ทางออกของผู้ประกอบธุรกิจ : เมื่อมีประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

ทางออกของผู้ประกอบธุรกิจ : เมื่อมีประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 

สคบ.ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๔๕ ง หน้า ๒๖/๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕) เพื่อควบคุมสัญญาการประกอบกิจการค้าโดยเจ้าของนําเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของตนออกให้บุคคลธรรมดาเช่า และให้คํามั่นว่าจะขายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์หรือว่าจะให้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจํานวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป

ผู้เขียนได้เคยเสนอบทความเรื่อง “ทางออกไฟแนนซ์ : เมื่อมีประกาศควบคุมสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์” ว่า เนื่องจากมี กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน (สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑

วรรคหนึ่ง กำหนดให้บังคับธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ  คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจึงไม่อาจใช้อำนาจออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ได้ อ่าน

เพื่อมิให้เนื้อหาสาระบทความนี้ ซ้ำกับบทความเรื่อง “ทางออกไฟแนนซ์ : เมื่อมีประกาศควบคุมสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์” ดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอเสนอความเห็นทางกฎหมายในรูปแบบการถามตอบเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญ ๆ ดังนี้

Advertisement

ถาม. : มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

ได้บัญญัติว่าในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการใดได้บัญญัติเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ไปใช้บังคับเท่าที่ไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว  …” ดังนั้น คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ก็ยังมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจควบคุมสัญญาเฉพาะในส่วนไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัตินั้นได้หรือไม่

ตอบ : ไม่ได้ เนื่องจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มีลักษณะ

Advertisement

เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ในส่วนที่ยังมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ ดังนั้น
การจะใช้อำนาจใดๆ ตามกฎหมายนี้ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด…
ตามนัยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้ ในเรื่องเสร็จที่ ๔๑๒/๒๕๒๘ และเรื่องเสร็จที่ ๑๓๒/๒๕๔๔ ซึ่งหมายความว่าคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาไม่มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจควบคุมสัญญาได้เลยหากธุรกิจนั้นได้มีกฎหมายว่าด้วยการใดได้บัญญัติเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะแล้ว

ถาม. : ถ้ามีกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน (สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ ควบคุมสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์แล้ว ยังมีผู้ประกอบธุรกิจกำหนดข้อตกลงในสัญญาไม่เป็นธรรมอื่นแก่ผู้บริโภคที่กฎหมายว่าด้วยการดังกล่าวไม่อาจบังคับได้ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจะไม่มีอำนาจกำหนดให้ธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาเลยหรือ

ตอบ : ใช่ คงต้องมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ  หรือให้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อบังคับกับข้อตกลงในสัญญาที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับกรณีไม่อาจกำหนดฉลากและการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็น “อาหาร” ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเรื่องฉลากและการโฆษณาไว้โดยเฉพาะแล้ว ต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ไม่อาจนำบทบัญญัติการควบคุมฉลากและการควบคุมโฆษณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ไปใช้บังคับซ้ำหรือขัดกับพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ ๖๙๓/๒๕๔๙) และได้มีการยกเลิกประกาศให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และคำสั่งห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๖๕ ง/หน้า ๕๘/๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐) ต่อมาจึงได้มีการตรากฎหมายเฉพาะมาควบคุมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ถาม : ถ้ามีปัญหาร้องเรียนจากผู้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นผู้บริโภค ว่าถูกผู้ประกอบการคิดดอกเบี้ยแบบไม่ลดต้นลดดอก เช่นเดียวกับการคํานวณดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด จะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร

ตอบ : แสดงว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิเพราะข้อตกลงในสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นอำนาจ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา ๑๐ (๗) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา ๓๙

ถาม : เมื่อมีกฎหมายบังคับใหม่ ได้บัญญัติเรื่องที่ สคบ.เคยควบคุมด้วยประกาศฯ สคบ. เคยถือปฏิบัติยกเลิกประกาศฯ ที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติเรื่องนั้นไว้แล้วหรือไม่

ตอบ : เคยมี คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ (คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เป็นคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง เช่นเดียวกับคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก และคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒
ซึ่งจะต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับคณะกรรมการดังกล่าว) ได้ยกเลิกประกาศของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เพื่อให้เรื่องดังกล่าวบังคับใช้ตามกฎหมายนั้น ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒  ดังนี้

