คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : กระแสแบนนักแสดงทำร้ายผู้หญิง กับ ‘จริยธรรมใหม่’ แห่งความ ‘ตื่นรู้’

ข้อเท็จจริงเท่าที่รู้และสรุปได้ในฐานะคนนอกวงการ คือ มีนักแสดงซีรีส์วายคนหนึ่ง ถูกเปิดเผยจากอดีตคนรักพร้อมหลักฐานบางส่วนว่าเขานั้นทำร้ายร่างกายและแสวงผลประโยชน์ที่ไม่สมควรจากอดีตคนรักคนที่ออกมาเปิดเผยเรื่อง

ข้ามข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นปัญหาที่ว่าเขาทำเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ แต่เฉพาะข้อเท็จจริงปัจจุบันก็ปรากฏว่า เขาถูกกระแสสังคมที่โดยส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มฐานแฟนหรือพูดง่ายๆ คือ ลูกค้าหลักของซีรีส์และกิจกรรมต่อเนื่องเช่น คอนเสิร์ต หรืองานแฟนมีตต่างๆ คว่ำบาตรหรือแบนตัวนักแสดงผู้นั้นด้วยกระแสทางทวิตเตอร์ เสียจนต้นสังกัดต้องออกโรงมาพักงานเขาเป็นการชั่วคราว แต่ถึงอย่างนั้นท่าทีของผู้เกี่ยวข้องรวมถึงตัวเขาเองก็ยังไม่เป็นที่พอใจของสังคมที่ว่านั่นอยู่ดี เรื่องมันจึงบานปลายไปสู่การแบนด้วยการไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแบบยกค่าย ระดับที่บัตรคอนเสิร์ตของศิลปินร่วมซีรีส์ของต้นเรื่องนั้น ที่เคยขายหมดภายในไม่เกิน 30 นาที ทิ้งไว้เป็นวันก็ยังเหลือที่ว่างกันหลายพัน

เรื่องคล้ายๆ แบบนี้นั้นมีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เพียงแต่ในสมัยก่อนภาพอันพึงประสงค์ของศิลปินดารานั้นอาจจะเป็นแค่จะต้องไม่มีครอบครัวคนรักหรือภาพลักษณ์อื่นที่ขัดต่อบทบาท หากปัจจุบันนี้ 

ภาพลักษณ์หรือรายละเอียดเรื่องส่วนตัวและความสัมพันธ์นั้นไม่ได้รับการเพ่งเล็งเท่ากับเรื่องที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศีลธรรมใหม่หรือจริยธรรมใหม่ของสังคม ที่ให้คุณค่ากับความเสมอภาคเท่าเทียม รวมถึงการให้คุณค่ากับมนุษย์ว่าไม่มีใครสมควรจะถูกทำร้ายด้วยความรุนแรงหรือหาประโยชน์อันไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

Advertisement

กรณีก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องที่นักแสดงซีรีส์วัยรุ่นอีกคนและนักร้องอีกคู่ก็ถูกออกมาเปิดเผยว่าเคยมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นในลักษณะที่เป็นการบูลลี่ในสมัยที่เขายังเรียนชั้นมัธยม และก็ได้รับบทเรียนทางสังคมในเรื่องนี้ไปหนักพอสมควร หรือแม้แต่นักแสดงที่เพิ่งมีดราม่าหนักระดับแบนกันทั้งค่ายที่ว่า ก่อนหน้านี้เขาก็เคยมีดราม่าเบาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพฤติกรรมเหยียดเพศของเขา รวมถึงในระดับสากล ก็มีนักแสดงซีรีส์ระดับโลกที่น่าจะมีอนาคตไกล ก็ถูกเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางเพศของเขาจนน่าจะอนาคตดับไปได้เช่นกัน

กระแสเกี่ยวกับการปกป้องความเสมอภาคเท่าเทียม การต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแกหรือหาประโยชน์โดยไม่ชอบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระแสตื่นรู้ทางสังคมในระดับโลก ที่เรียกว่า “Woke”

