หลักหนังสือพิมพ์ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ การอ่านบทความจากเพื่อนร่วมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ฉบับที่กำลังจะปิดตัวลงในสิ้นปีนี้ ให้ความรู้สึกที่ทั้งเห็นใจและสะท้อนใจ

โดยเฉพาะการสำนึกว่าก้าวที่พลาดมานั้นไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก และบทสรุปว่านักหนังสือพิมพ์จะฝักใฝ่เผด็จการไม่ได้

แม้วงการหนังสือพิมพ์ทั่วโลกเผชิญสถานการณ์คล้ายๆ กันว่าสื่อกระดาษจะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการเติบโตของสื่อออนไลน์ แต่ปัจจัยที่ทำให้ความยากลำบากเข้มข้นขึ้นก็คือการปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลาย

หนังสือพิมพ์มีต้นกำเนิดและหล่อเลี้ยงด้วยหลักการเสรีนิยมและความรับผิดชอบ การเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามจึงทำให้สภาพรวนปั่นป่วนไปทั้งวงการ

Advertisement

ประชาธิปไตยเป็นเสรีภาพของการเลือก จะเลือกผิดเลือกถูก ต้องเรียนรู้แก้ไขกันไปเอง ไม่ใช่ให้คนที่คิดว่าดีเลิศประเสริฐศรีและสุดยอดฉลาดเฉลียวมาเลือกให้แทน จนสุดท้ายไม่เหลืออะไรให้เลือก

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนในวงการจำนวนหนึ่งที่ยังพยายามปลอบใจตัวเองว่าไม่ได้มาผิดทาง จึงมีความรู้สึกสะใจยกใหญ่ที่เห็น โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะได้ยกตัวอย่างว่านี่ไงล่ะ ประชาธิปไตยฝรั่งย่ำแย่ขนาดไหนที่เลือกคนแบบนี้มาเป็นผู้นำได้

หรือเมื่อ ปาร์ค กึน เฮ ประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้ ถูกมวลชนเรือนล้านชุมนุมขับไล่ ก็บอกว่านี่ไงคนที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อปัญหาให้เกิดเรื่องอื้อฉาวคอร์รัปชั่น

Advertisement

เช่นเดียวกับ เดวิด คาเมรอน แห่งสหราชอาณาจักร และ มัตเตโอ เรนซี ของอิตาลี ที่ถูกสมน้ำหน้าว่าต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะต่างพ่ายแพ้ในการลงประชามติที่ถูกกระแสอนุรักษนิยมคว่ำไม่เป็นท่า

แต่หากมองด้วยใจที่เปิดกว้างแล้วจะเห็นว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ นี้ยังไม่ได้หลุดออกจากระบบ

ชาวอเมริกันที่ออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งในช่วงแรกต้องการจะบอกว่า ยังมีเสียงอีกฝ่ายที่สนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนทุกเชื้อชาติ ฐานะ ศาสนา

ชาวเกาหลีใต้นับล้านออกมาชุมนุมไล่ผู้นำหญิงเพราะเชื่อว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งต้องฟังเสียงประชาชน ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้กองทัพยึดอำนาจ แต่กดดันให้ฝ่ายค้านเคลื่อนไหวไปตามกระบวนการของรัฐสภา

ส่วนชาวยุโรป การที่ฝ่ายนิยมขวาเฟื่องฟูขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์และทรัพยากรในดินแดนก็เป็นไปตามสถานการณ์ ไม่ได้หมายความว่าชาวยุโรปจะสร้างฮิตเลอร์หรือมุสโสลินีขึ้นมาได้อีก

เมื่อสัปดาห์ก่อนยังมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงที่ทวีปแอฟริกา เมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศแกมเบียออกมาช็อกว่า ผู้ท้าชิงเป็นฝ่ายชนะ แทนที่จะเป็นผู้นำประเทศที่ก่อรัฐประหารและปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมา 22 ปี

ผลดังกล่าวนี้สร้างความประหลาดใจให้ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ พร้อมสร้างกำลังใจให้ประชาชนจำนวนมาก ว่าแม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่สูตรสำเร็จของทุกอย่าง แต่เป็นเสียงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

หนังสือพิมพ์เองมีหน้าที่สะท้อนเรื่องเหล่านี้ด้วยความเชื่อมั่นในเสียงของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image