คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : (A.)I Think so!

 ในปี พ..2511 “.อินทรปาลิตเขียนนิยายสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ตอนสมองกลขึ้น ในช่วงเวลาที่จักรกลประมวลผลข้อมูลกำลังเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลก และเชื่อว่ามันกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนสังคมมนุษย์เข้าสู่ยุคใหม่ เรียกว่ายุคคอมพิวเตอร์ 

ย่อหน้าแรกของ พล นิกร กิมหงวน ตอนสมองกลขึ้นต้นว่าสมองกลที่ฝรั่งคิดขึ้นได้นั้น หมายถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ที่คิดคำนวณได้อย่างรวดเร็วฉับพลันและถูกต้องโดยไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน 

สมองกลจะเก็บรักษาสถิติต่างๆ ของตัวเองที่คำนวณไว้ได้ด้วย ฝรั่งนักประดิษฐ์สมองกลไม่ยอมขายเครื่องคำนวณให้แก่ใครแต่ให้เช่าเป็นรายปี และส่งนายช่างของเขาเข้ามาควบคุมเครื่องมือนี้ อย่างที่กรมสรรพากรของเราดำริจะเช่าสมองกลดังกล่าวเพื่อใช้ในการเก็บภาษีอากรของรัฐ แต่สมองกลที่ศาสตราจารย์ดิเรกและลูกชายของเขาด้วยการสร้างขึ้นด้วยความรู้ความสามารถอันยอดเยี่ยมของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่สองพ่อลูกนั้น คือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มหัศจรรย์ มีสมรรถภาพอย่างไม่น่าเชื่อ หรือไม่น่าจะเป็นไปได้ มันคือสมองกลจริงๆ รอบรู้สารพัดสามารถตอบคำถามยากง่ายได้ทุกคำถาม ทุกสาขาวิชา พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

ในยุคที่ ป.อินทรปาลิตเขียนเรื่องสามเกลอตอนดังกล่าวนั้น คอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องประมวลผลที่ทำงานไปตามโปรแกรมและบันทึกข้อมูลไว้ได้ แม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นเต้นมากในตอนนั้น แต่ความเป็นสมองกลของมันคือการทำตามขั้นตอนที่ผู้ใช้งานกำหนดไว้ล่วงหน้า การจะให้เป็นสมองกลแบบของ ดร.ดิเรก ที่เป็นเครื่องมือในการคิดและแก้ปัญหาแบบอเนกประสงค์สั่งให้ทำอะไรก็ทำได้นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อหรือไม่น่าจะเป็นไปได้ 

Advertisement

หากในปัจจุบันเราก็ได้เห็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับสมองกลของ ดร.ดิเรกแล้ว ในชื่อของปัญญาประดิษฐ์ Chat GPT ซึ่งเพิ่งประกาศ version 4 ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 

ในปี 2019 หรือ พ..2562 นวนิยายไลต์โนเวล เรื่องวรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้น ไม่รู้เหรอของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลซีไรต์ หรือในเรื่องนั้นเธอใช้นามปากกาว่า ร.เรือในมหาสมุท ได้จินตนาการถึงโลกที่สังคมการอ่านการเขียน นักเขียนมนุษย์นั้นไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปแล้ว ในโลกยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอ่านเล่นเริงรมย์ หรือแม้แต่งานวรรณกรรมที่สื่อถึงความลึกซึ้งซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ ก็ล้วนแต่เขียนขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ 

ดูจากช่วงเวลาแล้วเชื่อว่าผู้เขียนน่าจะเขียนเรื่องนี้จากกระแสในช่วงประมาณปี 2015 (..2558) ที่เกิดความตื่นเต้นเมื่อปัญญาประดิษฐ์ Alpha GO จากโครงการ Deep mind ของ Google สามารถเอาชนะ ลีเซโดล (Lee Sedol) ซึ่งเป็นนักเล่นหมากล้อมมือหนึ่งของโลกในขณะนั้นได้ อันเป็นการทำลายแนวต้านสุดท้ายของมนุษยชาติที่เชื่อว่าถึงอย่างไรคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีวันเอาชนะมนุษย์ในเกมกระดานที่เก่าแก่และซับซ้อนที่สุดในโลกนี้ได้

