คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : หอกทมิฬ2560

“หอกทมิฬแทงทมิฬ” เป็นสำนวนมีความหมายถึงการที่อาวุธ หรือวิธีการร้ายแรงของฝ่ายใดนั้นแทงย้อนกลับไปเล่นงานเจ้าตัวเอง ไม่ว่าจะจากความพลาดพลั้งเอง หรือจากเงื้อมมือของอีกฝ่ายใช้อาวุธนั้นสวนกลับมา ซึ่งนอกจากฝ่ายที่ถูกทิ่มแทงเข้านั้นจะทั้งเจ็บปวดและเจ็บใจเพราะอาวุธร้ายของตัวเองทรยศทำพิษให้แล้ว ทั้งยิ่งทำให้ฝ่ายที่สวนกลับนั้นพลันสะใจยิ่งกว่าการใช้อาวุธตัวเอง หรืออาวุธอื่นเป็นทวี โดยเฉพาะถ้าอาวุธร้ายนั้นเคยใช้ทำร้ายตน หรือพวกพ้องมาก่อนหน้านั้นแล้วนับต่อนับ

หากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ ศักราช 2560 นี้ เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” ตามคำของแกนนำพรรคพลังประชารัฐท่านหนึ่งผู้ปัจจุบันนี้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งจริงๆ จะหมายถึงระบบการเลือกตั้งและกลไกการเมืองที่ออกแบบมาเอื้อต่อพรรคการเมืองที่สนับสนุนขั้วอำนาจเก่าของผู้ที่ทำรัฐประหารและจัดทำรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นแล้ว การต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง “ตลอดไป” ของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐนั้นก็เป็นตัวอย่างล่าสุดของการที่ทมิฬนั้นพลาดตายด้วยหอกที่ “ออกแบบมา” เพื่อพวกของตน

ด้วยกลไกอีกส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ถูกออกแบบมาภายใต้สมมุติฐานว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นเลวร้ายสกปรก เป็นที่มาของปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง เช่นนี้บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนี้ จึงมีลักษณะเป็นการ “ตั้งรังเกียจ” ด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามเสียยิบยับหยุมหยิม เพื่อคัดกรองเอาผู้ที่มีตำหนิออกไปเสียจากระบบการเมือง โดยบางเรื่องก็เกินสมควรกว่าเหตุและไร้ความจำเป็น

อีกทั้งหากตรวจพบในภายหลังว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดที่ดำรงตำแหน่งไปแล้วนั้นมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็จะกำหนดบทลงโทษในทางการเมืองไว้อย่างร้ายแรงโดยไม่ต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการกีดกันกำจัดนักการเมืองเช่นนั้น คือ หัวใจของตัวรัฐธรรมนูญนั้นเอง

Advertisement

เมื่อเรื่องชะตากรรมของปารีณาไปเข้าตำรา “หอกทมิฬแทงทมิฬ” นี้พอดิบพอดี จึงไม่ค่อยจะมีใครสงสารเห็นใจเธอที่ “ตกงาน 100%” กล่าวคือสิ้นทั้งตำแหน่งสมาชิกแห่งรัฐสภาที่เธอนั่งในตำแหน่งนี้มาถึงสี่สมัย และงานในฐานะของ “เกษตรกร” ผู้เลี้ยงไก่ในเขตที่ดิน ส.ป.ก.ที่พิพาทนั้นสักเท่าไร

กลายเป็นคนที่แสดงความ “เห็นอกเห็นใจ” เธอกลับได้แก่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมา ผู้ที่เคยถูกลากออกจากสนามรบทางการเมืองไปเพราะ “หอกทมิฬ” รายก่อนหน้า คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งอดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า ที่ให้ความเห็นสรุปได้ว่า การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมและกลไกการบังคับใช้โดยกำหนดให้ ป.ป.ช.ไต่สวนกรณีที่นักการเมืองฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองนี้ เป็นกลไกใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบไว้เพื่อเข่นฆ่านักการเมืองนั้น มีข้อควรวิจารณ์ 3 ประการ

ประการแรก คือการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองนี้ถูกกำหนดโดยองค์กรอื่น ได้แก่จริงๆ แล้วเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดขึ้นก่อนและให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่ทำได้เพียงกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเท่านั้น

Advertisement

ประการที่สอง คือความ “ผิดฝาผิดตัว” โดยนำเรื่องภายในของแต่ละองค์กรที่จะต้องพิจารณาและลงโทษกันเอง ซึ่งไม่ใช่ข้อพิพาททางกฎหมายไปให้องค์กรตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด

และ ประการสุดท้าย บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้นสูงเกินไป ไม่ต่างจากการ “ประหารชีวิตทางการเมือง” ด้วยเครื่องกิโยติน โดยไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิด และเป็นการลงโทษหลายครั้งในเหตุจากการกระทำเดียว