Woke ที่เป็นกริยาช่องสองของ Wake ที่แปลว่าตื่น” Woke จึงแปลว่าได้ตื่นแล้วที่หมายถึงการที่สังคมยุคใหม่ได้ตื่นรู้แล้วจากที่เคยหลับใหลไม่รับรู้ถึงการกดขี่กดทับอันไม่เป็นธรรมในสังคมทั้งในเรื่องทางเพศ สีผิว ชาติพันธุ์ และความแตกต่างอื่นๆ ที่เคยเป็นเหตุให้มีการเลือกปฏิบัติหรือแม้แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยมีอยู่ในอดีต 

Advertisement

กระแสตื่นรู้นี้จุดติดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตและมีอิทธิพลของคนกลุ่มที่ถูกเรียกรวมๆ กันว่า “SJW” หรือ “Social Justice Warrior” ที่หมายถึงนักรบเพื่อความยุติธรรมทางสังคมที่ได้แก่ชาวเน็ตกลุ่มหนึ่งที่นอกจากจะตื่นรู้ (Woke) แล้ว ยังปวารณาตัวในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทางสังคมนั้น ด้วยการคอยไปสอดส่องและชี้เป้าให้เกิดกระแสโจมตีและคว่ำบาตรใครก็ตามที่กระทำตนหรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือท่าทีที่สนับสนุนความไม่เป็นธรรมนั้น เรื่องนี้แม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่าง J.K. Rowlling เองก็เคยตกเป็นเป้าโจมตีของเหล่านักรบเพื่อความเป็นธรรมนี้ เมื่อเธอแสดงความเห็นไปในทางไม่เชื่อเรื่องการ ข้ามเพศด้วยเช่นกัน

ในโลกของทุนนิยม การที่กระแสทางสังคมจะได้รับการหนุนส่งก็ต่อเมื่อมันเกี่ยวเนื่องเข้ากับผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่นเดียวกับในยุคก่อนหน้านี้ที่มีกระแสรักษ์โลกที่ภาคธุรกิจขานรับปรับเปลี่ยนตาม และเมื่อกระแสความตื่นรู้นี้กลายเป็นกระแสหลักของคนรุ่นใหม่ ทำให้องค์กรธุรกิจตั้งแต่ระดับโลกมาจำเป็นจะต้องเปลี่ยนตามและยึดถือสมาทานต่อกระแสจริยธรรมใหม่ของสังคมนี้ด้วย 

ภาพหนึ่งที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้คือแนวทางในการสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์ในปัจจุบันที่ต้องเกลี่ยกระจายบทให้มีความเสมอภาคทางชาติพันธุ์ ผิวสี และเพศมากขึ้น จากที่ภาพยนตร์หรือซีรีส์ในยุคก่อนที่เราจะได้เห็นแต่นักแสดงชายผิวขาวหรือฝรั่งเป็นพระเอกที่จะมีบทบาทเด่นที่สุดในเรื่อง แล้วก็ต้องมีผู้หญิงฝรั่งอีกเหมือนกันเป็นนางเอกที่จะมีบทในเชิงสนับสนุนหรือเด่นพอกันในลักษณะของการเป็นคู่รัก แต่ในปัจจุบันตัวแสดงนำที่รับบทเด่นนั้นอาจจะเป็นผู้หญิง คนผิวดำ หรือคนเชื้อสายเอเชียก็ได้ 

เราได้เห็นความพยายามของทุนใหญ่ค่ายบันเทิงพยายามเอาความเท่าเทียมที่ว่านั้นมาประยุกต์ลงไปในผลงาน โดยเฉพาะค่าย Disney ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของสื่อบันเทิงตะวันตก ก็พยายามใส่ความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์เข้าไป เริ่มจากการมีเจ้าหญิงดิสนีย์เป็นคนอเมริกันผิวดำในเรื่องมหัศจรรย์ มนต์รักเจ้าชายกบ” (The Princess and the Frog) หรือมีเจ้าหญิงดิสนีย์เชื้อสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องรายากับมังกรตัวสุดท้าย” (Raya and the Last Dragon) และก็มีที่เล็กๆ น้อยๆ ก็มีซีรีส์การ์ตูนโทรทัศน์ที่ดำเนินเรื่องในครอบครัวชาวไทยในอเมริกา อย่าง “The Ghost and Molly McGee” และเรื่อง “Amphibia” ที่มีตัวเอกหญิงชื่อแอน บุญช่วย

