เจตนารมณ์สองขั้ว

เจตนารมณ์สองขั้ว

การเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ ผลจะปรากฏออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

จะเป็นพิสูจน์ถึงการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง ของผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงทุกคนอีกครั้งหนึ่ง

ว่าระหว่างเลือกฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายอำนาจนิยม เลือกคนดีกับคนไม่ดี เลือกเพราะกระสุนหรือกระแส เลือกคนกับเลือกนโยบาย ฝ่ายไหนจะชนะ เป็นสิ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ ต้องการให้คณะบุคคลใดมาบริหารประเทศ นำพาชาติและชีวิตของพวกเขา

Advertisement

แต่ความเป็นจริงการเลือกตั้งยังเป็นไปภายใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 วุฒิสมาชิกมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา ทำให้เจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่จากผลการเลือกตั้ง ยังต้องเผชิญกับเจตนารมณ์ส่วนบุคคล 250 คน

วุฒิสมาชิกต่างอ้างว่าเป็นเจตนารมณ์หรือเจตจำนงของประชาชนด้วยเช่นกัน ที่แสดงผ่านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญกว่า 15 ล้านเสียง เป็นความชอบธรรมของตนในการร่วมโหวตให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หากไม่ปฏิบัติ อาจเข้าข่ายละเว้นไม่ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ

Advertisement

อ้างถึงทั้งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ออกเสียงประชามติ ทั้งหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ของการปะทะกันระหว่างเจตนารมณ์สองขั้ว ขั้วหนึ่งสะท้อนจากเสียงส่วนใหญ่ของผลการเลือกตั้ง โดยมีผู้สิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านเสียง กับอีกขั้วหนึ่งเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 7 ปีก่อน ผู้เห็นชอบ 15.13 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10.9 ล้านเสียง ผู้ใช้สิทธิลงประชามติ 29.7 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิ 50.07 ล้านเสียง คิดเป็น 59.4%

จากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น 2 ล้านเสียง จะส่งผลถึงผลการเลือกตั้งแค่ไหน จึงต้องรอดู

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมณ์ของผู้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาถึงวันนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้

การเรียกร้อง วิงวอนให้วุฒิสมาชิก ยอมรับเจตนารมณ์ของประชาชน เสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ร่วมโหวตหรือโหวตเห็นชอบแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด จึงเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ

เมื่อวุฒิสมาชิกต่างอ้างถึงเจตนารมณ์ของประชาชนจากการลงประชาติรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น จะโหวตให้ความเห็นชอบใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ ตามที่เห็นว่าเหมาะสมตามเจตนารมณ์ของตน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป แทนที่จะเป็นการยอมรับผลการเลือกตั้งหรือผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่เห็นควรโหวตให้กับแคนดิเดตจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดตามลำดับ กลับกลายเป็นโหวตให้กับบุคคลหรือพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงในรัฐสภาได้มากที่สุด เกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง

ใครรวบรวมเสียง ส.ส. ส.ว. ได้มากกว่าเป็นฝ่ายชนะ ไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง พรรคไหนได้คะแนนสูงสุด จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ครับ นี่คือความเป็นจริงทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง จึงตัดสินชี้ขาดที่การเจรจาต่อรอง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี ตามเกรดกระทรวงใหญ่ กลาง เล็ก งบประมาณมากน้อยตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้เองจังหวะก้าวของพรรคการเมืองที่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ก็คือ คว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครองให้ได้ก่อน

ด้วยการครองเสียงข้างมากในที่ประชุมรัฐสภาให้ได้ จากนั้นใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี ดูด ดึง พรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ยกเว้นแต่ว่า เจตนารมณ์ของประชาชนจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเอาชนะเจตนารมณ์ของผู้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญได้ ด้วยการลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองที่สามารถครองเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 375 เสียง จนเอาชนะเสียง ส.ว. ปิดสวิตช์ได้สำเร็จ

พรรคการเมืองไหนยังต้องพึ่ง ส.ว. พรรคไหนไม่หวังพึ่ง ส.ว. จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

ไม่ว่าสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปก็ตาม สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อ จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 ปี ถึง พ.ศ.2568 ครบ 8 ปีตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี

เจตนารมณ์ของการจำกัดวาระนายกรัฐมนตรี ที่มีการโยนหินถามทางมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาให้ทบทวนใหม่กันอีกหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป เมื่อวันนั้นมาถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image