีเป็นอาชีพรับจ้าง มีนายจ้างและมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง อาจจะได้งาน 3 เดือน ตกงาน 6 เดือน รายได้หักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่มีเอกสารใดๆ ที่จะนำไปอ้างสิทธิว่าเป็นผู้เสียภาษีที่ชัดเจน “อาชีพเสียงดังตังค์มา” และไม่มีหลักฐานที่จะอ้างอิงได้

กิจกรรมดนตรีคลาสสิกที่เคยแสดงเป็นประจำ แม้ยังไม่เป็นอาชีพสมบูรณ์แบบนัก แต่ก็พอมีรายได้เสริมให้สามารถดำรงชีพเป็นนักดนตรีคลาสสิกได้ แต่การแสดงดนตรีคลาสสิกก็ต้องปิดเวทีลง นักร้องนักดนตรีที่เคยมีรายการจะเข้ามาแสดงจากต่างประเทศ ก็ต้องหยุดลงด้วย

ดนตรีไทยกับดนตรีพื้นบ้านยังมองไม่เห็นทางออกเลย นักดนตรีหลายคนก็หันไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อการอยู่รอด อาทิ ขับรถส่งของ ปลูกต้นไม้ ขายอาหาร ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ขายแรงงาน เพราะไม่มีทักษะอย่างอื่นนอกจากเล่นดนตรี ระยะยาวก็มองไม่ออกว่าดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านจะไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวอยู่ในฐานะนักดนตรีได้อย่างไร

Advertisement

งานศพที่เคยมีวงดนตรีปี่พาทย์ มีวงดนตรีพื้นบ้านแสดง ในปัจจุบันก็ไม่มีวงดนตรีบรรเลงในงานศพอีกต่อไปแล้ว อาชีพการทำเครื่องดนตรีทั้งดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทย ก็คงเป็นได้แค่งานอดิเรก แต่ยากที่จะดำรงอาชีพหรือเปิดโรงงานทำเครื่องดนตรีไทย เป็นช่างซ่อมเครื่องดนตรีไทย ผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านเป็นอาชีพ

สำหรับอาชีพช่างจูนเปียโนที่มีฝีมือกลับมีงานแน่น เพราะในเมืองไทยมีเปียโนอยู่แล้วเป็นล้านหลัง ช่างซ่อมเครื่องดนตรีสากล ซ่อมเครื่องสาย (ไวโอลิน วิโอลา เชลโล เบส) รวมทั้งซ่อมคันชัก ช่างซ่อมต้องบินมาจากยุโรป มารับงานปีละหลายครั้ง ต้องเข้ามาปักหลักในเมืองไทยเพื่อซ่อมเครื่องดนตรีครั้งละ 2-3 เดือน

ส่วนอาชีพนักดนตรีสากล เล่นตามไนต์คลับ บาร์ คาราโอเกะ ก็คงจะดำรงชีพอยู่ได้ยาก เมื่อห้ามดื่มห้ามนั่งห้ามกิน การเล่นดนตรีในภัตตาคารห้องอาหาร
ก็คงสูญพันธุ์ไปด้วย นักดนตรีที่เล่นอยู่ตามห้องโถงรับรองในโรงแรมหรูก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว โรงแรมต้องปิดตัวลง โรงแรมชั้นหนึ่ง (4-5 ดาว) เคยมีนักดนตรีเล่นอยู่หลายคนก็ต้องหยุดหมด การจัดงานสังสรรค์ งานรื่นเริง งานแต่งงาน เจ้าภาพก็ใช้วิธีตัดภาระที่มีเสียงดนตรีออกไป เพราะเสี่ยงต่อการติดโรคและมีภาระตามมากับเสียงดนตรีอีกมาก อาทิ การตรวจแยงจมูก การฉีดยาให้ครบ 3 เข็ม การตรวจหาเชื้อ (ATK) การตรวจวัดอุณหภูมิ การทำข้อมูลหมอพร้อมเอาไว้ในมือถือเพื่อให้ตรวจติดตาม การทำแผงกั้นเมื่อจะเล่นดนตรี ฯลฯ

Advertisement

สำหรับการศึกษาดนตรีของเด็กน้อย พ่อแม่ผู้มีอันจะกินและผู้ที่มีฐานะสามารถจัดการศึกษาดนตรีของลูกได้ โดยจ้างครูสอนดนตรีพิเศษเรียนเป็นรายชั่วโมง จะเรียนออนไลน์หรือเรียนตัวต่อตัว เด็กกลุ่มนี้ไม่มีปัญหา สามารถใช้เงินจัดการศึกษาได้ ลูกก็ได้เรียนดนตรีอย่างต่อเนื่องและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ส่วนเด็กที่เรียนดนตรีจากโรงเรียนสามัญ อาทิ โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องหยุดการเรียนดนตรีลง หาความต่อเนื่องไม่ได้ โรงเรียนไม่มีเครื่องดนตรี ไม่มีครูดนตรีที่แท้จริง ไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับการเรียนดนตรี พ่อแม่ก็ไม่มีเครื่องดนตรีและไม่มีอุปกรณ์ในการเรียนดนตรี สรุปว่าเด็กเหล่านี้หยุดเรียนดนตรีไปเลย เด็กกลุ่มนี้ก็กลายเป็นเด็กที่เสียโอกาสในชีวิต