รวมถึงบางครั้ง จริยธรรมใหม่ของสังคมก็ได้รับการเกื้อหนุนจากภาคธุรกิจ จนเสริมให้จริยธรรมหรือคุณค่านั้นแข็งแรงขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น ในซีรีส์เดอะกลอรี” (The Glory) จากเกาหลีใต้ที่มีเนื้อหาต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) กันในโรงเรียน ที่ส่งผลส่วนหนึ่งให้นักแสดงและนักร้องในไทยที่มีเคยมีประวัติการเคยบูลลี่คนอื่นนั้นต้องถูกกรรมแต่อดีตที่ว่านั้นหลอกหลอน

แม้จะเราอาจยอมรับได้ว่ามีแง่มุมด้านดีของการที่ความเสมอภาคเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์นี้กลายเป็นจริยธรรมใหม่อันเป็นค่านิยมหลักของสังคม ซึ่งกลายเป็นกระแสหลักเพราะได้รับการตอบรับจากทุนนิยมแต่ในอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้ก็มีมุมต้านที่อีกหลายคนหลายส่วนในสังคมก็มองว่า กระแสการตื่นรู้ถึงความเท่าเทียมทางสังคมนี้ก็ล้นเกินไร้เหตุผลเกินไปจนกลายเป็นเรื่องไม่เข้าท่าเข้าทาง

เช่นดิสนีย์ที่พยายามสร้างความหลากหลายที่กล่าวไป ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่องที่ดูเหมือนจะล้นเกิน เช่นกรณีภาพยนตร์คนแสดงจริงเรื่องเงือกน้อยผจญภัย” (The Little Mermaid) ที่มาจากภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นชื่อเดียวกันของตัวเองที่ดัดแปลงมาจากนิทานของ ฮัน คริสเตียน แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นเทพนิยายยุโรปเนื้อที่ท้องเรื่องเกิดที่ประเทศเดนมาร์ก แต่เงือกน้อยของปี 2022 เป็นน้องเงือกผิวคล้ำแบบคนเชื้อสายแอฟริกัน 

และเคสที่หลุดโลกเข้าไปยิ่งกว่านี้ คือซีรีส์แอนน์ โบรลีน (Anne Boleyn) ของโซนี่ พิคเจอร์ส ที่นำเอาเรื่องราวของราชินีอังกฤษชื่อเดียวกันนี้ และประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าพระนางเป็นชาวยุโรปผิวขาวโดยแท้ มาตีความใหม่ให้เป็นราชินีผิวดำและนำแสดงโดยนักแสดงผิวดำ

ไม่เพียงแต่สื่อบันเทิงที่สร้างใหม่ในยุคหลังเท่านั้น แต่ความตื่นรู้และจริยธรรมใหม่นี้ยังกินลามไปถึงการเข้าไปตรวจตราในวรรณคดีและวรรณกรรมที่บางเรื่องเคยนับเป็นวรรณกรรมทรงคุณค่า แต่ในเนื้อหานั้นมีลักษณะของการเหยียดเพศเหยียดผิว ซึ่งเคยเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ได้ผิดร้ายอะไรต่อจริยธรรมของผู้คนในยุคที่เรื่องราวนั้นๆ ถูกเขียนขึ้น ปัจจุบันก็มีความพยายามถอดหรือแบนเรื่องราวเหล่านั้นจากการนำมาใช้เป็นแบบเรียนหรือหนังสือนอกเวลาของเด็ก เช่นที่สมาคมห้องสมุดเด็กของสหรัฐ ได้มีมติถอดถอนเรื่องบ้านเล็กในป่าใหญ่” (Little house in the big woods) ของลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ ออกจากรายการหนังสือเด็กด้วยว่ามีเนื้อหาเหยียดชนพื้นเมืองอเมริกันและเหยียดคนผิวดำ และยังมีผลงานวรรณกรรมคลาสสิกอีกหลายเรื่องที่อาจจะประสบชะตากรรมในลักษณะนี้

