ไทยจะเข้าทีพีพี จะต้องคิดให้รอบคอบ

ผู้เขียน : ทิวสน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจได้กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมทีพีพี (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ที่จริงภาษาอังกฤษใช้คำว่า Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) ซึ่งหมายความว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก และนายสมคิดยังได้กล่าวในตอนท้ายในการแสดงโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ว่า

“หากอาเซียน…และได้เชื่อมโยงกับทีพีพี (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ที่เป็นเขตการค้าเสรีที่สำคัญของโลกในทศวรรษข้างหน้าจะทำให้เกิดพลังร่วมทางการผลิต การค้า การตลาด…

ทีพีพี (TPP) หรือที่เรียกว่าข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิกได้เจรจาเตรียมการมาเป็นเวลากว่า 5 ปี คุยกัน 19 รอบ จึงได้ประเทศลงนามเป็นภาคี 12 ประเทศเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ (แหล่งข่าวบางแห่งว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว) อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศริเริ่มและประเทศเจ้ากี้เจ้าการตัวหลัก นอกนั้นได้แก่ ประเทศแคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนภาคพื้นเอเชีย ประกอบด้วย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย บรูไนและเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประกอบการในอีก 2 ปีข้างหน้า
ประเทศไทยจะเข้าหรือไม่เข้านั้นได้มีการถกเถียงมานานพอสมควร จนถึงเมื่อเร็วๆ นี้ นายสมคิดได้บอกว่าไทยพร้อมที่จะเข้าที่พีพี แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่ควรเข้า เพราะไทยจะได้ผลเสียมากกว่าผลได้

Advertisement

ตามข้อมูลของ บริทิช คูมาร์ ซาฮู ผู้เป็นดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์และผู้บรรยายอาวุโสในมหาวิทยา Multimedia University ในมาเลเซีย บ่งบอกว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีแต่ได้มีการค้าขายกับประเทศภาคีทีพีพีถึง 176,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37% ของยอดการค้าต่อปีของไทย ในจำนวนนี้มียอดการส่งออกสินค้าคิดเป็นจำนวนเงิน 92,200 ล้านดอลลาร์ ส่วนยอดการนำเข้าสินค้าจากประเทศภาคีทีพีพีมี 83,700 ล้านดอลลาร์ เกินดุลมา 8.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ในด้านภาษีศุลกากรนั้น ประเทศภาคีทีพีพีเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก WTO (World Trade Organization) ตามกฎกติกาขององค์การค้านี้ ประเทศไทยทำการค้ากับประเทศภาคีทีพีพีที่มีข้อตกลงการค้าเสรี FTA (Free Trade Area) เขาจะเก็บภาษีศุลกากรกับไทยได้ไม่เกิน 3.5% ส่วนประเทศภาคีทีพีพีที่ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับไทย เขาจะเก็บภาษีศุลกากรกับไทยได้ไม่เกิน 6.7% แม้ประเทศไทยจะอยู่นอกทีพีพีก็ตาม

ฉะนั้น การเข้าหรือไม่เข้าทีพีพีจึงไม่ได้ทำให้ไทยเสียภาษีศุลกากรน้อยลง

Advertisement

ในด้านดุลการค้านั้น หลักของ Wits (World Integration Trade Solution) ทำการประมาณการโดยยกตัวอย่างดังนี้
สมมุติว่าทีพีพีลดภาษีสินค้าส่งออกและนำเข้าให้แก่ภาคีทีพีพีลงถึงศูนย์เปอร์เซ็นต์ (โดยความเป็นจริงเขาจะไม่ทำ) ถ้าประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เป็นภาคีทีพีพี ปรากฏว่าการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านดอลลาร์ ผลก็คือไทยจะเสียดุลการค้าเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์

แต่ถ้าประเทศไทยไม่เข้าเป็นภาคีทีพีพี อยู่อย่างปัจจุบัน แม้ทีพีพีจะลดภาษีศุลกากรให้กับภาคีทีพีพีถึงศูนย์เปอร์เซ็นต์ ยอดมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังคู่ค้าที่เป็นภาษีทีพีพีจะลดลงเหลือ 396 ล้านดอลลาร์ต่อปี การเกินดุลทางการค้าของไทยจะลดลงจาก 8.4 พันล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
ในด้านวัตถุดิบนั้น ประเทศภาคีทีพีพีจะต้องซื้อสินค้าวัตถุดิบแพง โดยเฉพาะซื้อจากสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์ก็ตาม เขายกตัวอย่างเรื่อง yarn forward rule of oringin ซึ่งประเทศมาเลเซียและเวียดนามต้องซื้อเส้นด้ายเพื่อผลิตเสื้อผ้าจากสหรัฐอเมริกาแพงกว่าของประเทศจีน ทั้งๆ ที่จีนต้องเสียภาษีก็ตามเพียงเพื่อให้เป็นสินค้าที่ผลิตในมาเลเซียและเวียดนาม สินค้าของพวกเขาจึงแข่งกับของเขาไม่ได้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถได้เปรียบจากการได้ลดภาษีภายในทีพีพี

ปัญหาเรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทางด้านหยูกยาและตำราเรียนสามารถโก่งราคา ทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อในราคาสูง เสียต้นทุนสูง
ตามกฎกติกาที่ตั้งไว้ใน 24 หมวดในทีพีพี แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ภาคีทีพีพี แต่ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมสูงขึ้นกว่าเดิม ชาวไร่ชาวนาก็ต้องจ่ายต้นทุนการผลิตเกษตรกรรมสูงขึ้นเช่นกัน
จากการเสวนาทำประชาพิจารณ์ระหว่างหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานเกษตรกรรมกับเกษตรกรที่เชียงใหม่เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ชาวไร่ชาวนาเกษตรกรต่างแสดงความห่วงใยในผลกระทบจากการที่ไทยจะเข้าร่วมทีพีพี โดยเฉพาะเป็นห่วงกติกาว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาในปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุน ทั้งนี้เพราะกฎว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาได้กำหนดว่าห้ามพวกเขาเก็บรักษาและใช้เมล็ดพันธุ์พืชที่อยู่ในกรอบของกติกาดังกล่าว แม้จะจำกัดเพียงแค่ห้ามใช้ในวัตถุประสงค์ทางการค้าก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไร่ชาวนาปลูกข้าวก็เพื่อการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ ปลูกไว้กินเองเป็นส่วนน้อย เมื่อชาวนาปลูกข้าวแล้วเก็บรักษาพันธุ์เมล็ดข้าวไว้ทำพันธุ์ปลูกข้าวต่อไปไม่ได้ จะต้องให้เขาไปซื้อหรือ
ชาวสวนได้ยกตัวอย่างว่าต่างประเทศได้เอาลำไยไปจดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาแล้ว

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ตราบใดเมล็ดพันธุ์พืชถูกเขานำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรกลายเป็นกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของเขา ชาวไร่ชาวนาจะเอาเมล็ดข้าวที่เขาปลูกเองมาทำเป็นแม่พันธุ์ไม่ได้ตามกติกาของเขา ก็ถือว่าผิดกติกาใน 24 หมวดของทีพีพี แล้วประเทศไทยที่เข้าทีพีพีจะมีความหมายอะไร?
ต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะสายเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image