การศึกษาดนตรีระดับอุดมศึกษานั้น ไม่ต้องขยายอะไรอีกเพราะมีสถาบันดนตรีมากเพียงพอ (52 แห่ง) มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพ แม้ค่าเล่าเรียนจะขยับสูงขึ้นไปแล้วก็ตาม แต่คุณภาพยังไม่ได้มาตรฐานสากลตามที่ขึ้นค่าเล่าเรียน อาจารย์ดนตรีในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่มีความรู้ในโลกเก่า ยังมีระบบเทคโนโลยีที่ล้าหลัง เครื่องมืออุปกรณ์ไม่พร้อม ทำให้การสอนดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาล้าหลัง

การศึกษาดนตรีพิเศษในปี 2565 โรงเรียนดนตรีพิเศษสำหรับเด็ก โรงเรียนดนตรีในศูนย์การค้าก็จะซบเซาลง การเลือกครูดนตรีให้ลูกน้อยและการสนับสนุนให้ลูกน้อยได้เรียนดนตรี เป็นโอกาสสำหรับเด็กที่มีฐานะ อาทิ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนไทยที่มีฐานะดี โรงเรียนทางเลือก เด็กเรียนที่บ้าน (Home School) ส่วนวิชาดนตรีในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส เด็กก็ยังด้อยโอกาสต่อไป เด็กกลายเป็นเด็กที่เสียโอกาสในชีวิต

ทางเลือกให้กับเด็ก รัฐควรเปิดโอกาสและรับรองการเรียนดนตรีของเด็กที่เรียนจากโรงเรียนดนตรีพิเศษ หมายถึงโรงเรียนสามัญทุกโรงเรียนที่จัดการศึกษาพื้นฐานสอนดนตรีในโรงเรียนไม่ได้ให้เด็กที่เรียนดนตรีจากโรงเรียนดนตรีพิเศษสามารถเทียบวิชาเรียนได้ ก็จะเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในระบบการศึกษาไทยทันที

ประการแรก โรงเรียนสามัญที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องจัดการศึกษาวิชาดนตรีในกรณีที่ไม่พร้อมให้การศึกษาดนตรีแก่เด็ก เด็กสามารถไปเรียนดนตรีจากโรงเรียนสอนดนตรีพิเศษแล้วนำวิชามานับเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาได้ ประการต่อมา โรงเรียนสามัญและโรงเรียนสอนดนตรีพิเศษ กลายเป็นหุ้นส่วนในการจัดการศึกษาร่วมกัน ประการที่สาม จะเป็นต้นแบบในความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการจัดการศึกษาที่รัฐทำเองไม่ได้ เด็กที่ไปเรียนพิเศษก็ไม่สูญเปล่า วิชาพิเศษ อาทิ วิชาว่ายน้ำ ดนตรี กีฬา ศิลปะ นาฏศิลป์ เป็นต้น

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ตัวอย่างการเซ็นสัญญาตกลงที่จะจัดการศึกษาและทำงานร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์กับบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า เพื่อผลิตครูดนตรีที่จะสอนเด็กเล็ก

อาชีพดนตรีที่ทำงานดนตรีที่บ้าน (Home Studio) การทำเพลงประกอบรายการในสื่อทางยูทูบ งานดนตรีประกอบสารคดี เพลงหนังสั้น เพลงโฆษณา เพลงละครโทรทัศน์ การทำเพลงให้แก่นักร้อง ทำงานเพลงคนเดียว เล่นคนเดียว ซึ่งเป็นงานใหม่ อยู่ได้และมีอนาคต ไม่ต้องยุ่งกับใคร ไม่ต้องคอยใคร แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงและทำงานคุณภาพ ก็จะมีงานดนตรีวิ่งมาหาเอง คนคุณภาพจะมีงานเพียงพอ

นักดนตรีวงซิมโฟนีออเคสตราในปี 2565 จะลำบากมากขึ้น มองไม่เห็นอนาคต เพราะวงดนตรีขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ให้การสนับสนุนมีน้อยลง เหลือเฉพาะส่วนราชการ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ วงดนตรีในกองทัพ เป็นต้น บริษัทเอกชนนั้นตัดงบสนับสนุนออกเรียบ