๑) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๔๖) เรื่อง ให้ปุ๋ยชีวภาพเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เนื่องจากปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้มีบทบัญญัติเรื่องการควบคุมปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ไว้โดยเฉพาะแล้ว สมควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๔๖) เรื่อง ให้ปุ๋ยชีวภาพเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
เพื่อให้ปุ๋ยชีวภาพบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยดังกล่าว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนพิเศษ ๑๘ ง/หน้า ๔๓/๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)

๒) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๓๖) เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๒) และฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) (ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๒) เรื่อง กำหนดบุหรี่เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ และฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) เรื่อง กำหนดบุหรี่เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓) เพราะปรากฏว่ามีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบได้กำหนดให้ใช้บังคับฉลากบุหรี่ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงสมควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๒) และฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) เรื่อง กำหนดบุหรี่เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๑๗๐/หน้า ๙๑/๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๖)

๓) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๒) เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๗) โดยที่ปัจจุบันนี้ปรากฏว่ามีกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ใช้บังคับแล้ว จึงสมควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๗) เรื่อง กำหนดวัสดุทางการแพทย์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๒๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒)

๔) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๒๙ (พ.ศ. ๒๕๒๙) เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๖) (ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๖) เรื่อง  กำหนดเตารีดไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖)
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๑๒๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒/๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙)

๕) คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ ๒๐๓/๒๕๕๐ เรื่อง ยกเลิกคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ ๕๐๔/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ (เนื่องด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ มีความเห็นว่าประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ และคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ ๕๐๔/๒๕๔๙ เรื่อง ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นประกาศและคำสั่งที่ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย (เรื่องเสร็จที่ ๖๙๓/๒๕๔๙)) (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๖๕ ง/หน้า ๕๘/๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐) (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับมอบอำนาจตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง การมอบอำนาจในการคุ้มครองผู้บริโภคให้เจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนพิเศษ ๗๙ ง/หน้า ๑๔/๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙)) (ต่อมาจึงได้มีการตรากฎหมายเฉพาะมาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พ.ศ. ๒๕๕๑)

ถาม : พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ มิได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำสัญญาในธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไว้โดยเฉพาะ แต่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแทน ส่วนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕ ก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำสัญญาในธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไว้โดยเฉพาะเช่นกัน โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศกำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้น พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕ จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำสัญญาในธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไว้โดยเฉพาะ ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ถูกต้องหรือไม่

ตอบ : ไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่กฎหมาย

ว่าด้วยการใดได้บัญญัติเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น…” มิได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการใดได้บัญญัติเรื่องสัญญาไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น…” ดังนั้น เมื่อเรื่อง ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น การพิเคราะห์ตามคำถามเป็นการตีความขยายบทบัญญัติของกฎหมายจึงไม่ถูกต้อง คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ ๔๑๒/๒๕๒๘ ว่า “การจะใช้อำนาจใดๆ ตามกฎหมายนี้ ต้องตีความโดยเคร่งครัด…”  เรื่องนี้ได้มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจะมีอำนาจกำหนดให้การให้บริการสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) มีความเห็นว่า “เมื่อกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณูปโภคได้บัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในการวางนโยบาย และการกำหนดราคาค่าบริการสาธารณูปโภคไว้โดยเฉพาะแล้วตามนัยมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงไม่อาจใช้อำนาจที่จะกำหนดให้บริการสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้ (เรื่องเสร็จที่ ๑๓๒/๒๕๔๔) ตามความเห็นนี้ ในส่วนที่ขีดเส้นใต้ไว้ กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจก็มิได้บัญญัติเรื่องสัญญาให้บริการสาธารณูปโภคไว้โดยเฉพาะ แต่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้วางนโยบาย และการกำหนดราคาค่าบริการสาธารณูปโภค ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาก็ได้ปฏิบัติตาม โดยมิได้มีการออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ให้บริการสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาแต่ประการใด

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส

๑๒/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และกระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ) ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ยกเว้นในสินค้าประเภทรถ ซึ่งสินค้าประเภทรถ ธปท.มีอำนาจกำหนดได้ตามกฎหมายแต่ได้กำหนดยกเว้นไว้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ไม่มีอำนาจควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามนัยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้ ในเรื่องเสร็จที่ ๔๑๒/๒๕๒๘ และเรื่องเสร็จที่ ๑๓๒/๒๕๔๔