ปิยบุตรจึงสรุปว่า บทบัญญัตินี้ของรัฐธรรมนูญนี้มุ่งหมาย “เข่นฆ่า” นักการเมืองตามที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนำมาโฆษณาอวดอ้างว่ารัฐธรรมนูญของตนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง” ที่เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถใช้ “ปราบโกง” ได้ เนื่องจากอัตราการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศนี้ก็ยังไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลง ทั้งตรงกันข้าม บทลงโทษแบบนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือให้ใช้กลั่นแกล้งกันในทางการเมือง กลายเป็น “อาวุธ” ให้ฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆ นำมาใช้ก่อ “นิติสงคราม” เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน ดังนั้นด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะรักชอบนักการเมืองคนไหน ก็ไม่ควรยินดีกับชะตากรรมของปารีณา และไม่ควรดีใจ สนับสนุน การเข่นฆ่านักการเมืองผู้ใดอีกเลยด้วยวิธีการแบบนี้ แต่ต้องรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อหยุด “นิติสงคราม” ที่นำมาเข่นฆ่านักการเมืองและประชาชน และหยุด “การยื่นดาบ” ให้องค์กรตุลาการมาประหารชีวิตทางการเมืองของนักการเมืองกันเอง

ความเห็นในประเด็นทางรัฐธรรมนูญของปิยบุตรนั้นเป็นเรื่องควรรับฟังและพิจารณา ส่วนจะเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร คือ เสรีภาพในทางความคิด ไม่ว่าความเห็นนั้นจะมีเหตุผลหลักวิชาการใดสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วจึงเห็นด้วยเกือบทั้งหมด เว้นแต่ในท่อนที่ว่า “เราไม่ควรยินดีกับชะตากรรมของปารีณา และไม่ควรดีใจ สนับสนุน การเข่นฆ่านักการเมืองผู้ใดอีกเลยด้วยวิธีการแบบนี้”

นอกจากเรื่อง “ความยินดี” นั้นเป็น “ความรู้สึก” และ “ความรู้สึกคือเหตุผลอย่างหนึ่ง” ตามที่พี่ตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ หนุ่มเมืองจันท์ ได้กล่าวไว้บ่อยๆ แล้วนั้น เหตุผลอีกอย่างที่เรา “อาจ” ยินดีกับชะตากรรมที่ ปารีณา ไกรคุปต์ ได้รับก็ได้โดยไม่รู้สึกผิดหลักการ หรือรู้สึกว่าความเป็นประชาธิปไตยในตัวนั้นพร่องลงอย่างใด

อีกทั้งการที่ปิยบุตรนำเอากรณีของ “ปารีณา” ไปเปรียบเทียบกับ “คุณหมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี ผู้ต้องรับพิษภัยจากรัฐธรรมนูญนั้นก็มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญประการหนึ่ง นั่นเพราะปารีณาเองเป็นฝ่ายที่ถือใช้เอา “ความได้เปรียบ” ต่างๆ นานา อันเป็นอาวุธที่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อตนและพวกพ้อง เพื่อแสวงหาความได้เปรียบทางการเมืองโดยมิชอบธรรมต่างๆ นานา จนกระทั่งพรรคที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดจากการเลือกตั้งทั่วไปกลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล และการสนับสนุนอดีตหัวหน้าคณะผู้ก่อรัฐประหารให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจเดิมของตนพร้อมอ้างความชอบธรรมทางการเมืองได้

รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการอาศัยประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ในการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองของตนและพรรคพวก ทั้งยังปกป้อง “รัฐธรรมนูญ” นี้เพื่อคงความได้เปรียบของตัวเองไว้ แม้ก่อนหน้าก็มีผู้บอกเตือนแล้วถึงพิษภัยอันตรายของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรมนี้และพยายามแก้ไข แต่ก็หานำพาไม่

เพื่อให้ไม่ลืมกันก็ขอทบทวนว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปีที่แล้ว เป็นปารีณาคนนี้เองที่ออกมา “ปกป้อง” อาวุธอันไม่ชอบธรรมนี้ โดยเป็นผู้นำในการยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ถอนระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ที่ในตอนนั้นรัฐสภาได้เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยการยกทิ้งแล้วตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยอ้างว่าจะเป็นการมิชอบตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เป็นอันแท้งไป ในวันนั้น ถ้าปารีณาไม่ยื่นหนังสือที่ว่า และเป็นฝ่ายยืนยันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติเดิมของรัฐสภาทั้งสองวาระ ปัจจุบันเธอก็ไม่ต้องรับชะตากรรมตกงาน 100% เช่นในทุกวันนี้