ดนตรีสมัยนิยมในปี 2565 นักร้องอาชีพ นักดนตรีอาชีพ การร้องเพลงในร้านอาหาร งานแต่งงาน งานสังสรรค์รื่นเริง เพลงเก่าเก็บค่าลิขสิทธิ์แพง เป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ต้องสร้างงานของตัวเอง สร้างเพลงของตัวเอง สร้างอาชีพเอง ศิลปินต้องทำเพลงเอง ร้องเพลงและเล่นดนตรีเอง ฝีมือและคุณภาพเท่านั้นที่จะอยู่ได้

วันนี้เรื่องค่าลิขสิทธิ์เพลงมาแรงและแพงมากขึ้น การนำเพลงคนอื่นมาทำซ้ำ นำมาร้องหรือมาเล่นซ้ำในพื้นที่สาธารณะก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ นักร้องนักดนตรีอาชีพที่ทำมาหากินเล่นในร้านอาหาร ในสถานบันเทิง ก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ผู้ที่ไม่รู้กฎหมายหรือไม่ศึกษากฎหมายก็จะถูกดำเนินคดีเรื่องเอาเพลงที่เป็นสิทธิของผู้อื่นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต บางคนโดนปรับไปเพลงละ 80,000 บาท เพราะว่าไม่รู้และไม่ได้คิด

ทางเลือกคือ การสร้างเพลงของตัวเองขึ้นใหม่หรือร้องเล่นเพลงที่เจ้าของเพลงได้เสียชีวิตไปแล้ว 50 ปี ตัวอย่างในปี 2565 เพลงที่สิทธิตกเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) เพราะผู้ประพันธ์เพลงเสียชีวิตไปก่อนปี 2514 อาทิ ทูนกระหม่อมบริพัตร (พ.ศ.2424-2487) พระเจนดุริยางค์ (พ.ศ.2426-2511) หลวงวิจิตรวาทการ (พ.ศ.2441-2505) หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (พ.ศ.2447-2510) สุรพล
สมบัติเจริญ (พ.ศ.2473-2511) จิตรภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2473-2509) เป็นต้น ผลงานของศิลปินเหล่านี้ตกเป็นสมบัติของสาธารณะ เพราะผู้ที่สร้างงานเสียชีวิตครบ 50 ปี ไม่อยู่ในระบบจัดเก็บของกฎหมายลิขสิทธิ์อีกต่อไป

เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (Countdown) ที่ภูเก็ต มีนักร้องที่มีชื่อเสียงระดับโลกชาวอิตาเลียน อันเดรอา โบเชลลี (Andrea Bocelli) ร้องเพลงคู่กับแก้ม วิชญาณี เปียกลิ่น โดยขับร้องเพลง (Can’t help falling in love) ของเอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งนักร้องระดับโลกเดี๋ยวนี้เมื่อจะเข้ามาแสดงในเมืองไทยก็กำหนดเครื่องดนตรี กำหนดอุปกรณ์เครื่องเสียง เอาคนสำคัญที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ให้เข้ามาทำงานเท่าที่จำเป็น อาทิ ผู้ควบคุมวง หัวหน้านักดนตรี วิศวกรเสียง ส่วนที่เหลือก็หาคนเอาจากเมืองไทย

นักดนตรีที่เล่นประกอบรายการนี้ ได้ค่าจ้างคนละ 8,000 บาท ได้มีโอกาสซ้อมกัน 2 ครั้ง ในการแสดงคอนเสิร์ตต้อนรับปีใหม่ที่ภูเก็ตครั้งนี้ นักดนตรีคนไทยที่เล่นบอกว่า เขาใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท จ่ายให้อันเดรอา โบเชลลี เท่าไรก็ไม่รู้ ข่าวตอนแรกบอกว่า ได้ใช้งบจากรัฐบาล 200 ล้านบาท ซึ่งมี ลิซ่า ลลิษา มโนบาล กับอันเดรอา โบเชลลี เมื่อลิซ่าถอนตัวออกไปก็เหลือแต่โบเชลลี และได้เชิญแก้ม
วิชญาณี มาร้องแทน

อาชีพดนตรีในปี 2565 จะขยับตัวไปข้างหน้าอย่างไรนั้น สภาพของสังคมไทยในวันนี้ รัฐบาลเป็นผู้มีงบแต่เพียงเจ้าเดียว หน่วยงานของรัฐก็นิยมและชื่นชอบนำดาราจากเมืองนอกและนิยมคนดัง ส่วนนักดนตรีอาชีพคนพื้นๆ ในเมืองไทย ก็คงยังเป็นได้แค่เครื่องประดับดาราต่อไป เพราะรัฐไทยยังไม่คิดที่จะสร้างคนของตัวขึ้นมา

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image