Advertisement

ถึงกระนั้น AlphaGo ก็ยังไม่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม เพราะถ้าเราจำแนกปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) ตามระดับความสามารถ อาจแบ่งได้สามระดับ ในระดับแรก คือ ปัญญาประดิษฐ์เชิงแคบ (Narrow AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์แบบอ่อน (Weak AI) คือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถเฉพาะทางได้ดีกว่ามนุษย์ แต่ก็จะเก่งเฉพาะในเรื่องนั้นเพียงเท่านั้น เช่น การเล่นหมากล้อม การให้วิเคราะห์ฟิล์มเอกซเรย์ หรือวางแผนการจราจร A.I. ระดับนี้จะทำหน้าที่นี้ได้ดี แต่จะทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เช่นที่ AlphaGo แม้ว่าจะเป็น A.I. ที่ฉลาดถึงขนาดล้มนักเล่นหมากล้อมที่เก่งที่สุดในโลกได้ แต่มันก็ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ในขณะที่ A.I. อีกระดับ คือ ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (General A.I.) คือปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทำงานอะไรก็ได้ที่มนุษย์ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม แต่งนิยาย วางแผนการเดินทาง A.I. พวกนี้ ทำงานได้ราวกับเป็นมนุษย์ที่เฉลียวฉลาดและรอบรู้ที่สุดในโลก หรือนี่แหละคือสมองกลของดอกเตอร์ดิเรก ในจินตนาการของ ป.อินทรปาลิต 

ปัญญาประดิษฐ์ Chat GPT เปิดตัวต่อผู้ใช้งานทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อาจถือว่าเป็นครั้งแรกที่สังคมมนุษย์เราได้สัมผัสและใช้งานปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (General A.I.)

นอกจากนี้ ยังมีปัญญาประดิษฐ์ระดับที่สาม ซึ่งปัจจุบันอาจจะยังไม่ปรากฏตัว คือ ปัญญาประดิษฐ์แบบเข้ม หรือปัญญาประดิษฐ์ทรงพลัง (Strong A.I.) ที่มีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ขึ้นไปจนเกินจินตนาการ

การมาถึงของ Chat GPT ทำให้เราได้รู้สึกเป็นครั้งแรกว่าปัญญาประดิษฐ์กำลังจะเป็นภัยคุกคามต่อสังคมมนุษยชาติได้จริง เพราะเพียงเวลาไม่กี่เดือน การใช้งาน Chat GPT ส่งผลกระทบไปแทบทุกวงการ เช่น มีการนำมาทดลองใช้ในการตอบข้อสอบระดับมหาวิทยาลัย ก็พบว่ามันสามารถทำข้อสอบได้ในระดับที่ดีมาก กระทั่งมีนักศึกษาใช้มันเป็นทางลัดในการเขียนงานส่งอาจารย์หรือทำสอบจริงๆ จนในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะต้องหาระบบหรือวิธีการในการตรวจสอบว่า คำตอบที่นักศึกษาส่งมา เป็นคำตอบจากมนุษย์หรือจากปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ ก็มีการให้ Chat GPT ลองแต่งเรื่องสั้น ก็พบว่ามันสามารถแต่งเรื่องออกมาได้ดีและสนุกสนาน มีการทดลองให้ A.I. เขียนบทความ เขียนบทถ่ายทอดเสียง Podcast และส่งให้ปัญญาประดิษฐ์สังเคราะห์เสียง สร้างเป็นรายการ Podcast ที่มนุษย์แทบไม่มีส่วนร่วมใดๆ ก็ได้ หรือให้มันแต่งเรื่องแล้วให้ A.I. วาดภาพ สร้างการ์ตูนจากเรื่องที่มันแต่งก็ได้

