พระพุทธเจ้าสอนปุโรหิต

จิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญวัดเชิงท่า พระนครศรีอยุธยา จันทกุมารชาดก พราหมณ์ปุโรหิตแนะนำพระเจ้าเอกราชให้บูชายัญพระจันทกุมาร ว่าควรตัดหัวสัตว์และผู้ที่ไม่พึงฆ่าแล้วเอาเลือดเทลงหลุมยัญ

ในสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาลการปกครองมักอาศัยพราหมณ์ปุโรหิตถวายคำแนะนำพระราชาในการบริหารบ้านเมืองตลอดทั้งเนื้อหาความรู้ทางโลกและทางธรรม

พราหมณ์ปุโรหิตเป็นพราหมณ์พระเวทที่มีความรู้ในคัมภีร์และศาสตร์ต่างๆ ตลอดจนความเจนจัดในพิธีกรรมบวงสรวง ความรู้ในไตรเพทศาสตร์และพิธีกรรมทำให้พราหมณ์บางท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นปุโรหิต

วรรณะพราหมณ์เคยยิ่งใหญ่มาแต่อดีตในยุคสมัยพระเวทแต่เมื่อชมพูทวีปเริ่มเข้าใกล้สมัยพุทธกาลอาณาจักรกุรุและอาณาจักรปัญจาละเริ่มเสื่อมถอยโดยมีอาณาจักรวิเทหะ กาสี โกศล มคธและอวันตีทยอยเจริญเติบโตขึ้นมา วรรณะนี้ก็ค่อยๆ มีคู่แข่งจากวรรณะกษัตริย์และวรรณะแพศย์ การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าคงมีส่วนทำให้วรรณะกษัตริย์และแพศย์มีฐานะสูงขึ้น ส่วนในแคว้นที่เผชิญเดือดร้อนจากภาวะข้าวยากหมากแพงพราหมณ์ก็อาจลำบากตามไปด้วย

ในส่วนแรกเราจะเห็นพราหมณ์ทำหน้าที่เป็นราชปุโรหิตดังเช่นกัณฑหาลพราหมณ์ในจันทกุมารชาดก ในส่วนหลังเราจะเห็นพราหมณ์กลายเป็นยาจกดังเช่นชูชกในมหาเวสสันดรชาดก

Advertisement

เมื่อถึงสมัยพุทธกาลวรรณะพราหมณ์ได้รับความเชื่อถือลดลงไปมาก สำนักใหญ่ทั้งหกสามารถตั้งมั่นขึ้นในแคว้นมคธ สำนักทั้งหมดนี้ล้วนมีคำสอนที่ขัดกับคัมภีร์พระเวท กษัตริย์ก็หันไปนับถือลัทธินอกพระเวทมากขึ้น มิได้นับถือเฉพาะพราหมณ์พระเวทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พวกพราหมณ์พระเวทยังคงมีบทบาทเป็นผู้ทรงความรู้ทางการปกครองและยังเป็นปุโรหิตให้กับราชสำนัก ส่วนคหบดีซึ่งอยู่ในวรรณะแพศย์และมีบทบาทสูงขึ้นตามความเจริญทางเศรษฐกิจและการค้ากลับมีความสำคัญต่อการปกครองมากขึ้นในฐานะที่มีทรัพย์มาก

การปกครองมีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์สุขของสังคม ปัญหาในสมัยนั้นคือการส่งเสริมให้สังคมมีกินมีใช้ มีความเจริญและมีศีล

Advertisement

อาณาบริเวณที่พระพุทธองค์ทรงจาริกเป็นเขตเงาฝนการดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรจึงเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ การส่งเสริมการค้าขายและการบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมทางนิเวศมิให้แห้งแล้งและให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล

การขาดศีลและความยากลำบากมีส่วนทำให้สุจริตชนประสบปัญหาโจรผู้ร้ายที่ปล้นบ้านเรือนราษฎร ปล้นนิคม ปล้นเมืองและทำร้ายผู้คนที่สัญจรในที่เปลี่ยว

แนวทางของพราหมณ์ปุโรหิตปกติอาศัยพิธีกรรมเป็นที่พึ่งสำหรับราษฎรที่ต้องการความผาสุกและการวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า การจัดทำพิธีกรรมจึงมักเป็นไปอย่างอลังการในขณะที่การปราบปรามโจรผู้ร้ายก็เน้นการลงโทษด้วยวิธีที่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม พราหมณ์ในสมัยนั้นเชี่ยวชาญตามคัมภีร์ที่ท่องจำกันมา ความเข้าใจเรื่องเหตุที่มาของไตรเพท พิธีกรรมและการลงโทษโจรผู้ร้ายกลับเสื่อมหายไปมาก

