ขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ‘ชูนโยบาย 5 มิติหลัก เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นยั่งยืน’

นายขจร ศรีชวโนทัย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ บัญชีรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง สังกัดกระทรวงมหาดไทย 37 ราย

สําหรับ นายขจร เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2507 เคยปฏิบัติหน้าที่ท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี นนทบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสาคร กระทั่งปี 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดี สถ.เมื่อครบวาระ 4 ปี ได้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กระทั่ง วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี สถ.ลำดับที่ 16 แทนนายประยูร รัตนเสนีย์ ที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2565

⦁ มุมมองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารงานท้องถิ่น

Advertisement

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 มีการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพมหานคร, พ.ศ.2448 สุขาภิบาลท่าฉลอม, พ.ศ.2496 เทศบาล, พ.ศ.2518 กรุงเทพมหานคร, พ.ศ.2521 เมืองพัทยา, พ.ศ.2537 องค์การบริหารส่วนตำบล, และ พ.ศ.2540 องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน และมีวัฒนาการเรื่อยมาเติมเต็มแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นจะมีแผนพัฒนาท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บวกกับยุทธศาสตร์ชาติ หากมองอีกมุมมอง สิ่งที่เหมือนกันคือ มีแผนพัฒนาท้องถิ่นที่ต้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาระดับประเทศ ส่วนที่แตกต่างกัน ที่บริบทของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันในแต่ละภาค จึงเป็นข้อดีของแต่ละท้องถิ่นไปบริหารจัดการในส่วนการแก้ปัญหาการพัฒนาพื้นที่

ผู้บริหารท้องถิ่นหลายท่านอยู่หลายสมัยบางท่านเพิ่งได้รับเลือกตั้ง ก็จะมีการเรียนรู้แตกต่างกันไป ซึ่งวิวัฒนาการของการกระจายอำนาจเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีเป้าหมายอยู่ที่การแก้ปัญหาประชาชน

⦁ มีนโยบายหรือโครงการพัฒนา อปท. อย่างไร

Advertisement

นโยบายแบ่งออกเป็น 5 มิติหลัก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้แก่

1.People ด้านสังคม/ความเป็นอยู่ของผู้คน คือ การส่งเสริมการจัดการศึกษาท้องถิ่น, การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ, การบูรณาการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, การทำงานและการส่งเสริมเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากร สถ. การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากร สถ. และข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น

2.Prosperity ด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง การเสริมสร้างความสุขของชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการส่งเสริมการพัฒนารายได้ของ อปท.

3.Planet ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสภาพแวดล้อมท้องถิ่นสู่อนาคตอย่างยั่งยืน, การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของ อปท.

4.Peace ด้านสันติภาพและสถาบันที่เข้มแข็งการให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรจากการประเมินต่างๆ, การยกระดับประสิทธิภาพ อปท.

5.Partnership ด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา คือการบูรณาการการทำงานของ สถ. ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ

⦁ ปัญหาอุปสรรคใหญ่ของ อปท.ที่แก้ไขไปแล้ว และสิ่งที่ยังต้องแก้ไข

สิ่งสำคัญ คือ การบริหารคน และงบประมาณ ซึ่งบาง อปท. เช่น อบต. มีงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ในทางกลับกัน อบจ.บางแห่ง และเทศบาลนคร มีงบประมาณเยอะ หลายพันล้าน ความแตกต่างนี้อาจเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ แต่ในลักษณะการปกครองท้องถิ่นในอนาคต ควรจะมีรายได้ที่ อปท. สามารถจัดเก็บเองได้มากกว่าได้รับจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล จึงจะเรียกว่าการกระจายอำนาจแบบพึ่งตนเองได้

ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัจจุบัน อปท.มีรายได้จากเงินอุดหนุนเป็นหลัก ฉะนั้นการบริหารงานในท้องถิ่นต้องอาศัยงบประมาณจากส่วนกลางเป็นหลักด้วย อย่างนี้ต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณที่จัดสรรไปในสัดส่วนของท้องถิ่นทั้งหมด