ในแวดวงกฎหมายก็ได้ทราบว่าบริษัทประกันภัยและสำนักงานทนายความบางแห่งในต่างประเทศก็มีการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยประเมินค่าเสียหายในกรณีอุบัติเหตุทางรถยนต์ว่า รูปคดีเช่นนี้ศาลจะตัดสินให้ค่าสินไหมทดแทนเท่าไร ซึ่งถ้าประเมินออกมาแล้วคุ้มก็จะฟ้องศาลกันไป แต่ถ้าไม่คุ้มก็ควรจะยอมความกันตามที่ต่อรองกันได้จะดีกว่า ปรากฏว่าในระยะแรกๆ ก็มีกรณีที่ไม่เชื่อในการประเมินของ A.I. และนำคดีไปฟ้องศาล ก็พบว่าอัตราค่าสินไหมทดแทนที่ A.I. ประเมินมาให้นั้นเกือบจะตรงกับยอดที่ศาลกำหนดให้จริงๆ เสียจนกระทั่งในระยะหลังๆ ลูกความหรือผู้เกี่ยวข้องก็ยอมเชื่อการประเมินและคำแนะนำจาก A.I. ในเรื่องนี้โดยดุษฎี

ความก้าวหน้าที่ผ่านมาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการเข้าถึงได้ง่ายของ Chat GPT ทำให้เกิดความวิตกหวาดระแวงว่า การทำงานหลายงานในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้คนอีกต่อไป และจะส่งผลให้เกิดการว่างงานขนาดใหญ่ขึ้น

 แต่ความแตกตื่นหวั่นกลัวเรื่องที่ปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งงานมนุษย์ก็ต้องระวังว่าหลายเรื่องก็เป็นความตื่นตูม ประกอบการอวยหรือการปั่นจากสื่อจนเกินไป เช่นวันก่อนได้เห็นโพสต์ในสื่อไอทีเจ้านึง ว่าเดี๋ยวนี้ A.I. เก่งฉลาดสามารถร่างสัญญาทางกฎหมายได้ภายในหนึ่งนาที เป็นนัยว่าต่อไปทนายความอาจจะถูก A.I. แย่งอาชีพได้แล้ว แต่ถ้าให้ใครที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายไปอ่านสัญญานั้นจริง จะรู้ว่าแค่ดูคล้ายเอกสารสัญญาทางกฎหมาย แต่ไม่อาจเอาไปใช้งานจริง รับรองว่าจะเป็นสัญญาที่มีผลเป็นโมฆะเสียเปล่า หรือมีช่องว่างระดับที่ไปซื้อแบบพิมพ์สัญญามาตรฐานมาใช้เสียยังดีกว่า 

เช่นเดียวกับเรื่องสั้นที่แต่งโดย Chat GPT ที่แม้ว่ามันจะสามารถแต่งเรื่องราวออกมาได้อย่างสนุกสนานน่าทึ่ง แต่ถ้าวัดกันด้วยคุณภาพกันจริงๆ แล้ว ผลงานการเขียนของมันยังอยู่ในระดับประมาณคนเพิ่งหัดแต่เรื่องที่เรียนวิชาการเขียนเรื่องแต่งพื้นฐานมาบ้างเท่านั้น ไม่ได้สนุกสนาน หรือสะท้อนสังคมกินใจเกินระดับนักเขียนมนุษย์แต่อย่างใด รวมถึงก่อนหน้า Chat GPT ก็มี Midjourney เป็น A.I. ที่สร้างงานศิลปะได้และเป็นที่ฮือฮา แต่เอาเข้าจริงๆ รูปพวกนั้นแม้จะสวยงามแปลกตา แต่ก็เกิดการผสมผสานรูปภาพในคลังที่มันได้เรียนรู้แล้วสร้างให้เป็นภาพใหม่ออกมา ซึ่งภาพที่ได้ออกมาก็มีความประหลาด ผิดสัดผิดส่วนบางอย่างที่อาจจะเอาไว้ดูกันให้ตื่นเต้นก็พอได้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้งานเชิงคุณภาพอย่างจริงจังได้สักเท่าไร

แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วจนไม่อาจคาดการณ์อะไรล่วงหน้านานๆ ได้ แต่ก็เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์โดยสมบูรณ์นั้นอาจจะยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีกำแพงด้านภาษาและขอบเขตของจำนวนข้อมูล ที่ A.I. ซึ่งพัฒนาและฝึกหัดมาจากข้อมูลที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษนั้นอาจจะยังอาจจะไม่สามารถนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยได้เร็วนัก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าความสามารถของ A.I. ที่แปล ภาษาก็กำลังพัฒนาขึ้นไปอยู่เช่นกันซึ่งก็อาจจะทำให้ช่องว่างในเรื่องนี้ลดลงไปเรื่อยๆ ในสักวันหนึ่งก็ได้