การอุบัติขึ้นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงเป็นที่สนใจของพราหมณ์พระเวทที่เป็นปุโรหิต จำนวนหนึ่งเชื่อเรื่องการเป็นผู้รู้แจ้งโลกของพระพุทธเจ้าและประสงค์ที่จะได้สอบถามความรู้เกี่ยวกับไตรเพทเพิ่มเติม บางส่วนเคารพและบางส่วนนิ่งเฉย

พราหมณ์ปุโรหิตที่สำคัญมากในสมัยนั้นคือกูฏทันตพราหมณ์แห่งบ้านขานุมัตต์และโปกขรสาติ
พราหมณ์แห่งนครอุกกัฏฐะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์ ทั้งสอนท่านได้ฟังธรรมตั้งแต่สมัยต้นของปฐมโพธิกาล

โปกขรสาติพราหมณ์ตื่นเต้นที่ทราบว่าพระพุทธองค์กำลังเสด็จเยือนโกศลชนบทที่ราวป่าอิจฉานังคลคามจึงให้อัมพัฏฐมานพผู้เป็นศิษย์ที่เชี่ยวชาญไตรเพทไปเข้าเฝ้าเพื่อตรวจสอบก่อนว่าจริงหรือไม่แล้วจึงไปเข้าเฝ้า

กูฏทันตพราหมณ์ได้รับความเคารพจากพระเจ้าพิมพิสารมากรวมทั้งโปกขรสาติพราหมณ์ด้วย ท่านทราบมาก่อนว่าพระพุทธองค์ทรงมีมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ มีพระพรรณและพระสรีระคล้ายพรหมและทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นสรณะของพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศลตลอดจนราชวงศ์และคนหมู่มาก โปกขรสาติพราหมณ์ก็ได้เข้าเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาที่พราหมณคามของท่านจึงไปเข้าเฝ้าและถามความรู้ในไตรเพทที่พราหมณ์พระเวทสมัยนั้นไม่ทราบแล้ว

ความรู้ดังกล่าวคือเรื่องยัญสมบัติ 3 ประการอันมีบริวาร (หรือบริขาร) 16 ประการ
อัมพัฏฐสูตรมี 2 ตอน ตอนแรกเป็นส่วนที่พระพุทธองค์สอนอัมพัฏฐมานพซึ่งมีทั้งที่เกี่ยวกับความยึดมั่นในวรรณะและการเข้าถึงพระธรรม ตอนที่สองปิดท้ายด้วยการเข้าเฝ้าและการถวายตนเป็นอุบาสกของโปกขรสาติ
พราหมณ์

อัมพัฏฐมานพเชื่อในวรรณะและดูถูกศากยวงศ์ว่าไม่เคารพพราหมณ์จึงมีพฤติกรรมที่ต่ำเหมือนวรรณะแพศย์หรือพวกพ่อค้า พระพุทธองค์ทรงสอนว่าเจ้าศากยะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของเจ้าศากยะเพราะอยู่ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์ ความเป็นวรรณะพราหมณ์ของ
อัมพัฏฐมานพก็มาจากความเป็นวรรณะศูทร หรือทาสีมาก่อน วรรณะหนึ่งๆ มิได้สูงหรือต่ำกว่าวรรณะอื่นอย่างแท้จริง

นี้สะท้อนว่าการปกครองไม่ควรเหยียดหรือยึดมั่นในความสูงต่ำทางชนชั้นและควรสนใจการเข้าถึงธรรมด้วย

โปกขรสาติพราหมณ์สนใจเรื่องปุริสสลักษณะของมหาบุรุษแต่กลับเห็นพระพุทธองค์ขาดมหาปุริสสลักษณะไป 2 ประการ พระพุทธองค์ทรงแสดงให้โปกขรสาติ พราหมณ์
ผู้ติดยึดกับตำราลักษณะของมหาบุรุษได้เห็นว่าทรงมีมหาปุริสสลักษณะครบถ้วน จากนั้นทรงสอนธรรมแก่โปกขรสาติพราหมณ์ซึ่งพราหมณ์ปุโรหิตท่านสำคัญยิ่งนี้ก็ได้เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาในวันรุ่งขึ้น

พราหมณ์ปุโรหิตที่นครอุกกัฏฐะจึงได้ปกครองเมืองพราหมณ์อย่างชาวพุทธ บุคคลในตระกูลก็เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์

ในกูฏทันตสูตรกูฏทันตพราหมณ์ต้องการประกอบพิธีบูชามหายัญให้อลังการตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา มีการเตรียมสร้างโรงพิธีและถากผืนดินให้เป็นลานพิธี มีการใช้โคผู้ 700 ลูกโคผู้ 700 ลูกโคเมีย 700 แพะ 700 และแกะ 700 ผูกเข้ากับหลักสำหรับการบูชายัญ