แม้แต่แนวต้านสุดท้ายอย่างวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งที่เป็นหนังสือการ์ตูน (มังงะ) หรือภาพยนตร์ (อนิเมะ) ที่เคยมีธรรมเนียมเฉพาะตัวโดยเฉพาะกับการ์ตูนแนวเด็กและวัยรุ่นชาย (โชเน็น) ที่จะมีเนื้อหาทะลึ่งตึงตังส่อไปในเรื่องเพศ ทั้งอย่างที่สื่อให้ว่าเนื้อหาเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดาเช่นในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนที่จะมีฉากชิซูกะเปลี่ยนเสื้อผ้าหรืออาบน้ำ หรือที่แสดงชัดเจนแบบโต้งๆ แบบที่รู้อยู่ว่าผู้เขียนหรือผู้สร้างจงใจใส่ฉากทะลึ่งลามกเหล่านั้นมาในลักษณะของสมนาคุณ” (Fan Service) เช่นที่เหมือนจะมีธรรมเนียมไปแล้วว่าการ์ตูนญี่ปุ่นแทบทุกเรื่องจะต้องมีฉากที่ตัวละครหญิงกระโปรงเปิดนั้นเป็นเรื่องธรรมหา หรือถ้าเป็นแอนิเมะซีรีส์ก็จะต้องมีสัก EP ที่ตัวละครทั้งหญิงชายจะไปอาบน้ำกันในบ่อน้ำร้อนออนเซ็นหรือโรงอาบน้ำเซ็นโตะ และก็อาจจะมีฉากตลกทะลึ่งให้ต้องเห็นเนื้อตัวร่างกายกัน รวมถึงเรื่องที่อาจจะเป็นสีเทาเกือบจะเข้มของวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นที่อาจจะมีเนื้อหาที่เฉียดเฉี่ยวไปในเรื่องทางเพศกับตัวละครที่เป็นเด็กสาว หรือดูเหมือนเด็กที่เรียกว่าโลลิซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายระดับสากล แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในโซนคลุมเครือสีเทาในวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่น 

วัฒนธรรมแอนิเมะและมังงะของญี่ปุ่นที่ว่านี้ แต่เดิมนั้นแทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากกระแสวัฒนธรรมหรือค่านิยมทางสังคมภายนอกเท่าไร เพราะสื่อลักษณะนี้ของญี่ปุ่นเองก็มักจะเสพชมกันในประเทศ หรือถ้าออกไปนอกเกาะก็จะอยู่ในแวดวงแคบๆ ของผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบ โอตาคุนี้ดีอยู่แล้ว

แต่เมื่อสื่อบันเทิงแอนิเมะญี่ปุ่นบางเรื่องมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตไปในระดับโลก เช่นภาพยนตร์การ์ตูนของผู้กำกับชื่อดังมาโกโตะ ชินไคเรื่องหลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ” (Kimi no Na wa หรือ Your name) ที่มีฉากแรกช่วงเปิดเรื่อง ที่ตัวเอกชายสลับจิตใจและความรับรู้มาอยู่ในร่างของตัวเอกหญิง สิ่งแรกที่เขากระทำต่อตัวเองในช่วงที่สติสลึมสลือลับเลือน คือการขยำหน้าอกตัวเองเล่น ฉากนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในระดับสากล จนกระทั่งผู้กำกับเองรับว่าจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในผลงานชิ้นหลังๆ หรืออย่างสื่อการ์ตูนเนื้อหาที่ก้ำกึ่งว่าอาจจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กสาวที่เรียกว่าแนวโลลิ ในปัจจุบันก็ถูกปฏิเสธจากการนำเสนอบน PIXIV ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เกี่ยวกับงานการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่น

อาจกล่าวได้ว่า ตอนนี้กระแสจริยธรรมใหม่นี้เป็นคุณค่าหลักของโลกปัจจุบัน อย่างที่ยากที่ใครหรือวัฒธรรมไหนจะหนีพ้นได้แล้วในขณะนี้

ดราม่าเรื่องการแบนหรือคว่ำบาตรนักแสดงที่สังคมเชื่อว่าทำร้ายและหาประโยชน์ไม่สมควรกับผู้หญิงที่เป็นคนรักของเขา จึงเป็นเพียงหนึ่งในภาพใหญ่ของคุณค่าแห่งจริยธรรมใหม่ที่เป็นสากลนั้น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image