สิ่งที่เป็นไปได้ใกล้เคียงที่สุดและกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ คือปัญญาประดิษฐ์จะมาช่วยลดข้อจำกัดให้คนที่ทำงานในระดับกลางค่อนสูง เช่น ช่วยในการแปลหรืออ่านเอกสารภาษาต่างประเทศในระดับที่อ่านได้เข้าใจและนำไปใช้ทำงานต่อได้ หรือสามารถช่วยถอดเทปคำสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียน ก็อาจจะสามารถเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ให้อยู่ในรูปแบบของบทความ หรือคอลัมน์ที่ให้มนุษย์ไปลงมือสุดท้ายในการเกลาให้งดงาม รวมถึงการช่วยแก้ไข ตกแต่งภาพถ่าย เช่น การลบรอยสิวฝ้า หรือแม้แต่ลบวัตถุที่ไม่ต้องการออกไปจากภาพ หรือการแยกวัตถุที่เป็นเเบบออกจากพื้นหลัง ที่เดิมเคยเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะระดับสูงให้ง่ายพอที่มือสมัครเล่นก็ทำได้ เช่น ประโยคโฆษณาของโปรแกรมแต่งภาพเจ้าตลาดประโยคที่ว่าใช้เวลาแก้ไขน้อยลง ใช้จินตนาการได้มากขึ้นหรืออย่างกรณีของ A.I. Midjourney ก็มีผู้ใช้มันสร้างงานศิลปะขึ้นให้แล้วนำไปต่อยอดจนประกวดได้รางวัลเป็นที่ถกเถียงกันในวงการมาแล้ว

ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้จึงอาจจะก่อปัญหาให้กับคนที่ทำงานซึ่งมีทักษะในระดับกลางๆ ซึ่งปกติเคยเป็นผู้ช่วยของคนที่ทำงานในกลุ่มทักษะกลางค่อนสูงหรือทักษะสูงได้ ซึ่งช่องว่างระหว่าง ผู้ที่ใช้ A.I. ให้ช่วยทำงานได้กับคนที่ทำเช่นนั้นไม่ได้ หรือคนที่ทำได้แค่ให้ A.I. ทำงานให้อย่างเดียวแต่ไม่อาจแยกแยะความถูกต้องของผลงาน หรือไม่สามารถปรับแต่งได้ อาจจะถ่างกว้างขึ้น ไปจนถึงในที่สุดอาจจะเหมือนในไลต์โนเวลของ ร.เรือในมหาสมุท ที่จินตนาการถึงโลกใน ค..2100 ไว้ว่า มนุษย์ในยุคสมัยนั้นมีบทบาทเป็นเพียงผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ให้ทำงานการประกอบอาชีพใดๆ ในโลกอนาคตที่ว่านั้นจึงหมายถึงการมีหุ่นสมองกลที่ช่วยทำงานชนิดนั้นอยู่ในครอบครอง เช่นนักบัญชีก็คือบุคคลที่มีคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการทำบัญชีแพทย์ก็คือผู้ที่ครอบครองคอมพิวเตอร์ที่สามารถผ่าตัดรักษาคนไข้ได้

ในโลกเช่นนั้น คนที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานคือคนที่สามารถพัฒนาระบบสมองกลให้ทำงานได้ดีที่สุด แต่สำหรับคนที่ไม่มีทักษะพอที่จะเป็นเจ้าของหรือสร้างคอมพิวเตอร์ A.I. ได้ รัฐบาลในยุคนั้นก็ต้องเลี้ยงดูในรูปของเงินช่วยเหลือเพื่อครองชีพ หรือจะเรียกว่าคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์คือผู้ที่ทำงานเลี้ยงมนุษย์กลุ่มนั้นก็ยังได้ 

นี่อาจจะเป็นโลกที่เราจะต้องเตรียมตัวไว้ว่าอาจจะเป็นไป หรือได้ใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต ที่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะมาถึงอีกเร็วช้าเพียงใด

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image