อนึ่ง เรื่องนี้ ปรากฏในข่าว ธปท. ฉบับที่ ๔๑/๒๕๖๕ ว่า คณะกรรมการกำกับการแก้ไข

หนี้สินของประชาชนรายย่อยได้เห็นชอบในหลักการให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้หารือร่วมกันถึงเหตุผล ความจำเป็น และหลักการของกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าว โดยเห็นควรออกเป็น พระราชกฤษฎีกาภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ ((ร่าง) พระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ พ.ศ. ….) ดังนั้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ไปร่วมหารือด้วย ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่า การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินกำหนดแล้ว กรณีจึงเป็นไปตามนัยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ให้ความเห็นไว้ ในเรื่องเสร็จที่ ๑๓๒/๒๕๔๔ ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงไม่อาจใช้อำนาจที่จะกำหนดให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้  ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงเป็นประกาศที่ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายตามนัยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ ๖๙๓/๒๕๔๙

ถาม : ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส ๑๒/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์

วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ) ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ควบคุมการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อยกเว้นในสินค้าประเภทรถ และ ธปท ได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ พ.ศ. ….) กำกับดูแลการประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แต่มิได้ควบคุมผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้บริโภคยังไม่ได้รับการคุ้มครองในกรณี สคบ.จะคุ้มครองผู้บริโภคกรณีนี้ได้อย่างไร

ตอบ : แนวทางที่ดำเนินการได้คงมีเพียงให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๐ (๙/๒) เสนอความเห็นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายและกฎเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้รวมถึงสินค้าประเภทรถ หรือเสนอให้ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ พ.ศ. ….ควบคุมผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาด้วย เท่านั้น เนื่องจากได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ปี ๒๕๖๒ ตัดอำนาจในการเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศควบคุมในกรณีดังกล่าว โดยยกเลิกความใน (๑) และ (๒) ของมาตรา ๒๑ เดิม ออกไปแล้ว

ถาม : ถ้าประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และ

รถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๕ ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายตามนัยเรื่องเสร็จที่ ๖๙๓/๒๕๔๙ แล้ว จะทำอย่างไรที่จะมิให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค

ตอบ : แนะนำให้ร้องเรียนไปยัง ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้อำนาจตามมาตรา ๒๓ (๒) แห่ง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเพื่อให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย และมีคำพิพากษาและคำสั่ง คือ ให้มีคำพิพากษาเพิกถอน ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๕ เนื่องจากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการออกประกาศนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง ตามนัยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ ๔๑๒/๒๕๒๘ และเรื่องเสร็จที่ ๑๓๒/๒๕๔๔) ซึ่งเรื่องนี้ ได้มีแนวคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. ๓๑๑/๒๕๖๐ ในประเด็นที่สองที่วินิจฉัยว่า ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากร

ธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่เป็นการออกระเบียบโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นการออกระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ โดยเร่งด่วน เพื่อชะลอการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาดังกล่าว มิฉะนั้น จะเกิดความเสียหายโดยผลของกฎหมายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขแก่ผู้ประกอบธุรกิจในภายหลัง เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ บัญญัติว่า“ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดไม่ส่งมอบสัญญาที่มีข้อสัญญาหรือมีข้อสัญญาและแบบถูกต้องตามมาตรา ๓๕ ทวิ หรือไม่ส่งมอบหลักฐานการรับเงินที่มีรายการและข้อความถูกต้องตามมาตรา ๓๕ เบญจ ให้แก่ผู้บริโภคภายในระยะเวลาตามมาตรา ๓๕ อัฏฐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”      การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีผลดี กล่าวคือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินได้บัญญัติให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง รวมทั้งอาจเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๓๖ (๓) ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาดำเนินการต่อไป แล้วแต่กรณี” หากยังไม่มีการยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๕ ก่อนวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๖ ด้วยก็ได้

ถาม : ผู้เขียนมีแนวทางในการเสนอเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือไม่

ตอบ : มี ขอรายละเอียดได้ที่ [email protected] และเพื่อให้การเสนอเรื่องต่อ

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเอกภาพ ควรแจ้งให้สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย หรือสมาคมเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย เป็นผู้เสนอเรื่องแทนผู้ประกอบธุรกิจ แต่หากสมาคมดังกล่าวไม่ดำเนินการ บุคคลใดจะเป็นผู้เสนอเรื่องเองก็ได้ เนื่องจากการเสนอเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในเรื่องนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้เสียหายเหมือนการฟ้องคดีต่อศาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image