คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ความ(ไม่)รับผิดชอบทางการเมือง

สถานการณ์บ้านเมืองในทุกวันนี้เป็นอย่างที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ตอนหนึ่งว่า ในตอนนี้เราชาวไทยเหมือนอยู่กันในโลกที่มีความยากระดับ SS แบบในนิยายหรือเกมแนวแฟนตาซี โลกที่ผู้กล้าและเหล่ามนุษย์ได้พ่ายแพ้ต่อจอมมารและโลกถูกปกครองโดยปิศาจแล้ว

ที่ว่าเป็นโลกปีศาจ ก็เหมือนที่มิตรสหายท่านหนึ่งบอกว่า ทุกวันนี้เหมือนมีโจรมารออยู่แล้วในโทรศัพท์ที่อยู่ข้างตัวเรา ที่ถ้าพลาดเมื่อไรเงินเก็บเงินออมทั้งชีวิตอาจจะสูญไปหมดเพราะการเผลอกดรับ ข้อความเพียงครั้งเดียว เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวงต่างๆ อาละวาดอย่างหนัก จากที่เคยเป็นเรื่องตระหนก ก็กลายเป็นเรื่องตลกเฮฮาเอามาล้อเลียนกัน จนสุดท้ายกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อที่ไม่มีใครพูดหรือตื่นเต้นกันอีกต่อไป

ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยจำ
นวนมากได้ไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพเหล่านี้หรือไม่ เพราะมิตรสหายบางคนที่เคยโดนเล่าว่ามิจฉาชีพพวกนี้รู้แม้กระทั่งชื่อเล่นและหมายเลขโทรศัพท์ที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ นั่นแปลว่าข้อมูลที่ได้ไปต้องเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนและเป็นปัจจุบันที่สุดด้วย

หรือเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งเป็นวิกฤตทางสุขภาพร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีต่อประชาชนทั่วประเทศโดยเฉพาะในภาคเหนืออยู่ในขณะนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ กับความไม่ปลอดภัยในชีวิตอีกมากมาย ทั้งเสี่ยงจะต้องเสียชีวิตจากคนมีอาวุธสักคนที่คลุ้มคลั่ง หรือเจ็บป่วยเพราะมลภาวะที่เลวร้าย

Advertisement

ชีวิตทุกวันนี้จึงเหมือนตกอยู่ในโลกปีศาจที่กำลังกัดกินอนาคตของผู้คน เยาวชน ลูกหลาน และประเทศชาติ โดยที่ไม่มีใครพยายามรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ยกมาหลายเรื่องนั้น ถ้าจะไล่กันจริงๆ มันก็จะเกิดจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การไม่ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็มาจากความไม่รับผิดชอบของ “ฝ่ายประจำ” คือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในกำกับดูแลของฝ่ายการเมืองด้วย

ทั้งหมดนี้มีต้นเหตุมาจากการขาดความรับผิดชอบทางการเมืองในทุกระดับ

หลักการเรื่อง “ความรับผิดชอบทางการเมือง” (Political accountability) อยู่บนฐานคิดที่ว่า ในการปกครองประชาธิปไตยที่ถือว่าประชาชนทั้งหลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ซึ่งในทางความเป็นไปได้จริงจะต้องเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนนั้น จะถือว่าเมื่อประชาชน ได้เลือก “ผู้แทน” ของตนแล้ว ผู้แทนในแต่ละระดับจะได้รับอำนาจและความชอบธรรมไปจากผู้ที่เลือกหรือแต่งตั้งตนและต้องรับผิดชอบต่อกันไปเป็นทอดตามลำดับชั้น

Advertisement

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภา เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนคือ ส.ส.แล้ว ส.ส.นั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และเมื่อ ส.ส.นั้นเข้าสภาไปเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนั้น “คณะรัฐมนตรี” หรือรัฐบาลในฐานะของสถาบันการเมือง ก็ต้องรับผิดชอบต่อ ส.ส.ที่ให้ความเห็นชอบ และ ส.ส.ก็จะควบคุมกำกับดูแลรัฐบาลผ่านกลไกของรัฐสภา แล้วจากนั้น รัฐบาลก็จะเป็นหัวหน้าของฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำจึงต้องรับผิดชอบต่อรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หน่วยงานของตนและรัฐบาล ในความหมายของฝ่ายการเมืองด้วย

อย่างที่เราจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศนั้น เมื่อเกิดเรื่องราวอะไรที่เป็นความเสียหายต่อประชาชน หรือมีเรื่องอื้อฉาว ฝ่ายการเมืองของเขาจะแสดงความรับผิดชอบทันที ทั้งที่ว่าไปหลายเรื่องก็อาจจะเป็นความบกพร่องหรือทุจริตของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่ใช่ความผิดของฝ่ายการเมืองโดยตรงก็ตาม แต่มันก็เป็นไปตามหลักความรับผิดชอบในทางการเมืองนั้นเองว่า ในเมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และฝ่ายประจำที่ต้องรับผิดชอบต่อเขานั้น ปฏิบัติงานหรือทำหน้าที่บกพร่องเป็นต้นเหตุแห่งความเสียหาย พวกเขาในฐานะที่ต้องกำกับดูแลก็จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน

เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยที่หลุดเป็นจำนวนกว่า 55 ล้านรายการนั้นเป็นเรื่องล่าสุดที่แสดงถึงความไม่รับผิดชอบของฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ไม่ว่าการได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวจะโดยการถูกแฮก เกิดจากความหละหลวมในการวางระบบเก็บรักษา หรือโดยมีผู้ทุจริตนำไปขายต่อก็ตาม แต่หน่วยงานที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ทำข้อมูลหลุดไปได้นั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ทางฝ่ายรัฐมนตรีกระทรวงที่ควรต้องรับผิดชอบด้านข้อมูลสารสนเทศดิจิทัล ทำได้เพียงออกมาแถลงข่าวว่า ได้ประสานงานเพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์ของแฮกเกอร์กลุ่มดังกล่าวแล้ว พร้อมออกมาข่มขู่ว่า การเปิดเผยข้อมูลตามที่ขู่นั้น เป็นความผิดตามกฎหมายไทยฉบับใดมาตราใดบ้างอย่างนั้นอย่างนี้

คำถามคือต่อให้ปิดเว็บได้ (ซึ่งจริงๆ ก็ทำได้แค่ปิดกั้นการเข้าถึงจากประเทศไทย) มันช่วยให้ได้ข้อมูลกลับคืนมาหรือช่วยเป็นการสกัดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกลักลอบนำไปดังกล่าวได้อย่างไร และการขู่ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายไทยนั้น ผู้พูดและหน่วยงานในกำกับมีศักยภาพที่จะทำได้หรือ เพราะเอาเพียงแค่ว่าไปสั่งให้ผู้บริการนอกประเทศปิดเว็บ ก็ยังทำได้เพียงการขอความร่วมมือ (และเพียงเท่านั้นเขาก็ไม่ให้ความร่วมมือด้วย) เอาเรื่องง่ายๆ แค่นี้ก่อน อย่าเพิ่งไปขู่ว่าจะดำเนินคดีอะไรให้ขึงขังให้เป็นตัวตลกไปเปล่าๆ

เช่นเดียวกับคำตอบของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อถูกตั้งคำถามเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต แต่เขากลับไล่ให้ผู้สื่อข่าวสนใจการพัฒนากองทัพด้วย ก็บ่งบอกได้เลยว่าเขาไม่คิดว่าจะต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อประชาชน และปัญหาทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นความทุกข์ร้อนของประชาชน ในสายตาของเขาเป็นแค่ “ประเด็นทางการเมือง” ที่มาโจมตีหรือก่อให้เกิดความเสียเปรียบทางการเมืองของเขาก็เท่านั้น

ทำให้คิดว่าการที่ประยุทธ์ไม่ลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่ให้ราคากับการที่จะต้องมาเป็น “ผู้แทนราษฎร” ซึ่งมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน เขาเพียงอยากลอยตัวอยู่เหนือประชาชน และถ้าจะรับผิดชอบก็จะมีให้เฉพาะต่อผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งตนในทางความเป็นจริงเท่านั้น ถ้าเป็นในรัฐสภาก็ได้แก่ กลุ่ม ส.ส.ที่อยู่ในอาณัติ และ ส.ว. ที่ตนเองนั้นได้ตั้งมากับมือในสมัยที่มีอำนาจเต็มในฐานะหัวหน้า คสช.

ความไม่รับผิดชอบต่อประชาชนนี้ยังลามจากฝ่ายรัฐไปถึงเอกชนที่ได้รับสัมปทานทำงานการต่างๆ ซึ่งควรถูกกำกับดูแลโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

ตัวอย่างเรื่องที่ใกล้ตัวที่หลายท่านที่จะต้องผ่านเส้นทางที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า คงมีประสบการณ์ได้พบชะตากรรมจากการปิดช่องทางจราจรแบบที่ไม่สนใจความเดือดร้อนใดๆ ของประชาชนทั้งสิ้นของผู้รับเหมาก่อสร้าง อย่างที่นึกจะลากแบริเออร์มาปิดถนนสายหลักในเวลาเร่งด่วนเช้าวันจันทร์ จนทำให้รถติดยาวเป็นสิบกิโล ผู้คนเสียเวลาบนท้องถนนกันเป็นสองสามชั่วโมงก็เคยมีมาแล้ว และกว่าที่จะตามหาว่าหน่วยงานใด จะรับผิดชอบสั่งการให้แก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้นได้ก็ใช้เวลาเกือบครึ่งวัน