จริงอยู่ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องของหลักการที่ทุกคนได้รับการมองเห็นหรือปฏิบัติที่เสมอกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครหรือทำอะไรมา ตราบใดที่ถูกทำร้ายหรือละเมิดสิทธิใดแล้ว ก็จะต้องได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมโดยเท่าเทียมกัน หรือหลักการใช้กฎหมายที่ต้องปิดตาไม่ดูหน้าคน ดังสัญญะแห่งประติมากรรมเทพียุติธรรมเธมิส

แต่กระนั้น “ความเป็นธรรม” ในสายตาของ “กฎหมาย” ก็ไม่ได้ทื่อเขลาเสียจนยอมให้คนขโมยดาบใครไปแล้วเผลอทำดาบนั้นบั่นตัวเอง แล้วฟ้องร้องเจ้าของมีดว่าละเมิดละเลยที่ปล่อยให้ตนไปขโมยมีดมาได้เช่นนั้น เพราะมันก็มีหลักกฎหมายอยู่เหมือนกันว่า บุคคลจะถือประโยชน์ใดจากความไม่สุจริตของตนหาได้ไม่ เช่น กรณีที่เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรามิชอบด้วยกฎหมายก็จะถือประโยชน์จากดอกเบี้ยใดๆ ในนิติกรรมนั้นมิได้แม้จะหักส่วนที่เกินออกไปแล้วก็ตาม ซ้ำยังเป็นความผิดทางอาญาด้วย หรือหลักการเรื่อง “ผู้เสียหายโดยนิตินัย” อันเป็นหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แม้มิได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นที่ยอมรับโดยคำพิพากษามายาวนานต่อเนื่องแล้วว่าผู้มีส่วนร่วมในอาชญากรรมใดจะอ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายในอาชญากรรมที่ตนมีส่วนร่วมนั้นไม่ได้ เช่นถ้า ก. สมคบกับ ข. เพื่อร่วมกันฉ้อโกง ค. หากในที่สุดแล้ว ก.เองก็ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงของ ข.ไปด้วย แม้ในทางกฎหมายจะถือว่า ข. นั้นฉ้อโกง ก. แต่ก็จะไม่ถือว่า ก. เป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีเองหรือร่วมกับอัยการเป็นโจทก์ร่วมได้

ดังนั้นหากใครจะสะใจ ชอบใจ จุดประทัดฉลองกับคำพิพากษาและชะตากรรมของปารีณา หรือแม้แต่จะวางเฉยต่อเรื่องนี้ก็ได้โปรดรู้สึกไปเถิด มันหาได้ผิดหลักการหรือเสียศีลเสื่อมธรรมแห่งความเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” อะไรขนาดนั้น เพราะการเรียกร้องความเป็นธรรมให้พวกทมิฬมารที่ใช้หอกร้ายของฝ่ายตนกวัดแกว่งสังหารทำร้ายผู้อื่นมาตลอดแล้วพลาดตายเพราะอาวุธตัวเองมันก็อาจจะขัดขืนฝืนความรู้สึกเกินไป

หากจะมีเรื่องพอให้เราสงสารเห็นใจอยู่บ้าง ก็อาจจะเป็นการที่ผู้ซึ่งเธอยอมลดตัวลงเป็นตัวตลกเพื่อปกป้องนั้นหาได้แยแสเห็นใจต่อชะตากรรมหนักอันไม่เป็นธรรมนี้แต่อย่างใด โดยปัดทิ้งเพียงว่าอะไรที่ทำมาแล้วผิดก็รู้ตัวเองกันอยู่แล้ว ทั้งยังใช้กรณีของเธอนี้มาชูชี้ถึงคุณความดีของระบอบอันพวกเขาสถาปนา เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนรวมถึงนักการเมืองจะต้องเคารพกฎหมาย ทั้งอ้างอวดว่าพวกเขาผู้อยู่ในอำนาจนี้ใช้บังคับกฎหมายอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ดังเปรียบมาตรการและกระบวนการดำเนินคดีมาตรฐานทางจริยธรรมนี้เป็นกิโยตินตามคำกล่าวของปิยบุตรแล้ว ผู้ที่ชูศีรษะของนางขึ้นมาชูให้ผู้คนโห่ร้องก่อนโยนทิ้งไปเพื่อมิให้โลหิตเปราะเปื้อนถึงตน ก็ได้แก่เจ้านายฝ่ายที่เคยต่อสู้ปกป้องจนพลาดท่าในวันนี้นั่นเอง

ส่วนผู้ที่ช่วยนำผ้ามาคลุมศพให้กันอุจาด กลับเป็นฝ่ายศัตรูคู่อาฆาตที่ตัวเองเคยหมิ่นหยามเย้ยหยันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image