พระพุทธองค์ทรงอธิบายเรื่องมหายัญที่กูฏทันตพราหมณ์ไม่รู้โดยยกเหตุการณ์ในอดีตสมัยพระเจ้ามหาวิชิตราชให้รับรู้ ครั้งที่พระเจ้ามหาวิชิตราชหลีกเร้นเข้าหาความสงบวิเวกได้เกิดความประสงค์ที่จะบูชามหายัญเพื่อประโยชน์และความสุขของพระองค์ตลอดกาลนาน จึงถามพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ถึงวิธีการบูชามหายัญขึ้น

พราหมณ์ปุโรหิตได้ชี้แนะพระราชาว่าบ้านเมืองยังมี
โจรผู้ร้ายและชาวบ้านยังเดือดร้อน การบูชามหายัญจึง
ไม่เหมาะสม การปราบปรามโจรผู้ร้ายด้วยการฆ่า การจองจำ การปรับไหม การตำหนิและการเนรเทศจักทำให้มีโจรผู้ร้ายหลงเหลืออยู่และจะสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมืองอีก

พราหมณ์ปุโรหิตได้ให้คำชี้แนะว่าผู้ปกครองควรปราบปรามโจรผู้ร้ายที่เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินด้วยการ (1) เพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พลเมืองที่ขยันขันแข็งในกสิกรรม (2) เพิ่มทุนให้แก่พลเมืองที่ขยันขันแข็งในพาณิชยกรรม และ (3) พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในโอกาสอันควร

พลเมืองและข้าราชการเหล่านั้นก็จะขวนขวายในงานของตนและไม่เบียดเบียนบ้านเมือง อาณาจักรก็จะหมดเสี้ยนหนามและสงบสุขโดยไม่ต้องระวังภัย

ต่อมาเมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชได้สร้างความผาสุกและปราบปรามโจรผู้ร้ายด้วยวิธีอันชอบตามคำชี้แนะของพราหมณ์ปุโรหิตแล้วก็ทรงกลับมาตรัสถึงการบูชามหายัญอีก

พราหมณ์ปุโรหิตท่านนั้นได้กล่าวถึงยัญสมบัติ 3 ประการก่อนที่จะมีพิธีบูชามหายัญ ยัญสมบัตินั้นได้แก่การไม่หวั่นไหว ถ้าหากพบว่าทรัพย์สินจำนวนมากมาย (1) จะต้องหมดไป (2) กำลังสิ้นเปลืองไปและ (3) ได้หมดเปลืองไปแล้ว

พราหมณ์ปุโรหิตกล่าวถึงอาการ 10 ในยัญพิธี กล่าวคือผู้เข้าร่วมพิธีกรรมย่อมมีทั้งผู้ที่ทุศีลและไม่ทุศีล เมื่อเจ้าของพิธีเห็นผู้ที่ขาดในศีล 10 ข้อก็จักต้องทำใจให้ผ่องใสอยู่ภายใน ความทุศีลเป็นกรรมของผู้ทุศีลนั้นๆ

ส่วนยัญบริขาร 16 ประการเป็นเครื่องประกอบที่มีในพิธีกรรม เช่น การชักชวนเหล่าราชวงศ์ อำมาตย์ พราหมณ์มหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่งเข้าร่วมพธี การมีผิวพรรณวรรณะ ชาติตระกูล และรูปร่างที่งาม ความเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีกำลังอำนาจ มีความรู้ความฉลาดเฉลียวและเป็นที่ศรัทธา ฯลฯ ถ้าหากมีการทักท้วงถึงความไม่ครบในบริขารทั้งสิบก็จักต้องทำใจให้ผ่องใสอยู่ภายใน

การบูชายัญเป็นความหลง พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบแก่กูฏทันตพราหมณ์ว่ามียัญอื่นๆ ที่เตรียมการน้อยกว่าและมีผลมากกว่าการบูชามหายัญของพราหมณ์พระเวท เช่น การอุปถัมภ์สงเคราะห์บรรพชิตผู้มีศีล การสร้างวิหารแด่พระสงฆ์ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย การสมาทานศีล การถึงพร้อมด้วยศีล ฯลฯ

พุทธยัญให้ผลที่ดีกว่ามหายัญของพราหมณ์ การปฏิบัติธรรมมีความขลังที่สูงส่งกว่ายัญสมบัติ 3 บริวาร 16

พระพุทธองค์ทรงสอนกูฏทันตพราหมณ์ว่าการบูชายัญอันอลังการที่มีการฆ่าสัตว์มีอานิสงส์น้อย
เพราะผู้มีศีลและพระอรหันต์ย่อมไม่เข้าร่วม

สัตว์จำนวนมากก็ถูกเบียดเบียน หญ้าที่คลุมผืนดินถูกถากทิ้งทำลาย เกิดการขาดน้ำและความร้อนแห้งแล้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image