ความรู้สึกปลอดจากความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ แต่บกพร่องต่อหน้าที่โดยไม่มีความไม่เกรงใจประชาชนในทุกระดับเช่นนี้ เกิดจากการที่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจเผด็จการที่ไม่มีความยึดโยงใดๆ กับประชาชนได้ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ทั้งในช่วงที่มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จและในช่วงที่สืบทอดอำนาจโดยกติกาทางการเมืองที่ออกแบบมาเพื่อตัวเอง การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายประจำอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงอันใดต่อประชาชนเป็นระยะเวลายาวนานเช่นนี้ ก็ไม่แปลกอะไรที่พวกเขาก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนไปด้วย เพียงแค่รับผิดชอบต่อผู้ที่แต่งตั้งหรือให้คุณให้โทษของตนก็เพียงพอแล้ว

ก่อนหน้านี้เคยมีวาทกรรมในหมู่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมัยหนึ่งว่า “ข้าราชการ” หรือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่ดีจะต้องไม่เกรงกลัวหรือไม่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในบังคับกำกับของฝ่ายการเมืองหรือนักการเมือง เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช่คนของนักการเมือง แต่เป็นคนของประชาชน ที่ถ้าจะรับผิดชอบหรือปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ก็ต้องเป็นไปเพื่อประชาชนเป็นหลัก ซึ่งฟังดูโอ่อ่าน่าศรัทธา และเป็นคำพูดที่ “เหมือนจะถูก” แต่แท้จริงแล้วมันผิดไปจากหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง และที่สำคัญคือมันเป็นวาทกรรม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดทอน “ฝ่ายการเมือง” ที่มีที่มาจากกระบวนการการเมืองผ่านการเลือกตั้งและการได้รับความเห็นชอบในระบอบประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยก็มาจากกลไกที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน

ถ้ามาลองไล่ตรรกะดูแล้ว ก็ในเมื่อฝ่ายการเมืองนั้นได้รับความเห็นชอบ และต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในวิถีทางของระบอบรัฐสภาแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายจะต้องอยู่ภายใต้หรืออยู่ในกำกับดูแลของฝ่ายการเมือง มันจะไม่เท่ากับเป็นการต้องรับผิดชอบต่อประชาชนหรือ

น่าสังเกตว่าวาทกรรมเช่นนี้มักจะถูกนำมาใช้ในช่วงที่รัฐบาลซึ่งบริหารประเทศอยู่นั้น เป็นฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นมาจากประชาชนทั้งประเทศ แล้วในที่สุดก็ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อ้างอะไรอย่างนั้นจะมารับผิดชอบต่อประชาชนหรือทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมตรงไหน เพียงแค่เลือกว่าจะทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจฝั่งใดฝ่ายใดมากกว่า

เรื่องนี้มันย้อนกลับไปสู่ปัญหาเบื้องต้นสุดที่ว่าอำนาจที่แท้จริงในประเทศนี้เป็นของใคร หากการเมืองดี กระบวนการเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ถูกต้อง เราจะได้เห็นความรับผิดชอบจากทุกฝ่ายทุกส่วนตามที่ควรจะเป็น หรือแม้พวกเขาจะไม่รับผิดชอบ ก็มีทั้งกระบวนการการเมืองและกระบวนการทางกฎหมายที่จะเรียกร้องทวงถามความรับผิดชอบหรือเอาผิดได้

ถ้ากลไกมันเป็นไปตามระบบที่ควรจะเป็น มีความรับผิดชอบทางการเมืองกันตามลำดับเป็นทอดแล้ว ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่าง “เกรงใจ” ประชาชนมากกว่านี้ เพราะหาไม่แล้วพวกเขาก็อาจจะต้องได้รับโทษหรือผลเสียบางอย่างจากฝ่ายการเมืองที่กำกับดูแล และฝ่ายการเมืองดังกล่าวนั้นก็ต้องเกรงใจและรับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกพวกเขามาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไม่พอใจ พวกเขาก็อยู่ในอำนาจต่อไปได้ยาก

การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ หากสามารถล้างบางกลุ่มผู้มีอำนาจที่ครองอำนาจไว้อย่างยาวนานได้แล้ว พวกฝ่ายประจำที่เคยชินกับการใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่แบบที่ไม่รับผิดชอบต่อประชาชนก็อาจจะเดือดร้อนหรืออย่างน้อยก็ต้องปรับตัว ดังนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเป็นสนามที่ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายการเมืองบางกลุ่มเท่านั้นที่จะแพ้ไม่ได้ แต่ยังหมายถึงองคาพยพอื่นที่เกี่ยวข้องและเคยชินกับการหาประโยชน์หรือ “อยู่เป็น” แล้ว ภายใต้อำนาจเช่นนั้นด้วย

การเลือกตั้งกลางเดือนหน้านี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่จะชี้ชะตาประเทศว่าเราจะสามารถสร้างการเมืองที่มีความรับผิดชอบเพื่อนำพาประเทศให้พ้นจากสภาพของ “โลกปีศาจที่มีความยากระดับ SS” ได้หรือไม่

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image