⦁ ปัจจุบันยังมีปัญหางบประมาณ และการกระจายอำนาจหรือไม่

การบริหารงบประมาณของท้องถิ่นต้องอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น มิฉะนั้นจะไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่กำหนดให้เป็นอำนาจ หน้าที่อยู่แล้ว เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ มีสัดส่วนมากถึง 40,000-50,000 ล้านบาท รวมถึงค่าอาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) ครูถ่ายโอนและอื่นๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก สำหรับงบที่สามารถให้ อปท.บริหารจัดการได้ คืองบอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งรัฐจัดสรรให้หลักหมื่นล้านบาท อปท.สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาของประชาชนได้เรียนว่าการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นต้องอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น แล้วจึงจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนการบริหารคน ในแต่ละพื้นที่มีโครงสร้างของแต่ละ อปท. แต่มีหลักที่เหมือนกัน เช่น กองช่าง สำนักปลัด เป็นต้น แต่มีบางแห่งที่แตกต่าง เช่น กองสิ่งแวดล้อม, กองประปา เป็นต้น เป็นลักษณะการบริหารโครงสร้างที่ต้องนำคนไปใส่ คนจึงต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง มีความรู้ความสามารถเฉพาะงานนั้น เพื่อสามารถอำนวยความสะดวกกับพี่น้องประชาชนได้ เป็นสิ่งที่ต้องไปพิจารณาในการบริหารคน บริหารงบประมาณ
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่แท้จริง

⦁ ท้องถิ่นร้องเรียนว่ารัฐมักนำโครงการที่พรรคการเมืองหาเสียงมาให้ท้องถิ่นดำเนินการ โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่น จะดำเนินการอย่างไร

การเมืองระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่นต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน เชื่อว่าการเมืองทั้ง 2 ระดับ มีเป้าหมาย เดียวกัน คือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพราะฉะนั้นการนำงบประมาณไปใช้ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

⦁ ปัจจุบันยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองโดยเฉพาะ ปลัด อปท. กับผู้บริหาร อปท.อีกหรือไม่

เป็นเรื่องธรรมดา แต่ความขัดแย้งมีแค่บาง อปท.เท่านั้นที่อาจมีความเข้าใจในการทำงานคลาดเคลื่อน ทั้งปลัด ผอ.กองคลัง หรือตำแหน่งอื่นๆ กับผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งการแก้ปัญหาอาจขยับหมุนเวียน เปลี่ยนสถานที่การงาน แต่ถ้ายึดถือการแก้ปัญหาของประชาชน การทำงานก็จะสอดคล้องกัน

⦁สถานการณ์การเมืองระยะถัดไปที่จะมีการเลือกตั้งระดับชาติ จะป้องกัน แก้ปัญหา การร้องเรียนการทำหน้าที่ของผู้บริหาร และข้าราชการท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองอย่างไร

ในเรื่องการเลือกตั้ง มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระในการตรวจสอบ และดำเนินการให้มีความยุติธรรมในการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่มุมมองในฐานะอธิบดี สถ.เรียนว่า การทำงานในทิศทางเดียวกันในระดับชาติ หรือท้องถิ่น ถ้ามีการทำงานที่สอดคล้อง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน เราสามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือประชาชน เชื่อว่าไม่มีปัญหาเรื่องของพรรคการเมืองระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่นแต่อย่างใด

⦁ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลมีนโยบายให้ท้องถิ่นลดการเก็บภาษีลงเพื่อช่วยเหลือประชาชน เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ท้องถิ่นจึงจัดเก็บภาษีในอัตราเดิม แต่มีผู้ประกอบการร้องเรียนปัญหาว่าการค้าขายยังไม่ฟื้นตัว และได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีในอัตราเดิม จะแก้ไขอย่างไร

ระบบภาษี มีการประเมินเบื้องต้น หากค้าขายไม่ดี หรือเห็นว่าการจัดเก็บภาษียังไม่เป็นธรรม สามารถอุทธรณ์ได้ การที่รัฐบาลลดการจัดเก็บภาษีลงเหลือ 10% เป็นเพียงมาตรการการเยียวยาเบื้องต้น ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย หากยังจ่ายในอัตรา 10% รัฐบาลก็ขาดรายได้ การพัฒนาก็ไม่เกิดขึ้น

 

ขจร โพธิ์นิ่มไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image